xs
xsm
sm
md
lg

แนวทางดับไฟใต้..ที่หลงทาง บทเรียนส่งผ่านสู่ ‘รัฐบาลปู’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

สถานการณ์ความรุนแรงของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถี่ยิบในขณะนี้ เป็นการตอบโจทย์ความเป็นจริงถึงนโยบายที่ผ่านมาของ “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” ที่มีต่อชายแดนใต้ และยุทธการของ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า -กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ว่ายังใช้ไม่ได้ผลกับการยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนการให้ยาที่ไม่ตรงกับโรค ดังนั้น โรคนอกจากไม่ทุเลาแล้ว ยังกำเริบและลุกลามมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบและเป็นจำเลยของสังคมอย่างแท้จริง ย่อมต้องเป็น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมี “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้สวมหมวก ผอ.กอ.รมน.ภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วย เพราะยุทธวิธีในการรักษาความสงบ ณ วันนี้ยังคงล้มเหลว ไม่ต่างอะไรกับภาพชัดที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา

เนื่องเพราะทุกพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ที่ “อาร์เคเค” อันเป็นกองกำลังติดอาวุธและก่อวินาศกรรมของ “ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี -บีอาร์เอ็น” ยังสามารถกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายการก่อการร้ายได้ หากต้องการทำ และหลายพื้นที่ที่ปลอดจากการก่อการร้าย ไม่ได้หมายความว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรืออยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ เพียงแต่มีปัจจัยอื่นที่อาร์เคเคเว้นไว้เท่านั้น

ใน 2 เดือนที่ผ่านมาหลายพื้นที่ที่ไม่มีเหตุร้าย เช่น อ.กาบัง อ.ธารโต ใน จ.ยะลา และ อ.สุไหงปาดี อ.เจาะไอร้อง ใน จ.นราธิวาส กลับมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการยกเลิกการใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ตามความเห็นของ “รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่เพิ่งพ้นไปหมาดๆ เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นที่ปลอดจากการก่อการร้าย แต่วันนี้ อ.แม่ลานก็มีเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเกิดขึ้น

แสดงให้เห็นว่าโดยข้อเท็จจริง อ.แม่ลาน ยังเป็นพื้นที่ที่กลุ่ม อาร์เคเคยังสามารถเคลื่อนไหวในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบให้เกิดขึ้นได้ ถ้าต้องการให้เกิด

การสร้างสถานการณ์ด้วยการ “ฆ่าครู” ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุด ครูโรงเรียนบ้านตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี คือเหยื่อคนที่ 144 ไม่มีประเทศไหนที่เกิดความขัดแย้งแล้วมีครูตกเป็นเหยื่อมากเท่าชายแดนใต้ของไทย ไม่ว่าเป็นบนเกาะมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ จังหวัดอาเจะห์ และติมอร์เลสเต ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต่างก็มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนไม่ต่างกัน แต่ที่ประเทศเหล่านั้นครูไม่ถูกสังเวยชีวิตเหมือนอย่างกับครูในชายแดนใต้ของไทย

อันเป็นการชี้ชัดว่า 7 ปีผ่านไปการแก้ปัญหาเพื่อ ป้องกันชีวิตครูยังล้มเหลวเช่นเดิม

อีกหนึ่งประเด็นคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนถึงเดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม หรือเดือนรอมฎอน และระหว่างอยู่ในเดือนรอมฎอนเวลานี้ ก็มีเหตุร้ายความรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งมีคำตอบจาก “กองข่าว” กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า เป็นการปลุกระดมของอุสตาส หรือครูสอนศาสนาที่เป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น กล่อมแนวร่วมให้เชื่อว่า การก่อเหตุร้ายหรือฆ่าคนในเดือนรอมฎอน ผู้ปฏิบัติการจะได้บุญมากกว่าวันเวลาปกติถึง 10 เท่า

ซึ่งคำตอบอย่างนี้ถือเป็น “คำตอบของทุกๆ ปี” ในห้วงเวลาของการถือศีลอด

แสดงให้เห็นว่าในห้วงเวลา 7 ปีที่ผ่านไปนับแต่ไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุตั้งแต่ต้นปี 2547 หลายหน่วยงานไม่ว่าเป็น ศอ.บต. สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานอิสลามประจำจังหวัด และ กอ.รมน. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาไปในทางที่ผิด ยังไม่มีผลใดๆ ต่อการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาดังกล่าว อันเป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ

และสุดท้ายเงื่อนไขหนึ่งในหลายๆ เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงคือ “การอุ้มฆ่า” ซึ่งหายไปจากชายแดนใต้มากว่า 2 ปีแล้วนั้น เวลานี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นกับราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา จำนวน 2 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการนำกฎหมายเถื่อนมาใช้เพื่อการจัดการกับแนวร่วมบีอาร์เอ็น อีกครั้งหนึ่งแล้ว

อันเท่ากับว่าเงื่อนไขการสร้างปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้กำลังเข้าสู่ “กับดัก” ของบีอาร์เอ็น อีกครั้งหนึ่ง และจะเป็นปุ๋ยชั้นดีที่จะเพิ่มความเจริญงอกงามของ “สงครามประชาชน” ให้เบ่งบานมากขึ้น

มีสิ่งที่น่าสังเกตที่บอกเหตุถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในชายแดนใต้คือ การสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อหน่วยงานของรัฐทั้งหมดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากหน่วยงาน 29 หน่วย พบว่า ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจอยู่อันดับที่ 28 และทหารอยู่อันดับที่ 29 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย

คำตอบที่ได้ดังกล่าวก็คือ การตอกย้ำถึงความล้มเหลวของสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาเก่าๆ ที่ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม เช่น การอพยพของคนไทยพุทธออกนอกพื้นที่จากกว่า 200,000 คนเมื่อช่วง 7 ปีก่อน ขณะนี้เหลือเพียงกว่า 60,000 คน และการตายรายวันของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ ซึ่งบางช่วงพุ่งสูงถึง 5 คนต่อวันก็มี เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สรุปได้ว่า วันนี้ปัญหาการก่อความไม่สงบเพื่อการแบ่งแยกดินแดนที่มี “ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต” เป็นหัวขบวน และมีกลุ่มค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อน รวมถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลในธุรกิจนอกกฎหมายกลุ่มอื่นๆ เป็นกระเป๋าเงินให้ยังดำรงต่อไป

โดยที่นโยบายต่างๆ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และของ ศอ.บต.และหน่วยงานอื่นๆ ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้กงล้อแห่งความโหดร้ายของบีอาร์เอ็น หยุดการขับเคลื่อนแต่อย่างใด

วันนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่คือ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และก็มี “คณะรัฐมนตรีปูแดง” ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ “ไฟใต้” คือวิกฤตปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากรณีพิพาทเขาพระวิหาร หรือการขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมต่างๆ นานาที่รับปากกับประชาชนไว้

ทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ย่อมมีความคาดหวังที่จะเห็นนโยบายในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น แม้ว่าในที่สุดคนในพื้นที่มักจะพบกับความผิดหวังก็ตาม

 ดังนั้น จึงหวังให้รัฐบาลใหม่ได้นำเอาประเด็นความล้มเหลวต่อการดับไฟใต้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปสรุปเป็น “บทเรียน” และมีนโยบายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะจากเหตุการณ์และสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสรุปได้ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...รัฐบาลไทยชุดไหนๆ ไม่เคยเดินถูกทางมาก่อนเลย !!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น