xs
xsm
sm
md
lg

ปูรออวยพรวันเกิด“ป๋าเปรม” ปัดตั้งองครักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ปู” รอ "ป๋าเปรม” เปิดโอกาสเข้าอวยพร โยน 5 รองนายกฯ แถลงนโยบายแต่ละด้าน อ้างให้ชี้แจงเองจะตรงกว่า ด้าน “เพื่อไทย” การันตีไม่จำเป็นต้องมี “องครักษ์” ปชป.ยันวันจริงจัดเต็ม “กรณ์” นำทีมถามนโยบายเศรษฐกิจ ”เทือก” จัดหนักความมั่นคง ลั่นต้องเล่น "แม้ว” โพลชี้ประชาชนอยากรู้นโยบายปราบยาเสพติด

เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวันเกิดของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ว่า ถ้าท่าน (พล.อ.เปรม) เปิดโอกาสให้เข้าอวยพรวันเกิด ดิฉันก็อยากจะไป ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ชดเชย 2 นปช.ที่ถูกยิงจนพิการ ตรงนี้ตนยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ว่าเป็นใครอย่างไร ขอตรวจสอบก่อน ส่วนกรณี 169 ศพ ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอผลการพิสูจน์ก่อน ยังไม่อยากสรุปอะไรในตอนนี้ อยากให้มีการชี้แจงจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบเข้ามา

**“ปู” แบ่งรองนายกฯแต่ละด้านแถลง

ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปค์ บุตรชาย เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมเตรียมการซักซ้อมขั้นตอนในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 - 24 ส.ค.นี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะมีการแบ่งให้กับรองนายกรัฐมนตรีได้แถลงตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยจะดูในภาพรวมทั้งหมด เพราะถ้าหากให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงเองการชี้แจงก็จะตรงกว่า สำหรับตนจะมีการแถลงนโยบายด้วยเช่นกัน มาถึงวันนี้ก็มีความพร้อมในระดับหนึ่ง สำหรับการประชุมวันนี้ก็จะเป็นเพียงการซักซ้อม ส่วนรายละเอียดในส่วนของการทำงานด้วยภายหลังจากการแถลงนโยบาย คงไม่ได้เน้นเรื่องนโยบายที่จะแถลงเพียงอย่างเดียว หากผ่านสภาเรียบร้อยแล้วก็จะดูว่าจะเริ่มทำงานกันอย่างไรด้วย

ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการตั้งองครักษ์ 30 คน และคนที่จะชี้แจงนโยบาย 20 นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการตั้งองครักษ์ เพราะเรื่องของนโยบายเป็นเรื่องที่พรรคได้ให้ส.ส.ได้รับทราบนโยบายของพรรคอยู่แล้ว เพราะสุดท้ายส.ส.ต้องชี้แจงกับประชาชนเพื่อทำความเข้าใจในส่วนนั้น และหลายท่านที่มาอยากแสดงความคิดเห็นจะเป็นเรื่องของวิปรัฐบาลจะไปบริหารจัดการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหวั่นใจวิวาทะของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาฯหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)คงต้องทำหน้าที่ของเขา ในส่วนของเราในฐานะรัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจงประชาชน เมื่อถามว่าพรรคปชป.อาจจะหยิบยกเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาจะชี้แจงอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องดูหัวข้อ เพราะว่าวันนี้เป็นเรื่องของการแถลงนโยบาย อะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายก็ยินดีที่จะชี้แจง ส่วนที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องนั้น ในประเด็นเร่งด่วนเรามีนโยบายในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนอยู่แล้ว ซึ่ง 10 นโยบายนั้นเป้ฯนโยบายที่เร่งด่วน ส่วนใหญ่แล้วงานที่จะออกมาจะเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนอยู่แล้ว

**แบ่งงาน 5 รองนายกฯแจงนโยบาย

โดยนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย จะชี้แจงถึงนโยบายด้านสังคม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมและปัญหายาเสพติด ส่วน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงถึงนโยบายด้านความมั่นคง ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จะชี้แจงถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ และนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ท่องเที่ยวฯ จะชี้แจงถึงนโยบายของกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนาดูแลอยู่

**แจงนโยบายต่อส่วนราชการ 26 ส.ค.นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะชี้แจงนโยบายของรัฐบาลต่อหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงาน ในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ณ ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ ในช่วงแรก เวลา 09.00-10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงนโยบายรัฐบาลในภาพรวม และในช่วงเวลา 10.00-10.15 น. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะชี้แจงภาพรวมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

จากนั้น เวลา 10.15-12.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

**มาร์คสอนปูโชว์ภาวะผู้นำตอบเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หวังว่าการแถลงนโยบายจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับการอภิปรายพรรคได้กำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปรายแล้ว โดยแบ่งการอภิปรายออกเป็น ด้านเศรษฐกิจ มีนายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับผิดชอบ ด้านความมั่นคง มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตตรองนายกรัฐมนตรี ส่วนกระทรวงสำคัญๆ มอบหมายอดีตรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งตนจะเป็นผู้อภิปรายเปิดและสรุปการอภิปราย

กรณีที่ทางส.ส.พรรคเพื่อไทย จะตั้งคณะกรรมการพิทักษ์นายกรัฐมนตรี โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้นายกรัฐมนตรีตอบคำถามเองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากประเด็นใดนายกรัฐมนตรี ไม่ตอบเองก็เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี แต่เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีจะแสดงออกถึงภาวะผู้นำ และเป็นผู้ชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีพูดถึงนโยบายรัฐบาลไม่ตรงกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนโยบายในภาพรวมว่า เท่าที่เห็นร่างนโยบายรัฐบาล ยังมีความกังวลหลายเรื่องที่ใช้หาเสียง และนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท แทปเล็ตแจกเด็ก ป.1 ตลอดจนนโยบายด้านต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะด้านกฎหมาย

**ชินวรณ์ จัดเต็มนโยบายการศึกษา“ปู 1”

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงความพร้อมในการอภิปรายนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ว่า ตนเองจะทำหน้าที่อภิปรายนโยบายด้านนี้ร่วมกับ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน และ ดร.อภิชาติ สุประกอบ โดยจะพิจารณาตั้งแต่ความเหมาะสมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายต่างๆ ว่าเป็นเพียงแค่การหาเสียงหรือไม่

ทั้งนี้ นโยบายด้านการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป ไม่ใช่การกำหนดนโยบายออกมาเพื่อแก้บนเท่านั้น

กรณีการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษานั้น ควรเริ่มที่การพัฒนาจากตัวนักเรียนและครูก่อน เพราะการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจไม่จำเป็นเท่าการพัฒนาที่ตัวบุคคล และในท้ายที่สุดอาจเสียประโยชน์เปล่า

นโยบายด้านการศึกษาที่รัฐบาลต้องทำโดยเร่งด่วนหลังจากแถลงนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว คือเรื่องคุณภาพการศึกษา ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รวมถึงแก้ปัญหาคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของนักเรียน เช่น ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหายาเสพติด รวมถึงปัญหาการทะเลาะวิวาทด้วย

** ปชป.ย้ำ “ยังไงก็ต้องแตะแม้ว”

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรจะใช้เวทีในสภาอภิปรายเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายโดยเฉพาะกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะอภิปรายอยู่ในกรอบอยู่แล้ว แต่ความสามารถในการปฏิบัตินโยบายให้สำเร็จนั้นต้องดูว่าอยู่ที่ใดบ้าง ดังนั้นถ้าตัวบุคคลอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้นโยบายต่างๆ ที่จะนำเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ดีเท่าที่ควร ก็เป็นสิทธิ์ที่พวกเราจะอภิปรายถึง

หาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายก็ต้องพูดถึงแต่ทั้งนี้ยังไม่ได้ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวข้องเรื่องใดบ้าง อย่างเรื่องพลังงานก็มีการพูดมากมายว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปกัมพูชาและต้องตรวจสอบ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะน้องสาวก็ทราบดีว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีเจตนาอะไรเพราะเรื่องพลังงานอยู่ในวาระและมีความพยายามพลักดัน จากทักษิณ และปกปิดประชาชนมานานดังนั้นถ้ามีการดำเนินการเรื่องนี้ ฝ่ายค้านก็ต้องตรวจสอบ จะไปห้ามไม่ให้มีการอภิปรายไม่ได้

**เหลิม ยันปูเจ๋ง!ไม่ต้องมี“องครักษ์”

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่รู้สึกกังวลกับการอภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมรับมืออยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่มี “หน่วยคอมมานโดองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี” แต่อย่างใด เพราะนายกรัฐมนตรีมีความสามารถเฉพาะตัว เพียงเปลี่ยนบทบาทเท่านั้น โดยตนเองขอให้ฝ่านค้านตรงไปตรงมาในการอภิปราย หากมีการหยิบยกประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาก็ต้องดูก่อนว่าเรื่องใด หากอภิปรายนอกเรื่อง รัฐบาลก็สามารถประท้วงได้

ทั้งนี้ หลักการแถลงนโยบายไม่ว่ารัฐบาลจะแถลงอย่างไร ฝ่ายค้านก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แต่หากเป็นค้านอย่างผิดข้อบังคับ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องประท้วงกลับไปเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นทีมองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี จึงเป็นเพียงการเปรียบเปรยเชิงสีสันเนื่องจากตนเคยอยู่กองปราบและฝึกคอมมานโดมาก่อน

“น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว จบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจเป็นแสนล้าน เพียงแต่วันนี้เปลี่ยนจากสนามธุรกิจมาเป็นภาคการเมือง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีองครักษ์คอยช่วยปกป้อง ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เตรียมตัวทำหน้าที่ในสภาฯ ส่วนนายกฯก็สบายๆ ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

นอกจากนี้ ในวันแถลงนโยบาย ตนเตรียมชี้แจงเรื่องยาเสพติดและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้อภิปรายในเรื่องเดียวกันก็ไม่มีปัญหา

**การแก้ รธน.ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล โดยยืนยันว่า ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน แต่การนำไปใส่ไว้ในนโยบายด้วยเพราะเคยสัญญากับประชาชนไว้ ทั้งนี้ นโยบายที่รัฐบาลเร่งแก้ไขมี 5 ประการ ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด การทุจริต การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมในสังคม

นอกจากนี้ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์วิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายรัฐบาลเป็นนโยบายแก้บน ตนก็เห็นด้วย แต่การที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงโดยการใช้คำว่า ค่าแรง แต่ในนโยบายใช้คำว่า รายได้ นั้นไม่เห็นว่าแตกต่าง

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตเรื่องค่าแรง 300 บาท ช่วงหาเสียงพรรคเพื่อไทยบอกว่าเป็นนโยบาย แต่วันนี้จะมาบอกว่าเป็นรายได้ ซึ่งมันแตกต่างกันตรงไหน

เมื่อถามว่าหากการแถลงนโยบายมีการพาดพิงมาถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าจะอภิปรายเรื่องอะไร ที่บอกไปประเทศกัมพูชา ท่านไปที่ไหน ประชาธิปัตย์จินตนาการไปเรื่อย แล้วยังบอกว่าไปเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล พวกนี้มันเจ้าของโรงน้ำแข็งเท่านั้น รัฐบาลเพื่อไทยตั้งใจมาทำงาน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด ทุจริต ปัญหาการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้วิจารณ์ว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยเหมือนเป็นการแก้บน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวเพียงว่า "ก็ใช่ เพราะเราบนกับประชาชนไว้"

**ตีปี๊ปจ้างหัวละ 500-1,000 ป่วน "ปู"

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันไม่มีการตั้งองครักษ์เพราะเราเชื่อมั่นว่านายกฯเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภารวมทั้งชี้แจงต่อเพื่อนส.ส. ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีส.ส.จำนวน 20 คนที่จะดำเนินการอภิปรายเสริมในฐานะที่เป็นคณะกรรมการยกร่างนโยบาย และมีส.ส.อีกกว่า 30 กว่าได้แสดงความจำนงว่าอยากอภิปรายเพิ่มเติมในบางส่วนหากพรรคาฝ่ายค้านเล่นนอกกรอบ โดยจะมีการดำเนินการผ่านวิปรัฐบาลชั่วคราวเพื่อให้ฝ่ายค้านกลับมาอภิปรายในกรอบ

ทั้งนี้ ทราบมาว่ามีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มไปปลุกระดมประชาชนในพื้นที่คลอดเตย และฝั่งธนบุรี รวมไปถึงจังหวัดปริมณฑลอย่าง ปทุมธานี และนครปฐม ให้ดำเนินการเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายในวันที่ 23 กันยายนนี้ โดยทราบมาว่ามีการจัดจ้างในราคาคนละ 500-1,000บาทต่อวัน จึงขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาดูในเรื่องนี้ว่าเป็นความจริงหรือไม่เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดการปั่นป่วนก่อนที่รัฐบาลจะได้ทำงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายกฯมอบให้รองนายกฯชี้แจงแทนนั้นจะกระทบต่อความสง่างามหรือไม่ นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ไม่กระทบเพราะรัฐบาลทำงานเป็นทีม มีการบูรณาการร่วมกัน นายกฯจะแถลงภาพรวม และให้รองนายกฯ แถลงในส่วนต่างๆ ซึ่งถือเป็นนิมติใหม่ของประเทศ ไม่ใช่บริหารเก่งคนเดียว แต่เป็นการทำงานแบบดรีมทีมไม่มีปัญหาใดๆ

** 14 จว.ใต้แถลงค้าน“แลนบริดจน์”

เครือข่ายภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยกเลิกแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ โดยจะจัดกิจกรรรมที่ จ.ชุมพร เย็นวันนี้ พร้อมประกาศแถลงการณ์คนใต้ไม่ต้องการโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายแผนพัฒนาพลังงาน และแผนพัฒนาภาคใต้ เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะรวมตัวทำกิจกรรมในช่วงเย็นวันนี้ ที่บริเวณแยกปฐมพร ถนนเพชรเกษม 41 จ.ชุมพร เพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวเสนอเป็นแผนที่ใช้ชื่อว่า เพชรเกษม 41 แสดงเจตนารมณ์ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ ที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียง

นายสมยศ โต๊ะหลัง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ ต้องการต่อต้านโครงการที่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติในภาคใต้ เช่นให้ตรวจสอบการดำเนินงานนโยบายพัฒนาแลนบริดจน์สงขลา-สตูล ท่าเทียบเรือปากบารา การถมทะเล คลังน้ำมัน และเขื่อนต่างๆ ที่จะเป็นตัวทำลายทรัพยากรธรรมชาติใน จ.สตูล รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งการเคลื่อนไหวได้เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการทำแพลงกิ้งบริเวณชายหาดปากบารา จ.สตูล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้าน

***โพลชี้ ปชช.อยากรู้นโยบายปราบยา

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,386 คน ในหัวข้อ “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน กับการแถลงนโยบาย” พบว่า ลำดับความสนใจของประชาชนในเนื้อหาการแถลงนโยบายของรัฐบาล อันดับ 1 การแก้ปัญหายาเสพติด 97.50% อันดับ 2 การปราบทุจริตคอร์รัปชัน 96.62% อันดับ 3 การสร้างความปรองดอง 95.59% อันดับ 4 ปัญหาชายแดนภาคใต้ 90.90% อันดับ 5 การพักหนี้เกษตรกร, ค่าแรง 300 บ. ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บ. 89.79% อันดับ 6 การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 86.49% อันดับ 7 การปฏิรูปการเมือง 81.20% อันดับ 8 การแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน 77.24%

จุดเน้นการแถลงนโยบายของรัฐบาล และสิ่งที่ต้องการให้ฝ่ายค้านอภิปรายของประชาชน ในเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง เห็นว่า 86.07% การปราบปรามผู้มีอิทธิพล มาตรการ บทลงโทษที่เด็ดขาด 8.12% การควบคุมดูแลแหล่งมั่วสุม สถานบันเทิงที่มอมเมาเยาวชน 5.81% การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย เห็นว่า 62.67 % มาตรการ บทลงโทษที่ยังไม่เด็ดขาด เข้มงวด 25.64% ข้อกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ การละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ 11.69% ปัญหาการมั่วสุมยาเสพติดของเยาวชน

ในเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชัน ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 55.02% จิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรมของข้าราชการ นักการเมือง 25.10% บทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้ที่ทำผิด ไม่เลือกปฏิบัติ 19.88% การทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 72.22% การตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง 16.67% ที่มาที่ไปของการจัดสรรงบประมาณในเรื่องต่างๆ 11.11%การดำเนินงานโครงการต่างๆของแต่ละกระทรวง ขณะที่ในเรื่องของการสร้างความปรองดอง ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 62.74% วิธีการ/แนวทางสร้างความปรองดองที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม 34.43% การดำเนินการที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ 2.83% การเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยของคนในชาติ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 47.94% ความเป็นไปได้ของนโยบายและวิธีปฏิบัติ 46.91% การทำหน้าที่ของรัฐบาล /การวางตัวที่เหมาะสม 5.15% การเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง, เงิน 10 ล้านบาท วีซ่าทักษิณ

ในเรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้ ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 42.41% ความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของชาวบ้าน/เพิ่มทหารดูแล 41.30% การสร้างขวัญกำลังใจ สวัสดิการค่าตอบแทนให้แก่ทหาร 16.29% การสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจอันดีในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 50.08% การหาตัวแทน/คนกลางในการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง 35.21% การแก้ปัญหาอย่างจริงจังและตรงจุด 14.71% การชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่ผู้เสียหาย ขณะที่เรื่องการพักหนี้เกษตรกร,ค่าแรง 300 บ.,ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บ. ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 48.65% มาตรการควบคุมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง 30.64% การช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว นอกจากการพักหนี้ 20.71% การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 37.50% ปัญหาที่ตามมา เช่น สินค้าแพง ความไม่เท่าเทียม ฯลฯ 33.87% การแจกแจงงบประมาณที่นำมาใช้ 28.63% การเพิ่มภาระให้กับนายจ้าง ผู้ประกอบการ

ในส่วนของการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 44.63% การส่งทูตไปพบปะพูดคุยเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดี 42.38% การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆ โดยเฉพาะไทย กัมพูชา 12.99% ความปลอดภัยของประชาชน การค้าขาย และการท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 42.70% บทบาทการทำงานของ รมว.การต่างประเทศ 37.08% ผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลบางกลุ่ม 20.22% สนธิสัญญา ข้อตกลงที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ ขณะที่การปฏิรูปการเมือง ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 72.66% คุณธรรม จริยธรรมของนักการเมือง 15.57% การขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 11.77% การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 68.31%การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง 23.33% การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 8.36% การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ในเรื่องการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน ประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลควรชี้แจง 67.03% เหตุผลและความจำเป็นในการแจกแท็บเล็ต 28.57% สิ่งที่นักเรียนควรปฏิบัติต่อการนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ 4.40% ความโปร่งใสในการแจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านควรอภิปราย 51.76% ผลประโยชน์ ความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง 25.89% การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนนอกจากแจกของ 22.35%ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น