xs
xsm
sm
md
lg

ทรู Q2รายได้ 1.41 หมื่นล. จากบริการบรอดแบนด์-ฮัทช์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ทรูรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2554 รายได้รวม 1.41 หมื่นล้านบาท จากบริการบรอดแบนด์ กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายหลังซื้อฮัทช์ และรายได้ของทรูมูฟเติบโตขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในไตรมาส 2 ปี 2554 กลุ่มทรูมีรายได้จากการให้บริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) 1.41 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนส่วนใหญ่มาจากการรวมผลการดำเนินงานของฮัทช์ การเติบโตของรายได้จากบริการบรอดแบนด์ และบริการที่ไม่ใช่เสียงสำหรับโทรศัพท์มือถือ โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลประกอบการของทรูออนไลน์และทรูมูฟปรับตัวดีขึ้น

ผลการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ไม่รวมภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ปรับลดลงเป็นขาดทุน 187 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจฮัทช์ โดยในไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1.25 พันล้านบาท ส่วนใหญ่จากผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าหนี้สินต่างประเทศเป็นเงินไทย (Mark to Market) ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันสิ้นงวด

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จำนวนครัวเรือนที่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 บริการขึ้นไป เพิ่มขึ้น 3.5%จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 2.5 ล้านครัวเรือน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า รายได้ของกลุ่มทรู ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการรวมผลประกอบการของฮัทช์ รวมทั้งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบรอดแบนด์ และการเติบโตของบริการที่ไม่ใช่เสียงจากยอดขายเครื่องและแพ็กเกจ สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้การลงทุนในฮัทช์ เพื่อให้บริการ 3G+ เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ 'ทรูมูฟ เอช' ในฐานะผู้ขายต่อบริการ (รีเซลเลอร์) ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จะทำให้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายเติบโตต่อเนื่องและสามารถแข่งขันในตลาดได้ดี

ขณะที่การลงทุนขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ด้วยเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 ครอบคลุมกว่า 2 ล้านครัวเรือน จะเสริมให้ธุรกิจทรูออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด และยังสนับสนุนให้ทรูวิชั่นส์สามารถให้บริการ HD TV และ Internet TV ได้ นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังพัฒนากล่องรับสัญญาณใหม่เข้าสู่ยุค MPEG 4 เพื่อให้บริการในระบบ High Definition และสามารถป้องกันการถอดรหัสเพื่อรับชม รายการแบบผิดกฎหมายได้ ซึ่งการลงทุนทั้งหมดนี้ จะเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการคอนเวอร์เจนซ์ของกลุ่มทรู และยังเป็นการปรับฐานเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทใน 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย ประกอบด้วย ทรูมูฟ ทรูมูฟ เอช และฮัทช์ มีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC จำนวน 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยทรูมูฟมีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% โดยการเติบโตของรายได้บริการแบบรายเดือน ( 19 % จากไตรมาสเดียวกันปีที่ผ่านมา และ5.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (34.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และ 4 % จากไตรมาสที่ผ่านมา) ยอดขายเครื่องและแพ็คเกจสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาก

ไตรมาส 2 ปี 2554 ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการใหม่สุทธิของบริการแบบรายเดือน เพิ่มขึ้น 46,000 ราย (จากยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิทั้งหมด 261,000 ราย) เทียบกับ 26,000 ราย ในไตรมาส 1 ปี 2554 ส่วนใหญ่จากแพ็กเกจสมาร์ทโฟน โดยสิ้นไตรมาส 2 นี้กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายมีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 18.5 ล้านราย

ทรูออนไลน์ มีรายได้ 6.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เป็นผลจากการเปิดตัวแพ็กเกจใหม่ของบริการ Ultra hi-speed Internet นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 บริษัทได้ปรับเพิ่มความเร็วมาตรฐานของบริการบรอดแบนด์เป็น 7 Mbps และบริการ Wi-Fi เป็น 8 Mbpsรวมทั้งเพิ่มจุดเชื่อมต่อสัญญาณ หรือ Hotspot จาก 21,000 จุด เป็น มากกว่า 30,000 จุด ทำให้สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รายใหม่สุทธิได้ 40,000 รายในไตรมาส 2 และมีฐานผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 ล้านราย

ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการ2.3 พันล้านบาทอยู่ในระดับคงที่ เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากโฆษณา เพิ่มขึ้นเป็น 143 ล้านบาท ถูกชดเชยด้วยการลดลงของรายได้จากค่าสมาชิก ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันและการลักลอบการใช้สัญญาณ ทั้งนี้ทรูวิชั่นส์มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย

กลุ่มทรูยังได้ชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 4พันล้านบาท (ไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงิน) ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ระดับหนี้ระยะยาวลดลงเล็กน้อยเป็น 6.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้นำเงินทุนส่วนใหญ่ที่ได้จากการระดมทุน จำนวนทั้งสิ้น 1.31 หมื่นล้านบาท จากการจัดสรรหุ้นสามัญใหม่เพื่อเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) ในไตรมาส 2 ไปใช้เพื่อขยายการให้บริการของทรูมูฟ เอช
กำลังโหลดความคิดเห็น