xs
xsm
sm
md
lg

ล้วงลึก 3G !?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ ไปไหนมาไหนมักจะได้ยินเรื่อง 3G ว่าดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ เห็นโฆษณา 3G บนจอโทรทัศน์จากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ(โอเปอเรเตอร์) บางรายที่บอกว่าเมืองไทยวันนี้มี 3G แล้ว ต่างประดังเข้ามาจนสะท้านใจอยากจะใช้ 3G ขึ้นมาทันใด และคิดว่าใช้บริการจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายไหนก็ได้ใช้ 3G เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกัน 100% ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลื่นความถี่ พื้นที่ให้บริการ เครื่องมือถือรองรับ วันนี้จึงมาดูเรื่องลึกๆ ของ 3G กัน

3G ย่อมาจากคำว่า Third Generation Mobile Network เป็นเทคโนโลยียุคถัดมาของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน โดยเป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้การใช้งานข้อมูลหรือดาต้าบนมือถือมีความเร็วที่สูงขึ้น ทางเทคนิคแล้ว 3G สามารถให้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 42 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันหรือจะเรียกว่า 2G หรือ 2.75G ก็ตาม มีความเร็วสูงสุดที่ 236.8 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps)

*****3G ต่างกันที่ความถี่

ในวันนี้ ประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้เทคโนโลยี 3G กันบ้างแล้ว ทั้งในรูปของเชิงพาณิชย์และใช้งานฟรี บน 3 ช่วงคลื่นความถี่ เริ่มจากคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นผู้ครอบครองสิทธิ และได้มีการแบ่งให้โอเปอเรเตอร์ที่อยู่ภายใต้สัมปทานเบอร์ 2 และ 3 ในตลาดอย่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทคกับบริษัท ทรู มูฟ ให้นำมาทดลองให้บริการแบบไม่เก็บเงิน

อย่างไรก็ตามดีแทคได้ออกมาแจ้งว่าพร้อมที่จะเปิดให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ได้ราวกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ตามข้อมูลที่ระบุว่า ในเบื้องต้นจะเปิดให้บริการพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก่อนแล้ว มีแผนที่จะติดตั้งสถานีฐาน 3G ให้ได้ทั้งสิ้น 1,220 สถานีฐานเมื่อถึงสิ้นปี ขณะที่ทรูมูฟยังไม่มีท่าทีที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์สำหรับลูกค้าทรูมูฟ ยังคงเป็นลักษณะของรูปทดลองให้บริการอยู่

ขณะที่บริษัท เรียลมูฟ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนขายส่งขายต่อ (wholesale-resale) เชิงพาณิชย์เพื่อให้บริการ 3G บนเทคโนโลยี HSPA จาก กสทภายใต้แบรนด์ 'ทรูมูฟ เอช' ที่วันนี้ได้มีการออกแพกเกจค่าบริการออกมาแล้ว ยังไม่รวมการทำตลาดภายใต้แบรนด์ 'มาย' ของ กสทและมีแพกเกจค่าบริการออกมาแล้วเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุพื้นที่การให้บริการว่ามีพื้นที่ครอบคลุมแค่ไหน มีเพียงแต่ข้อมูลว่า จะติดตั้งสถานีฐาน 3G เพิ่มอีก 3,000 สถานีฐานภายในปีนี้

ด้วยข้อเสนอค่าบริการเครือข่าย 3G ของค่าย กสท ถือว่า เปิดตัวได้น่าสนใจ โดยมีโปรโมชัน “NetLite” ที่ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ที่เป็นแอร์การ์ด แท็บเล็ต โดยมีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 590 บาท ใช้งานได้ไม่อั้น สามารถส่งเอสเอ็มเอสได้ 100 ข้อความต่อเดือน ส่วนผู้ใช้ที่เป็นสมาร์ทโฟนทั้งหลาย กสท ก็มีโปรโมชัน “NetSmart” มีให้เลือก 2 โปรโมชัน โปรโมชันแรก ค่าบริการรายเดือน 690 บาท โทร.ฟรีได้ทุกเครือข่าย 200 นาทีต่อเดือน ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่อั้น ส่งเอสเอ็มเอสได้ 200 ข้อความต่อเดือน ส่วนโปรโมชันที่สอง มีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 790 บาท โทร.ฟรีทุกเครือข่ายถึง 500 นาทีต่อเดือน ส่งเอสเอ็มเอสได้ 300 ข้อความต่อเดือน และแน่นอนว่า เล่นอินเทอร์เน็ตได้ไม่อั้นเช่นกัน

ขณะที่โปรโมชันของ ทรูมูฟ เอช ที่เพิ่งออกมาก่อนหน้าโปรโมชัน มายของกสท ไม่นานมีให้เลือก 2 โปรโมชันเช่นกัน ประกอบไปด้วย “สมาร์ท 649” ได้ทั้งค่าโทร.และค่าอินเทอร์เน็ตโทร.ได้ 250 นาที ใช้เล่นอินเทอร์เน็ตได้ 1.5 GB เล่นไวไฟของทรู ได้ไม่จำกัด ส่วน "ดาต้า 649" เป็นโปรโมชันสำหรับเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นหลักโดยไม่มีค่าโทร.ให้แต่เปลี่ยนปริมาณการเล่นอินเทอร์เน็ตที่ 3 GB ใช้ไวไฟไม่อั้นเช่นกัน โดยทั้งสองโปรโมชันการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทั้ง GPRS / EDGE และ 3G รวมกันไม่มีการแยกว่า ใช้บนเครือข่าย 3G เท่าไร EDGE เท่าไร ซึ่งเป็นการยากในการใช้งานว่า ตอนนี้ใช้งานในส่วนไหนไปเท่าไร

ส่วนแบรนด์พี่ใหญ่อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ได้รับสิทธิให้บริการเชิงพาณิชย์จากบริษัท ทีโอที เจ้าของสัมปทานบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาแล้วพอสมควร ล่าสุด เอไอเอสได้เปิดให้บริการแล้ววันนี้ในพื้นที่กรุงเทพตอนในและอีก 7 จังหวัดประกอบด้วยกรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี หาดใหญ่-สงขลา ภูเก็ต ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี และนครราชสีมา รองรับความเร็วสูงสุด 21.6 เมกะบิตต่อวินาที เมื่อรวมกับไวไฟที่ร่วมมือกับทาง 3บีบีก่อนหน้านี้กว่า 30,000 จุด และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 50,000 จุดภายในสิ้นปีนี้ ขณะในส่วนของเทคโนโลยีเอดจ์ ทางเอไอเอสก็ได้มีการอัปเกรทดเป็นเอดจ์พลัส ทำให้สามารถส่งข้อมูลเร็วขึ้น 2 เท่าของเอดจ์เดิม โดยผู้สนใจสามารถสมัครแพกเกจ 3G–Wifi–EDGE+ เริ่มต้นเดือนละ 150 บาท

ส่วนผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่ช่วงใหญ่อย่างทีโอที ที่เปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ซึ่งถือเป็นย่านความถี่สากล ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผ่านรูปแบบการให้บริการที่เรียกว่า MVNO (Mobile virtual network operator) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้บริษัทเอกชนมาซื้อแอร์ไทม์บนโครงข่ายของทีโอทีไปขายต่อให้ผู้ให้บริโภค ก็มีแผนขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังจบการประมูลเพื่อขยายโครงข่ายและสถานีฐานเพิ่มอีก 5,290 สถานีฐานให้ครอบคลุม 18 จังหวัดภายในสิ้นปีนี้และครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีหน้า

****3G ไม่เหมือนที่อุปกรณ์

ใครที่คิดจะใช้ 3G ค่ายดีแทค-ทรูมูฟ อย่าลืมมองหาโทรศัพท์มือถือที่รองรับคลื่นความถี่ 850 MHz ส่วนเอไอเอส มองหาที่ 900 MHz ขณะที่ 2.1 GHz นั้นเป็นช่วงคลื่นความถี่มาตรฐานของ 3G ดังนั้นอุปกรณ์พกพาใดๆ ที่สามารถเชื่อมต่อ 3G ได้สามารถใช้งานที่คลื่น 2.1 GHz ได้

แน่นอนว่า ในการใช้งาน 3G ให้ได้ประสิทธิภาพนั้น นอกจากมีโอเปอเรเตอร์ที่พัฒนาให้เครือข่ายสามารถกระจายสัญญาณแล้ว อุปกรณ์รับสัญญาณอย่างสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ก็ต้องมีภาครับสัญญาณที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อไร้สายความเร็วสูงด้วยเช่นกัน

โดยภาครับสัญญาณ 3G ที่วางจำหน่ายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ และสมาร์ทโฟนในท้องตลาดนั้น มีทั้งแบบที่รองรับได้แบบเริ่มต้นที่ความเร็ว 384 Kbps ไปจนถึงความเร็วสูงสุดของสมาร์ทโฟนที่วางจำหน่ายในประเทศไทย HSPA+ อย่าง Samsung Galaxy S2 ที่สามาถรับสัญญาณได้ 21 Mbps

ถ้าแยกย่อยความเร็วในการใช้งานออกมาจะพบตั้งแต่ เครื่องที่โฆษณาว่ารองรับการใช้งาน 3G แต่วิ่งเร็วสุดแค่ 384 Kbps หรือถ้าเครื่องมีราคาสูงขึ้นอีกนิดก็จะพบว่าความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลอยู่ที่ 3.6 Mbps อัปโหลดที่ 384 Kbps ส่วนระดับกลางๆ ในปัจจุบัน และถือว่าเป็นช่วงมาตรฐานการใช้งานทั่วโลกจะมีความเร็วในการดาวน์โหลด 7.2 Mbps และอัปโหลด 2 Mbps ขณะที่เครื่องในรุ่นไฮเอนด์จะมีอัตราดาวน์โหลดสูงขึ้นไปเป็น 14.4 - 21 Mbps อัปโหลดที่ 5.76 Mbps

ดังนั้นในการเลือกซื้อโทรศัพท์ และแอร์การ์ด ผู้ซื้อควรใส่ใจในรายละเอียดของเทคโนโลยี 3G ให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน ไม่ใช่สักแต่เลือกซื้อเพราะเห็นว่ารองรับ 3G แต่ไม่ได้ดูถึงความเร็วในการใช้งานที่ได้ และจะพาลไปโทษเหล่าโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการว่า ทำไมเป็น 3G แล้วแต่ยังช้าเหมือนเดิม

นอกจากปัจจัยในเรื่องของเครือข่ายและอุปกรณ์เชื่อมต่อแล้ว ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการใช้บริการ 3G จำเป็นต้องสมัครเข้าใช้งานในแพกเกจ 3G โดยเฉพาะด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้บริการ เอไอเอส ในกรณีที่ยังไม่สมัครใช้บริการ 3G เมื่อเข้าไปอยู่ในบริเวณที่ให้บริการ 3G ตัวโทรศัพท์ จะสามารถจับสัญญาณ 3G และโชว์ขึ้นที่หน้าจอ แต่ความเร็วที่ได้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะถูกจำกัดไว้ที่ 384 Kbps เท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังเอไอเอสจัดงานแถลงข่าวทิศทางการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง คาดว่าได้มีการปรับเพิ่มความเร็วให้ผู้ใช้งานที่ใช้แพกแกจ GPRS ไม่จำกัดเดิม สามารถใช้งาน 3G ได้แบบเต็มประสิทธิภาพที่ 7.2 Mbps โดยไม่จำเป็นต้องสมัครแพกเกจเสริมแต่อย่างใด ส่วนผู้ใช้งานที่สมัครแพกเกจแบบจำกัดจำนวนไว้ยังคงต้องสมัครแพกแกจ 3G ควบคู่ไปถ้าต้องการความเร็วที่เพิ่มขึ้น

ในกรณีของแอร์การ์ด แม้ว่าตอนซื้อผู้ขายจะให้ข้อมูลว่า แอร์การ์ดรุ่นนี้ใช้งาน 3G ที่ความเร็วสูงสุด 3.6 Mbps หรือ 7.2 Mbps นั่นหมายถึงว่า ตัวแอร์การ์ดสามารถรองรับความเร็วดังกล่าวได้ แต่ถ้าผู้ใช้นำซิมการ์ดที่เปิดบริการ EDGE/GPRS มาใช้บริการ ความเร็วที่ได้ก็จะจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 236.8 Kbps เช่นเดิม

ในแง่ของการใช้งาน เนื่องจากพื้นที่ให้บริการ 3G ยังไม่ครอบคลุม ทำให้หลายๆ โอเปอเรเตอร์เลือกที่จะให้บริการ 3G ไปพร้อมกับการให้บริการแพกเกจ Wi-Fi ในรูปแบบการขายพ่วง หรือ เป็นแพกแกจเสริมให้เลือกใช้กัน อย่างเอไอเอส ที่เลือกจับมือกับ 3BB ทรูมูฟ ที่คอนเวอร์เจนซ์ ทรูไวไฟ หรือแม้แต่ กสท ที่เชื่อมรูปแบบการให้บริการ 3G เข้ากับไฮสปีดอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้แม้ไม่อยู่ในพื้นที่ให้บริการ 3G ก็ตาม

และจากความสามารถของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจาก 3G ผ่านเครือข่ายไร้สายอย่างไวไฟ (Wi-Fi Hotspot) ทำให้ผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์พกพามากกว่าหนึ่งเครื่อง สามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถนี้ เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ทีีมีอยู่ในมือใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลาจริงๆ ทั้งหมดนี้เป็นความไม่เหมือนกันในโลกของ 3G

กำลังโหลดความคิดเห็น