xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คมาอีกครั้ง : ปชป.คงที่หรือดีขึ้น?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรค หลังจากที่ได้นำพรรคไปสู่ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีผลทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน โดยมีผู้ชนะคือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

จากผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง พร้อมกับกรรมการอีก 18 คน รวมเป็น 19 คน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ปฏิเสธที่จะกลับมาเป็นเลขาธิการพรรค โดยเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาแข่งขัน และที่ประชุมได้เลือกให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเลขาธิการพรรค

จากการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคใหม่ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว หรือเหตุปัจจัยเช่นแรงกดดันภายในพรรคที่ต้องการให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองที่สำคัญ ว่าจากนี้ไป ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงคิด และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแบบเดิม โอกาสที่จะเอาชนะการเลือกตั้งต่อคู่แข่งทางการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นใดที่เน้นนโยบายจับต้องได้ และก่อให้เกิดความหวังต่อคนระดับรากหญ้า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นไปได้ยาก

และนี่เองน่าจะเป็นเหตุผลหลักในการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ แต่ก็มีปัญหาตามมาว่า จะเชื่อได้อย่างไรว่าการเปลี่ยนบุคคลโดยที่พฤติกรรมองค์กรของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเดิม จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

อะไรคือพฤติกรรมองค์กรที่จะต้องเปลี่ยน และควรจะเปลี่ยนอย่างไร?

เกี่ยวกับประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูความเป็นมาของพรรคนี้ ก็จะพบว่าความโดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตก็คือพฤติกรรมทางการเมืองดังต่อไปนี้

1. ยืนหยัดต่อสู้กับการปกครองแบบเผด็จการ และยึดแนวทางปกครองในระบอบประชาธิปไตย

2. เมื่อเป็นฝ่ายค้าน เน้นการขุดคุ้ย และวิพากษ์วิจารณ์โจมตีตัวบุคคล โดยอาศัยโวหารมากกว่าเน้นเนื้อหาสาระ และให้ข้อเสนอแนะในทางสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ในยุคแรกๆ จนกระทั่งมาถึงยุค 14 ต.ค. 2516

3. เมื่อระบบการปกครองแบบเผด็จการจืดจางลง และประเทศไทยเข้าสู่การปกครองในระบบรัฐสภาต่อเนื่องยาวนานเช่นในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พรรคประชาธิปัตย์ได้ปรับบทบาทของการเป็นฝ่ายค้านที่มีเนื้อหาสาระมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ยังมีพฤติกรรมค้านแบบเดิมหลงเหลืออยู่บ้างในบางคน ถึงกระนั้นก็พูดได้ว่าดีขึ้น

จากปัจจัยอันเป็นจุดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นในฐานะเป็นฝ่ายค้านเป็นหลัก แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลจุดเด่นที่ว่านี้ได้กลายมาเป็นจุดด้อย กล่าวคือ เมื่อเป็นรัฐบาลมีอยู่ไม่น้อยที่กระทำตรงกันข้ามกับการเป็นฝ่ายค้าน หรือกระทำในสิ่งที่ตนเองคัดค้านไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่อต้านการทุจริต จะเห็นได้ว่าไม่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมพอให้จับต้องได้ว่าปราบปราม และจัดการต่อผู้กระทำผิด หรือส่อเค้าว่ากระทำผิด

ดังนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเช่นพรรคเพื่อไทย นอกจากจะเน้นนโยบายให้เปรียบเทียบได้กับพรรคเพื่อไทยแล้ว จะต้องทำในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ทำ และเชื่อว่าทำได้ยากนั่นก็คือ การปิดโอกาสไม่ให้มีการถอนทุนทางการเมืองที่ได้มาด้วยการใช้เงิน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อย่าเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามาถอนทุนในทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ ในการเตรียมการเพื่อการเลือกตั้ง จะต้องมีการจัดตั้งมวลชนในทุกระดับชนชั้น และในทุกภาคส่วน โดยการปลูกฝัง และเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค ไปพร้อมๆ กับจัดให้มีกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในด้านแสดงความคิดเห็น ลงมือทำกิจกรรม เพื่อให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคของพวกเขา ในทำนองเดียวกันกับที่พรรคเพื่อไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินอยู่ในภาคเหนือ และภาคอีสานขณะนี้

แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำเช่นนี้ได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก่อนก็คือ การสลายความมี และความเป็นตัวตนของนักการเมืองแบบคนประชาธิปัตย์ นั่นก็คือพฤติกรรมเป็นพ่อค้าบนหอคอยไม่ยอมเข้าใจคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตน ซึ่งสวนทางกับหลักการตลาดที่ว่า ถ้าจะไปตกปลาก็ควรจะเอาสิ่งที่ปลาชอบไปตกปลา ไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบ (แต่ปลาไม่ชอบ) ไปตกปลา

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนบุคคล และเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรได้ ก็เชื่อได้ว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นที่นิยมของคนไทยเหมือนยุคที่ต่อสู้กับระบบเผด็จการก็คงจะคืนมาอีกครั้ง และการกลับมาในครั้งนี้จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีความก้าวหน้าในทางการเมือง และกลายเป็นพรรคมหาชนได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กร ถึงแม้จะเปลี่ยนคนสักกี่ครั้งกี่หน ก็คงไม่ทำให้ได้รับชัยชนะในทางการเมืองเหนือคู่แข่งเช่นพรรคเพื่อไทยได้

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้แต่หวังว่าการกลับมาอีกครั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวดเร็ว และทันต่อกาลเวลา ไม่ปล่อยให้กองเชียร์ผิดหวังเหมือนอดีตที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น