xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจวกคลัง ขึ้นค่าจ้าง300 สินค้าพุ่ง12-16%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ส.อ.ท.จวกคลังไม่เข้าใจภาคการผลิตกรณีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศไม่ใช่ตลาดทุนที่กำไรเยอะ เหตุต้นทุนพุ่ง 12-16% ผลักดันเอกชนต้องขยับราคาสินค้าและหากขึ้นแล้วแข่งขันไม่ได้ก็เตรียมเจ๊งเหตุเป็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ด้านก.อุตฯเตรียมชงวรรณรัตน์หามาตรการรองรับผลกระทบขึ้นค่าแรงชูตั้งนิคมฯชายแดน ขณะนี้นักวิชาการ เผยแรงงานจับตารัฐบาลชุดใหม่ทำได้หรือไม่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังมีแนวคิดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นเพียงรอบเดียวและผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจะสามารถรับภาระค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากกำไรที่ลดลงได้บ้างโดยไม่ขึ้นราคาสินค้า ว่าภาคเอกชนทั้งส.อ.ท.และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีการสำรวจและผลยืนยันใกล้เคียงกันว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศจะทำให้มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12-16% และส่วนใหญ่เอกชนก็จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าในระดับดังกล่าวเนื่องจากธุรกิจไทยเป็นขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) 70-80% ที่ไม่ได้มีกำไรมากพอในการแบกรับภาระเพิ่ม

“รมว.คลังมองฐานะพรรคเพื่อไทยที่จะสานนโยบายจุดนี้และเข้าใจได้ว่าคนที่มองตลาดทุนกับหุ้นตัวกำไรของธุรกิจจะเยอะมากแต่ภาคธุรกิจที่แท้จริงหรือเรียลเซ็คเตอร์ต้องมองหลายมิติเพราะจะเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ กลางน้ำ ปลายน้ำเมื่อค่าแรงขึ้นจะกระทบเป็นทอดๆ “นายธนิตกล่าว

นอกจากธุรกิจไทยส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างผลิตจะต้องแข่งขันกับตลาดเพื่อนบ้านจึงไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองเช่นรายใหญ่ที่มีนวตกรรมขั้นสูงทำให้ราคาสินค้าแพงมีกำไรมากพอที่จะลดผลกำไรลง ขณะเดียวกันการจำหน่ายในประเทศก็จะต้องแข่งขันกับสินค้าจีนมากขึ้นหากต้นทุนสูงแล้วผลักภาระไปที่ราคาสินค้าไม่ได้ก็เท่ากับต้องปิดกิจการในที่สุด

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวานนี้(11ส.ค.)เพื่อเตรียมกรอบการนำเสนอแนวนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อน.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรมที่มีกำหนดจะเข้ากระทรวงวันที่ 15 ส.ค.โดยได้เตรียมการดำเนินงานให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลใหม่ 5 แนวทางได้แก่ 1.นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรม

2. การผลักดันให้มีการจัดทำโครงการครัวไทยก้าวสู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก (ครัวไทยสู่ครัวโลกระยะที่ 2 ) เพื่อทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออก สินค้าอาหารรายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก 3. นโยบายอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยการศึกษาจัดตั้งโรงงานถลุงเหล็กคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ด้านคุณภาพ ต้นทุนและการจัดส่งสินค้าระยะยาว โดยจะเสนอการตัดสินใจ 3 ทางเลือกคือ เปิดให้ลงทุนในไทย ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และเปิดให้ดำเนินการทั้งสองแนวทาง

4.การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย รวมถึงนักลงทุนไทยจะสามารถเคลื่อนย้ายไปลงทุนในประเทศอาเซียนที่มีทั้งแรงงานและวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น และ 5. การส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นตามศักยภาพทางการตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์

**นักวิชาการ จี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ. ***

วานนี้ (11 ส.ค.) ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ แรงงานทั่วประเทศจับตารัฐบาลชุดใหม่จะทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่พิสูจน์รัฐบาลชุดนี้ ถ้าทำให้เป็นรูปธรรมได้ แรงงานจะให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้ แต่สิ่งที่อยากให้รมว.รง.ช่วยผลักดันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมากที่สุด ก็คือ การปรับค่าจ้างของแรงงานให้เหมาะสม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องทำโอที และกู้เงินมาใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาที่อยู่กับครอบครัว จนสร้างปัญหาครอบครัวแตกแยก โดยขยับต้นทุนค่าจ้างเพิ่มเป็น 15-20% แต่ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้แก่นายจ้าง เพราะอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรู้จักเฉือนเนื้อตัวเองและเสียสละ รับผิดชอบต่อสังคมบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น