xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาไฟเขียว“สรรหากสทช.” หวั่นเกิดปัญหาตรวจประวัติ 44 ว่าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญทั่วไปครั้งที่ 1 วานนี้ (8 ส.ค.) มีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณาวาระเรื่องด่วน เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 11 คน จากบัญชีรายชื่อผู้สมควรเป็นกสทช.จำนวน 44 คน
โดยพล.อ.ธีรเดช แจ้งว่า ตามมาตรา 17 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 กำหนดว่า วุฒิสภาต้องเลือกให้แล้วสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับบัญชีรายชื่อจากเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาได้รับบัญชีวันที่ 14 กรกฎาคม ดังนั้นจะครบกำหนดวันที่ 11 กันยายน
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวว่า ที่ผ่านมากระบวนการสรรหาผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกสทช. มีปัญหามาก แบ่งเป็น 1.กรรมการสรรหา 15 คน จาก 15 องค์กรตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีปัญหาถึงครึ่งหนึ่ง โดยองค์กรที่ 8-15 ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีพ.ร.บ.จัดตั้งองค์กร ดังนั้นองค์กรดังกล่าวไม่มีฐานะทางกฎหมายโดยชอบ 2.กระบวนการสรรหาอาจมิชอบด้วยกฎหมาย โดยกรรมการสรรหาที่มีส่วนได้เสียกับผู้เข้ารับการสรรหา ไม่ได้แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 13 บัญญัติ แต่กลับยังร่วมประชุมและลงมติ 3.ไม่มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกสทช.ของคณะกรรมการสรรหา 4.ในส่วนบัญชีที่เลือกกันเองของผู้เข้ารับการสรรหา มีการร้องเรียนว่า มีการบล็อกโหวต
“ดังนั้นขอให้เลขาวุฒิสภาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมหรือส.ว.ทุกคนก่อน และขอให้ประธานเลื่อนการตั้งกมธ.สามัญตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการเสนอชื่อไปเป็นสัปดาห์หน้าก็ยังทัน เพื่อความโปร่งใสต่อสาธารณะ อย่ารีบร้อน ถ้าปล่อยไปโดยไม่ศึกษาอย่างรอบคอบอาจถูกศาลปกครองเพิกถอนได้ซึ่งจะเกิดความเสียหายมากเหมือนในอดีต และขอให้ประธานวุฒิสภา สั่งการให้เลขาธิการวุฒิสภา เก็บบันทึกเทปการประชุมคณะกรรมการสรรหาทั้ง 13 ครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานต่อไปเพราะตอนนี้มีการร้องศาลปกครองอยู่” นายจิตติพจน์ กล่าว
ด้านนายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในกระบวนการได้มาซึ่งกรรรมการองค์กรอิสระที่กำกับดูแลความถี่ มีผู้พยายามหาเงื่อนไขต่างๆทำให้กสทช.ไม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เหมือนในอดีตคือ กสช. และกทช. เพราะต้องการให้มีการจัดสรรความถี่กันเองโดยรัฐอนุญาต ซึ่งทำให้เป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาท ตนเห็นว่า วุฒิสภามีหน้าที่ตรวจสอบประวัติผู้ได้รับการเสนอชื่อ แต่การตรวจสอบกระบวนการสรรหาไม่ใช่หน้าที่วุฒิสภา ซึ่งหากกระบวนการสรรหามีปัญหา ก็เป็นเรื่องที่ศาลปกครองจะพิจารณา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเลื่อนการตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ แต่สามารถทำคู่ขนานไปได้ เพราะเวลามีจำกัด หากเลยเวลาไปแล้วเป็นหน้าที่ครม.สามารถตั้งกสทช. 11 คน ซึ่งจะเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ เพราะยิ่งเจอกรณีแบบนี้ก็ยิ่งต้องตรวจสอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเชิงลึก นอกจากนี้ ยังมีส.ว.บางรายไปร้องป.ป.ช. กรณี กทช.ก่อนหมดวาระ ได้อนุมัติงบ 84 ล้านบาท ให้บางส่วนในวุฒิสภาไปทำกิจกรรม ซึ่งก็มีกทช.มาเข้ารับการสรรหาเป็นกสทช.ด้วย เมื่อวุฒิสภาอยู่ในฐานะเป็นคนเลือกแล้วไปรับเงิน จึงเป็นประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นใครอ้างชื่อวุฒิสภาไปทำผิดต้องถูกลงโทษ ส่วนหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการสรรหาน่าจะเป็นหน้าที่ของศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ว.ได้ลุกขึ้นผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติฯทันที อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เป็นปกติที่คนเข้ารับการสรรหา ไม่ได้รับการสรรหาแล้วไปร้องเรียน นอกจากนี้ยังมีพวกที่ต้องการไม่ให้กสทช.เกิด เพราะมีผลประโยชน์ใต้โต๊ะ เช่นวงการวิทยุกินกันเจ้าละ 500,000 – 1,000,000 บาท ต่อเดือน นอกจากนี้ มีขบวนการไม่ต้องการให้วุฒิสภาเลือก โดยมีคนกลุ่มหนึ่งไปพบนักกฎหมายประจำพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วไปมอบหมายหลายๆส่วน โดยเตรียมข้อมูลให้เพื่อให้มาร้องเรียนดึงเรื่องให้วุฒิสภาเลือกไม่ได้ทันวันที่ 11 กันยายน เพื่อให้อำนาจการเลือกกลับไปอยู่ที่ครม. มีคนโทรศัพท์ไปต่างประเทศไปแถบตะวันออกกกลางขอให้ช่วยให้เลือกตนเอง ส่วนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วุฒิสภาควรเดินหน้าเลือกให้ได้ ภายหลังใครมีปัญหาแล้วศาลวินิจฉัย ก็ให้หลุดจากตำแหน่งแล้วเลือกกันใหม่มาทดแทนได้
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถึงแม้จะเลื่อนการพิจารณาออกไป วุฒิสภาก็ไม่มีอำนาจชี้ขาด เพราะกฎหมายแบ่งแยกชัดว่า อำนาจชี้ขาดเป็นของศาล ส่วนกระบวนการสรรหาให้เดินหน้าต่อไปจนเสร็จ
หลังจากที่ประชุมอภิปรายนาน 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่ประชุมเห็นชอบ 98 ต่อ 29 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ให้วุฒิสภาดำเนินการตามระเบียบวาระ จากนั้น ที่ประชุมมีมติตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติความประพฤติและจริยธรรมผู้ได้รับการเสนอชื่อ จำนวน 25 คน อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสมชาย แสวงการ พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กำหนดเวลาพิจารณา 25 วัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ.ส่วนใหญ่มาจากฝั่งสายส.ว.สรรหา ซึ่งกมธ.ได้นัดประชุมนัดแรกในช่วงเย็นวันที่ 8 สิงหาคมทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น