xs
xsm
sm
md
lg

“แมนูแฟคเจอร์ริ่ง เอ็กซ์โป 2011” งานเพื่ออุตสาหกรรมรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2011 กระหึ่ม อินเดียสบช่องรุกขยายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ชี้ข้อได้เปรียบ “แรงงานมีฝีมือ - ค่าแรงต่ำ - โครงสร้างพื้นฐานทั่วถึง - ภาครัฐ-ภาคเอกชนร่วมสนับสนุน - ข้อตกลงการค้าเสรี” พร้อมมั่นใจในความสัมพันธ์ “อินเดีย - ไทย - อาเซียน” ด้าน EEPC India เชื่อมั่นศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดีย แข็งแกร่งทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก คาดหลังจบงาน ทุนอินเดียทะลักสู่ตลาดอาเซียนหาพันธมิตรร่วมทุน

บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติอันดับหนึ่ง ในไทยและเวียดนาม โดยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ กำหนดจัดงาน “แมนูแฟคเจอร์ริ่ง เอ็กซ์โป 2011” มหกรรมเพื่อการผลิตอันดับ 1 ในไทย สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์ไบเทค บางนา

นัคมา เอ็ม มอลลิค (Mrs. Nagma M. Mallick) อุปทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวถึงแผนการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมและชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียมายังประเทศไทย โดยย้ำว่า เศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชีย เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินเดียยังคงรักษาตำแหน่งใน 10 อันดับประเทศอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก จากการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย7 % ต่อปี ขณะที่การใช้พลังงานภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 3.6 %

รัฐบาลอินเดียมองเห็นโอกาสในตลาดเกิดใหม่ของไทยและอาเซียน และผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายรายย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้จากข้อได้เปรียบหลายประการ รวมถึงแรงงานมีฝีมือ ค่าจ้างที่เหมาะสม โครงสร้างพื้นฐานที่ดีและการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ข้อตกลงการค้าเสรีได้รับการอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้จะยังเพิ่มความได้เปรียบอีกมากมายต่อไปในอนาคต

“ปัจจัยเหล่านี้ รวมทั้งความจริงที่ว่าอินเดียและประเทศไทย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และการจัดงาน Manufacturing Expo 2011 โดยรี้ด เทรดเด็กซ์จะอำนวยประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ฝ่ายจากนโยบายร่วมกันในการปรับปรุงภาคการผลิตของเรา ดังนั้น รัฐบาลอินเดียและหน่วยงานส่งเสริมสินค้าวิศวกรรมส่งออกในอินเดียตัดสินใจให้การสนับสนุนผู้ร่วมจัดแสดงจากอินเดีย โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้เข้าร่วมทุกราย”

ภัสการ์ ซาการ์ ผู้อำนวยการบริหารและเลขาธิการ หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกสินค้าวิศวกรรมอินดีย หรือ อีอีพีซี อินเดีย (EEPC India) กล่าวถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียที่โดดเด่นในระดับโลก โดยเฉพาะการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Nano รถยนต์ราคาถูกที่สุดในโลกเมื่อเดือนมกราคม 2551 และการซื้อกิจการรถยนต์แบรนด์ จากัวร์ และ แลนด์ โรเวอร์ ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน โดยย้ำให้เห็นถึงภาพรวมสั้นๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียแบ่งออกเป็นเซกเมนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ผู้โดยสาร รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์สองล้อ สำหรับโครงการลงทุนหลักๆ จะเป็นโครงการรถยนต์ขนาดเล็กจากผู้ผลิตระดับโลก เช่น โตโยต้า จีเอ็ม ฟอร์ด นิสสันและโฟล์คสวาเก้น ยอดขายชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเติบโตขึ้น 20% ในช่วงปี 2547-2552 โดยในปีการเงิน 2552 มีมูลค่าถึง 15,200 ล้านดอลลาร์จากอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่ง ขณะที่ยอดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของอินเดียมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี 24% ระหว่างปี 2548-2549 แตะระดับ 3,800 ล้านดอลลาร์

ในส่วนของโครงสร้างตลาด ภาคชิ้นส่วนยานยนต์ในอินเดียมีการพัฒนาเป็นอย่างดีและผลิตชิ้นส่วนหมวดหลัก ๆ ทั้งหมด เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์มีสัดส่วน 31% ของตลาดตามมาด้วยชิ้นส่วนระบบส่งถ่ายกำลังและระบบพวงมาลัย 19% ชิ้นส่วนระบบกันสะเทือนและระบบเบรก 12% อุปกรณ์ 10% และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า 9%

“สำหรับงานแมนูแฟคเจอร์ริ่ง เอ็กซ์โป 2011 ผมเชื่อว่าเป็นเวทีที่เหมาะสำหรับนักธุรกิจในประเทศไทยและในอาเซียนที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคยานยนต์ งานแสดงครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์และยกระดับธุรกิจระหว่างอินเดียกับภูมิภาคอาเซียน หลังจากงานแสดงครั้งนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และจะได้เห็นการเคลื่อนไหวของทุนอินเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

ชัยณรงค์ ลิมป์กิตติสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทรี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงานแมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2011 (Manufacturing Expo 2011) ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2554 ณ ศูนย์ไบเทค บางนา โดยกล่าวว่า เป็นการผสานกำลังงานแสดงสินค้า 7 งานรวมเป็นหนึ่งเดียว และในปีนี้จะเป็นงานแมนูแฟคเจอริ่ง เอ็กซ์โป ที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่เคยจัดมา เนื่องผู้จัดแสดงเทคโนโลยีและพาวิลเลี่ยนแห่งชาติหลายแห่งได้มีการขยายพื้นที่จัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่

งานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป ประกอบด้วย 4 งานแสดงสินค้าใน 4 รูปแบบพิเศษ คือ “อินเตอร์พลาส ไทยแลนด์” (InterPlas Thailand) งานแสดงเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและยาง “อินเตอร์โมลด์ ไทยแลนด์” (InterMold Thailand) งานแสดงเครื่องจักรเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูป "ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง” (Automotive Manufacturing) งานแสดงเครื่องจักรเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ “แอสเซมบลี เทคโนโลยี” (Assembly Technology) งานแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และการประกอบ โดยผู้ร่วมจัดแสดง 1,500 รายจาก 30 ประเทศจะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ล่าสุดต่อผู้ซื้อกว่า 38,000 ราย ซึ่งจะมาหาความรู้ใหม่ในวงสัมมนาและการประชุมภายในงาน เช่น Automotive Summit และ Manufacturing Gallery รวมทั้งการประชุมย่อย 200 รายการ จัดโดย 15 องค์กรชั้นนำ

นอกจากนี้ยังมีงานแสดงร่วมอีก 2 งาน คือ “เนปคอน ไทยแลนด์” (NEPCON Thailand) งานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ “อินดัสเทรียล คอมโพเนนท์ แอนด์ ซับคอนแทรกติ้ง” (Industrial Components and Subcontracting) งานแสดงเพื่อการบริการรับเหมาช่วงการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

และสุดท้าย "INDEE Bangkok 2554" งานแสดงเทคโนโลยีและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอินเดีย เพื่อธุรกิจการรับช่วงการผลิตไทย โดยกลุ่มทุนจากอินเดียประมาณ 150 บริษัท เนื่องจากอินเดียได้รับการยกย่องว่าเป็นฮับการผลิตและเป็นคู่ค้าสำคัญ เราเชื่อว่า นักอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์จากการร่วมจัดงานในพื้นที่เดียวกันนี้ ผู้ร่วมจัดแสดงจากอินเดียจะได้พบกับลูกค้าที่คาดหวังและผู้รับเหมาช่วง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และจากทั่วอาเซียนและประเทศอื่นๆ และนี่คือโอกาสพิเศษสำหรับนักอุตสาหกรรมการผลิตไทยที่จะได้เข้าสู่ตลาดอินเดียมากขึ้น โดยการพบปะกับผู้ร่วมจัดแสดงในงาน INDEE Bangkok เพื่อศึกษาความต้องการและแผนธุรกิจ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่นำมาแสดง และมองหาผู้รับเหมาช่วง รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับหน่วยงาน BUILD จัดบริการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matchmaking) ช่วยให้หาพันธมิตรธุรกิจได้ง่ายขึ้นและนัดหมายพบปะล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ บริการนี้ช่วยให้มีการจับคู่ธุรกิจแล้วกว่า 300 คู่ และมีการยืนยันแล้วจากคณะผู้แทนธุรกิจในต่างประเทศได้แก่ จีน, อินเดีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ศรีลังกา, ตุรกี, เวียดนาม และอีกหลายประเทศที่จะมาร่วมงานนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น