xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน “ทวงคืน ปตท.” ตอนที่ 3 ฉ้อฉลผิดเงื่อนไข แต่ ปตท.แสร้งทำไม่รู้เห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แท้จริงแล้วการกระจายหุ้น ปตท.โดยมิชอบนั้น มีหลักฐานยืนยันความผิดปกติมานานแล้ว หากแต่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และฝ่ายการเมืองกลับไม่นำพา จึงทำให้เหตุการณ์ฉ้อฉล “ปล้นสิทธิ” ที่ประชาชนทั่วไปควรจะได้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป

หลักฐานมัดบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าขาดความโปร่งใส ไม่ดำเนินตามธรรมาภิบาล และยังเป็นเครื่องมัดว่ามีการสมคบกันปล้นเอาสิทธิที่ควรได้ของประชาชนไปจากการกระจายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ “หนังสือชี้ชวน” การกระจายหุ้นซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2544

หนังสือชี้ชวนฉบับดังกล่าวถือเป็น “เอกสารมหาชน” และเป็นสัญญาประชาคมของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ให้ไว้แก่ประชาชนตลอดถึงผู้จองซื้อรายย่อยทุกคน เพื่อความเป็นธรรม จึงเป็นสาระสำคัญที่จะต้องได้รับการปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

หนังสือชี้ชวน บ่งบอกชัดเจนบอกถึงวิธีจัดสรรหุ้นดังนี้ คือ ผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (ซึ่งก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารอื่นๆ) จะใช้หลักการจัดสรรให้ผู้จองซื้อก่อนจ่ายเงินก่อนมีสิทธิ์ได้รับจัดสรรก่อน (First Come Fist Serve) โดยข้อมูลการจองซื้อนั้นจะต้องปรากฏที่ศูนย์กลางข้อมูลที่ผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้น (ธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งสิทธิ์นี้บังคับใช้กับผู้จองซื้อรายย่อยทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อความต่อไปในหนังสือชี้ชวน ลงรายละเอียดเงื่อนไขขั้นตอนการจองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และรัดกุมมาก เช่นกล่าวว่า โดยผู้จองซื้อจะต้องกรอกรายละเอียดการจองซื้อในใบจองซื้อหุ้นสีน้ำเงินให้ถูกต้องครบถ้วนชัดเจน พร้อมลงลายมือชื่อ/ผู้จองซื้อหนึ่งรายสามารถยื่นใบจองซื้อได้ครั้งละหนึ่งใบจองเท่านั้นและจะต้องชำระเงินค่าจองซื้อครั้งเดียวเต็มจำนวนที่จองซื้อ ณ วันจองซื้อที่ราคา 35 บาทต่อหุ้น/ผู้จองซื้อจะต้องเข้าแถวตามวิธีการหรือรูปแบบที่ตัวแทนจำหน่ายหุ้นได้จัดเตรียมไว้ในแต่ละสถานที่/เจ้าหน้าที่ที่รับใบจองซื้อหุ้นจะทำการเรียกผู้ประสงค์จองซื้อเพื่อดำเนินการจองซื้อตามลำดับ/โดยในการจองซื้อเจ้าหน้าที่ที่รับจองซื้อหุ้นจะลงลำดับเลขที่ในการจองซื้อลงในใบจองซื้อหุ้นทุกใบและลงลายมือชื่อรับจองเพื่อเป็นหลักฐานในการจองหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อ/ฯลฯ และวิธีการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนโดยเคร่งครัด และตัวแทนจำหน่ายหุ้นจะปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นให้ถูกต้องและชอบธรรมด้วยความซื่อสัตย์และยุติธรรม เพื่อให้ผู้จองซื้อได้รับความสะดวกในการจองซื้อหุ้น และมีโอกาสจองซื้อหุ้นได้โดยเท่าเทียมกัน

แต่ในความเป็นจริง เงื่อนไขรายละเอียดตามหนังสือชี้ชวนซึ่งเป็นเอกสารสัญญามหาชน กลับถูกฉีกทิ้ง

กรณีความผิดปกติดังกล่าวถูกรายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ระบุว่า มีผู้จองซื้อหุ้นรายย่อยจำนวน 854 ราย สมคบกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมีผู้จองซื้อหุ้นรายย่อยจำนวน 4 ราย สมคบกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งธนาคารทั้งสองบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนรับจองซื้อหุ้นรายย่อยจากประชาชนทั่วไป การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้จองซื้อหุ้นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนั้นได้เปรียบผู้จองซื้อรายอื่น

แทนที่จะทำเรื่องง่ายๆ แก้ปัญหาที่เกิดโดยพลัน แต่ผู้บริหารของ ปตท.กลับไม่ทำ! อาจเพราะว่าไม่อยากให้เหตุการณ์ที่สังคมจับตาลุกลามบานปลายออกหรือกระไรไม่สามารถทราบได้ แต่ที่สุดแล้วผู้บริหารของ ปตท.กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีการดำเนินการละเมิดเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนที่ตนกำหนดขึ้น

เอกสารบรรยายคำฟ้องของมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน กล่าวโทษบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ว่า “บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้จองซื้อรายอื่น” เนื่องจากว่า ปตท.ควรจะปฏิเสธไม่สนองรับจองหุ้นที่กระทำโดยฉ้อฉลดังกล่าวยิ่งมื่อทราบว่าการจองซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นไปโดยกลฉ้อฉลก็ชอบที่จะใช้สิทธิ์บอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าว แต่ผู้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หาได้กระทำเช่นว่านั้นไม่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีผู้จองจำนวน 863 ราย กระทำไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข แต่กลับสวนทางโดยการออกใบหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยกลุ่มดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันใบจองซื้อที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอจองซื้อหุ้นที่ตนเองเป็นผู้ประกาศไว้

หลักฐานชุดต่อมา ในคำฟ้องได้พบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ระบุหนังสือชี้ชวนอีกเรื่องหนึ่งก็คือมีผู้ยื่นใบจองมากกว่า 1 ใบจองจำนวน 428 รายรวมแล้วมากถึง 67,357,600 หุ้น ผู้จองทั้ง 428 รายทำผิดเงื่อนไขและเอาเปรียบผู้จองรายอื่นๆ โดยตรง แต่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทราบเรื่องแล้วก็ยังเพิกเฉย ทั้งๆ ที่ควรปฏิเสธการจองซื้อที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนแถมยังได้ออกใบหุ้นให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยจำนวน 428 ราย ดังกล่าวอีกต่างหาก

ลักษณะการกระทำผิดของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทั้งสองกรณีคล้ายคลึงกัน คือ เมื่อพบการกระทำผิดเงื่อนไขการจองซื้อ ทั้งเรื่องการใช้เทคนิคเอาเปรียบก่อนเวลาและการสั่งจองมากกว่าสิทธิที่คนอื่นๆ ได้รับ แต่ ปตท.ก็ยังแสร้งทำไม่รู้เห็นปล่อยให้เรื่องราวฉ้อฉลเงียบหาย และให้ผู้ที่ผิดเงื่อนไขได้ประโยชน์ไป

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินจึงฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้หุ้นของผู้จองซื้อก่อนเวลา 09.30 น.ของวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 จำนวน 863 ราย และผู้ยื่นจองซื้อหุ้นของผู้ซื้อรายย่อยมากกว่า 1 ใบจอง รวม 428 ราย ดังกล่าวข้างต้นกลับคืนเป็นของกระทรวงการคลังต่อไป พร้อมๆ กับคำฟ้องในประเด็นอื่นอีกหลายประเด็นที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น