xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดร.ฟ.ท.เด้งขึ้นค่าโดยสารชั้น3สั่งคิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-บอร์ดร.ฟ.ท.ตีกลับโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 สั่งทำตัวเลขใหม่ คิดตามต้นทุนที่แท้จริง ทั้งเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน “ยุทธนา”เผยเสนอขอปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถชั้น 3 โดยเทียบเคียงค่าโดยสารของ รถบขส. แต่บอร์ดไม่เห็นด้วยและต้องให้มีคนกลางเช่น กรมขนส่งฯและคมนาคมร่วมด้วย คาดอีก 1 เดือนสรุปเสนอใหม่ คาดขึ้นไม่เกิน30 % จากปัจจุบันเก็บ 21สต./กม.

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ที่มีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมยังไม่พิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟใหม่ที่เสนอ โดยบอร์ดให้ฝ่ายบริหารกลับไปจัดทำข้อมูลและตัวเลขค่าโดยสารใหม่ โดยเฉพาะรถชั้น 3ให้คำนวณตามต้นทุนที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ทั้ง ราคาน้ำมัน, อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ พร้อมกันนี้จะต้องมีคนกลางเช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกระทรวงคมนาคมเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งหากจะปรับค่าโดยสารขึ้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30% เพราะการขนส่งผู้โดยสารมีคู่แข่ง ทั้งรถ บขส.และเครื่องบินซึ่งประชาชนสามารถเลือกใช้บริการได้โดยคาดว่าจะปรับตัวเลขแล้วเสร็จเสนอที่บอร์ดอีกครั้งในเดือนส.ค.นี้

“โครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟที่เสนอบอร์ดนั้น ใช้ค่าโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปรียบเทียบเพราะเห็นว่าเป็นบริการที่แข่งขันกัน แต่บอร์ดเห็นว่าไม่ถูกต้อง รถไฟควรคิดค่าโดยสารจากต้นทุนที่แท้จริงของตัวเองจะไปดูค่าโดยสารของคู่แข่งไม่ได้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1เดือนน่าจะสรุปเสนอบอร์ดได้ทั้งนี้ตามกฎหมายบอร์ดมีอำนาจในการอนุมัติแต่การจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นต้องขึ้นกับกระทรวงการคลังและรัฐบาลด้วย”นายยุทธนากล่าว

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ต้นทุนในการให้บริการรถไฟชั้น 3 อยู่ที่ 60 สต./กม.นั้นคำนวณจากฐานราคาน้ำมันดีเซลที่ 18 บาทต่อลิตร แต่รถไฟเก็บค่าโดยสารจริงที่ 21 สต./กม. ส่วนบขส.เก็บที่ 1 บาท/กม.แต่ในการคำนวณโครงสร้างค่าโดยสาร 5-10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะต้องใช้ราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตร

นายยุทธนากล่าวว่า ปัจจุบันที่ ร.ฟ.ท.มีรายได้จากค่าโดยสารประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี โดยกระทรวงการคลังจ่ายชดเชยการขาดทุนจากการเดินรถเพื่อบริการสาธารณะ หรือบริการเชิงสังคม (Public Service Operating : PSO) ให้ ร.ฟ.ท. อีกประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 42 ล้านคนต่อปี คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี มีรายได้จากค่าขนส่งสินค้าประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2 % เท่านั้น

ทั้งนี้ คาดว่าหลังการปรับปรุงตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟฯ ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2553-2557 วงเงินลงทุนรวม 176,808.28 ล้านบาทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4,400 ล้านบาทต่อปี มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึเป็น 4% เนื่องจาก มีการจัดหาหัวรถจักรเพิ่มอีก 52 หัว ทำให้รถจักรรวมกว่า 200 หัว นอกจากนี้ความเร็วรถโดยสารจะเพิ่มจาก 80 กม./ชม.เป็น 100กม./ชม.ส่วนรถสินค้าจะเพิ่มจาก 50-60 กม./ชม.เป็น 80 กม./ชม.
กำลังโหลดความคิดเห็น