ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลอดสัปดาห์ ก่อนที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง เชื่อว่าหลายคนยังสงสัย ! กับ “รายการตอบโจทย์” ทั้ง 2 ตอน เมื่อวันที่ 18-19 ก.ค. 54 เวลาสี่ทุม ทางถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่“ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” พิธีกร บินไปสัมภาษณ์ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. และนำมาออกอากาศร่วมครึ่งชั่วโมง รวมถึงการเสนอคลิปขึ้นเว็บไซต์ของสถานี บางคนถามในใจว่า เพื่ออะไร และอะไรคือ หัวใจสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะ
คนใน ”ไทยพีบีเอส” เล่าว่าหลังจากออกอากาศประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์เข้าไปต่อว่าต่อขานที่สถานี มีเจ้าหน้าที่บางรายยืนยันว่า “บางสายถึงกับขู่วางระเบิดสถานี”
อย่าง “บุญยอด สุขถิ่นไทย” รักษาการรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาถามรายการ “ตอบโจทย์” ถึง จริยธรรมและข้อบังคับของ “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” (ส.ส.ท.) ที่ร่างขึ้น
เขาตั้งคำถามว่า การเดินทางไปพบกับนักโทษหนีคดี ซึ่งทางการไทยต้องการตัวในโทษจำคุก 2 ปี ถือว่าเป็นบุคคลที่ควรติดต่อด้วยหรือไม่ และเมื่อทราบหลักฐานที่อยู่ ต้องแจ้งให้ทางการทราบด้วยหรือไม่
เขาอ้างว่า ตามหลักการและอุดมการณ์ สถานีโทรทัศน์แพร่ภาพกระจายเสียงและ แนวทางปฏิบัติ เพื่อธำรงจริยธรรมวิชาชีพของสถานี ไทยพีบีเอส ข้อ 11 ระบุว่า “แนวทางปฏิบัติในการรายงานทำข่าวอาชญากรรม หรือพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสาธารณะ”
โดยเฉพาะ ข้อ 11.4 เขียนว่า ไม่ควรสัมภาษณ์อาชญากร หรือผู้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากร แต่ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องสัมภาษณ์ ต้องขออนุมัติจากผู้บริหารฝ่ายข่าว หรือรายการก่อน และแม้ได้รับการอนุมัติแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้เนื้อหาการสัมภาษณ์ ส่อไปในทางสร้างความโดดเด่น ความชื่นชอบ ในอาชญากร ไม่เสนอเนื้อหาขั้นตอนกระบวนการ ในการกระทำผิด
มีคำถามต่อว่าไปให้นักโทษมาฟอกตัวเองออกอากาศ หรือ! เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร “ไทยพีบีเอส” ต้องตอบ
ถลุงงินภาษีประชาชน จากภาษีเงินบาป 2,000 ล้านต่อปี บินไปสัมภาษณ์ “นักโทษทักษิณ” ถึงดูไบ ก็เป็นอีกคำถามที่ “ไทยพีบีเอส” ต้องตอบ
ถามว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ “ไทยพีบีเอส” บุกไปสัมภาษณ์ “ทักษิณ” ก่อนกลับมารับฟังคำสั่งศาลเมื่อปี 2550 ก่อนที่จะมีร่างจริยธรรมและข้อบังคับ รวมถึง“คณะกรรมการและสภา ผู้ชมและผู้ฟัง” ช่องนี้ได้บุกไปดักสัมภาณ์ที่ประเทศฮ่องกง มาแล้วครั้งนั้นถึงขั้นลงทุนติดตามทีม ส.ส.พลังประชาชนไปด้วย ทราบว่าครั้งนั้น “ไม่มีการนัดหมายล่วงหน้า”
ครั้งนั้น ฝ่ายบริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อ้างว่า การรายงานข่าวอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้น เกิดขึ้นจากการประชุมเพื่อเสนอมุมมองในการรายงานข่าวให้ประชาชนได้ข้อมูล ข่าวสาร โดยใช้ไอเดียที่แตกต่างในการเสนอข่าวดังกล่าวตั้งแต่การตั้งทีมถ่ายทอดสด ตามสถานที่สำคัญที่อดีตนายกฯ ทักษิณ จะต้องไป อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ ศาลฎีกา และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และการส่งทีมข่าวไปยังฮ่องกงเพื่อรายงานข่าวนั้น เนื่องจากข่าวการกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นข่าวที่ทั้งประเทศให้ความสนใจและการเลื่อนกำหนดกลับก่อน
“เพื่อเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและตอบโจทย์การเป็นทีวีสาธารณะ นอกจากนี้ยังได้รับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของอดีตนายกฯ และการยืนยันจากปากเรื่องการไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป”
ครั้งนั้น “ไทยพีบีเอส”อ้างว่ามีความพึงพอใจในการเสนอข่าวดังกล่าวพอสมควร แต่รายการ “ตอบโจทย์”ในปี 2554 มีระเบียบการรองรับชัดเจนตามที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวอ้าง
ล่าสุดทราบจาก “กิตติชัย ใสสะอาด” ในฐานะประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ส.ส.ท. แจ้งว่า ในวันที่ 30 ก.ค. ที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกต สมาชิกกว่า 50 คนจะร่วมประชุม เพื่อกำหนดท่าทีต่อ กรณีนี้ รวมถึงดูแนวทางที่ทาง อำนวยการสถานี รวมทั้งฝ่ายขาว และผู้ที่เดินทางไปสัมภาษณ์ควรจะรับผิดชอบ อย่างไร
เบื้องต้น ไม่มีหนังสือร้องเรียนมาอย่างเป็นทางการแต่มีการส่งข้อความผ่านอีเมลล์มาเป็นจำนวนมาก มายังตนและสมาชิกหลายคนให้มีการตรวจสอบ เพราะเบื้องต้น ทราบว่า ไม่มีความเหมาะสม ที่เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา เบื้องต้นยังไม่มีทราบว่ามีความผิดอย่างใด
คาดว่าจะมีการประสานงานไปยัง “เทพชัย หย่อง” ผู้อำนวยการสถานีและ “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” พิธีกร รายการตอบโจทย์ มาให้ข้อมูลในเบื้องต้น
“อาจจะมีการถามถึงจุดประสงค์ที่ต้องเดินทางไปสัมภาษณ์ถึงดูไบ รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆกับผู้อำนวยการสถานีโดยตรง”
เบื้องลึก เบื้องหลังนอกจากนี้ มีการตั้งคำถามว่า ทีมงานชุดที่ไปสัมภาณ์ เดินทางกลับจากนครดูไบเมื่อวันที่ 7 ก.ค. เพื่อนำมาออกอากาศในคืนวันที่ 11 ก.ค. เป็นตอนแรก แทนที่จะเป็นวันที่ 18 ก.ค. มีการยืนยันว่า มีคำสั่งจากฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสให้ “ชะลอ”การออกอากาศออกไปก่อนจริง แต่กลับมีการปล่อยให้ออกอากาศได้ในวันที่ 18 ก.ค. เพราะสาเหตุใด! เป้นอีกเรื่องที่ผู้บริหาร “ไทยพีบีเอส”ต้องตอบจะอ้างว่าเป็นสร้างความ “สมดุล”ในการเชิญบุคคลต่างๆมาสัมภาษณ์หรืออ้างแบบที่ฝ่ายบริหารเมื่อปี 2550 เคยให้สัมภาษณ์
หรือ!ความไม่จัดเจนในการบริหารจัดการข่าว เท่านั้น
อีกประเด็นที่สังคมกำลังจับตามองกับเรื่อง' “สินบนสื่อ” หลังจากเชิญสื่อมวลชนหลายสำนักมาให้ข้อมูลเบื้องต้น กรรมการบางคนถึงกับออกอาการ ขู่! คนมาให้ข้อมูล อย่างกับว่า เป็นคนทำผิดเสียอย่างนั้น “รู้ไหมสื่อ 8 สำนักนั้นเขาทำข่าวมานานขนาดไหน” แล้วยังไง!
ล่าสุด มีการขยายเวลาสอบเพิ่ม”สินบนสื่อ”อีก15วัน
โดย คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แจ้งว่า ได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้วเมื่อวันที่ 25 2ก.คที่ผานมา
“พรชัย ปุณณวัฒนาพร” เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชี้แจงว่า นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปอีก 15 วัน ถึงนายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยมีเนื้อความดังนี้
“ตามที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ภายใน 15 วันนั้น
ในการนี้ ขอเรียนให้ทราบว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วพอสมควร แต่เนื่องจากมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบอีกมากมายยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบครั้งนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนด และมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบออกไปอีก 15 วัน และจะรายงานผลให้ทราบโดยเร็ว”
ขณะที่หนังสือดังกล่าวจะถึงที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2554 นี้.