xs
xsm
sm
md
lg

ยาขมจาก พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ 44 ที่นั่ง ในบัญชีรายชื่อที่ 44 คือ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท คนที่ 45 ที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์คือ นายวัชระ เพชรทอง เนื่องจากผู้สมัครรายชื่อที่ 24 คือ นายสุวโรช พะลัง เสียชีวิตก่อนวันเลือกตั้ง

มีอดีตผู้แทนราษฎร มีคนสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ต่อจากอันดับที่ 45 ต้องรอคิวต่อไป เป็นต้น อันดับที่ 46 นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ อันดับที่ 47 นายอิสรา สุนทรวัฒน์ อันดับที่ 48 นายสัมพันธ์ ทองสมัคร อันดับที่ 62 ดร.สืบแสง พรหมบุญ อันดับที่ 78 นายวัชรินทร์ เกตะวันดี อันดับที่ 96 นายสำเร็จ ภูนิคม อันดับที่ 99 นางเตือนใจ นุอุปละ อันดับที่ 124 นางนิภา พริ้งศุลกะ และอันดับสุดท้าย นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ

ท่านที่อยู่อันดับท้ายๆ (สูงกว่าอันดับที่ 44/45) อาจจะเป็นเพราะท่านอยากจะวางมือทางการเมือง อาจจะเพราะปัญหาสุขภาพ ความเป็นผู้สูงวัย แต่ก็อาจจะมีบ้างอย่างที่นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุลว่าเอาไว้

“ถ้าเราคิดว่าพรรคเราจะมีโอกาสดีก็ต้องหวัง ที่มาต้องดี คนที่มาต้องมาด้วยใจที่อยากจะทำงาน มุ่งมั่นและมีความสามารถ ผมอยากมีคนอย่างนายวิรัช ร่มเย็น เยอะๆ ที่ไม่ยอมอะไรที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่คนอื่นเงียบกริบกันหมด

ผมไม่อยากให้มีบางอย่างเกิดขึ้นในพรรคเหมือนคุณสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส. 13 สมัย อยากลง ส.ส.นครศรีธรรมราช แต่พรรคให้ขึ้นบัญชีรายชื่อลำดับที่ 48 เขาจะรู้สึกอย่างไร กลืนเลือดหรือไม่

ทำไมพรรคต้องสูญเสียคนเก่าคนแก่อย่างนายสัมพันธ์ และหลายคนที่ตกไป หลายคนเป็นคนใหม่ๆ ทำไมอยู่ลำดับที่ 10 กว่า 20 กว่า ก็ไม่มีคำตอบ คิดว่าอย่างไรน่าจะให้อยู่ลำดับที่ 30 ก็ยังดี คุณสัมพันธ์จึงรู้สึกว่าเหมือนถูกกำจัดออกไป”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์พรรคอย่างนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักหรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สรุปบทเรียนกรณี 10 มกราคม จนทำให้รองหัวหน้าพรรค นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรณ์ และเลขาธิการพรรค นายวีระ มุสิกพงศ์ จูงมือกันออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคประชาชน ปล่อยให้นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค และตำแหน่งตกทอดมาถึงนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในที่สุด

ยุคสมัยที่นายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ การทะเละเบาะแว้งกันภายในพรรคเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งได้ฉายาว่า พรรคประชาธิกัด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้ชื่อว่า ฤาษีเลี้ยงลิง

พรรคประชาธิปัตย์เมื่อถึงยุคนายชวน หลีกภัย เป็นยุคที่ผ่านบทเรียน 10 มกราคมมาแล้ว ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเองในพรรคน้อยลง ตัวหัวหน้าพรรคคือนายชวน หลีกภัย ก็พยายามรักษาตัวเองไม่ให้มีเรื่องเสียหาย ให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ได้

วัฒนธรรมนี้ก็ตกทอดมาถึงยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนหนุ่ม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ข้อดีของวัฒนธรรมนี้ก็คือ ทำให้คนทั้งหลายมองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีระเบียบ มีวินัย ดูเรียบๆ ร้อยๆ ไม่อีรุงตุงนังเหมือนยุคก่อนโน้น

แต่ข้อเสียก็คือ ขาดความเป็นประชาธิปไตย

“บางคนอยากแสดงความคิดเห็น แต่รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ เราเห็นอยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนั้น เราเคยพูดไว้จะไม่มีการแก้ไข แต่อยู่ๆ กระโดดไปแก้ ก็มีคำตอบว่าไปรับปากเขา จนท่านชวนต้องพูดว่า หวังว่าคงไม่รับปากถึงกับว่าให้คอร์รัปชันกันได้นะ

สุดท้ายพิจารณาเรื่องนี้กันที่กระบี่ มีผู้อภิปรายไม่เห็นด้วย 31 คน เห็นด้วยเพียงคนเดียวก็ยังพยายามจะโหวต คนอีกจำนวนหนึ่งเขาเตรียมอะไรไว้ จนท่านชวนต้องตัดสินใจโยนมากรุงเทพฯ

เมื่อมาโหวตกันในพรรคเสียงออกมาไม่เห็นด้วย 82 เสียง เห็นด้วย 48 เสียง ก็มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้น มีการล็อบบี้ มีการคาดโทษเกิดขึ้น สุดท้ายก็พลิกผัน” นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กล่าว

เป็นการกล่าวอย่างองอาจ กล้าหาญ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ บางคนเริ่มรู้สึกว่าถ้าเราไม่ตามใจ เราพูดมากวันหนึ่งจะถูกกำจัดแบบเดียวกัน แต่ผมไม่แคร์ ไม่กี่วันก็อายุ 70 ปีแล้ว มาถึงบั้นปลายทางการเมืองแล้ว”

วันที่ 6 สิงหาคมนี้พรรคประชาธิปัตย์จะประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบที่พรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

และเมื่อซาวเสียงแล้ว สมาชิกพรรคยังอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไปอีก เลขาธิการพรรคก็คงจะยังอยากให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหน้าที่ต่อไป แต่ดูเหมือนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่รับ เลขาธิการพรรคคนใหม่ก็จะเป็น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายวิทยา แก้วภราดัย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช คนใดคนหนึ่ง

นายอภิรักษ์ มีปัญหาตรงที่ถูกฟ้องร้องกรณีรถ เรือดับเพลิงสมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. คราวนั้นเพียง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ คราวนี้ยื่นฟ้องต่อศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะยังรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคหรือไม่ ส่วนคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ดูเหมือนจะถูกตั้งข้อรังเกียจว่า ท่าสูงอายุไปหน่อย เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีก็ถูกปรับออก พร้อมๆ กับนายไพฑูรย์ แก้วทอง โดยที่มีความผิด ไม่มีข้อบกพร่อง นอกจากอย่างเดียวคือ ความเป็นผู้สูงอายุ (ทำยังกะมันจะแก่ไม่เป็นอย่างนั้นแหละ)

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ และเชื่อว่าจะต้องขับเคี่ยวกับระบอบทักษิณไปอีกนาน (อย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าทักษิณจะตาย) ถ้าหากนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคคนต่อไปอีกของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปรับเปลี่ยนการทำงาน แนวคิด ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานก็อย่าได้หวังว่าจะเอาชนะพรรคตัวแทนของทักษิณได้

ศึกษาคำให้สัมภาษณ์ของนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ให้ดีๆ เถอะ นานมากแล้วที่คนอย่างนี้หายไปจากพรรคประชาธิปัตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น