xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะชนะสงครามแย่งประชาชน : ระบอบทักษิณหรือประชาธิปไตยอันมีมหากษัตริย์เป็นประมุข

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผู้เขียนขอนำบทความเก่าตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2549 มาลงซ้ำ เพิ่มข้อความเฉพาะวรรคแรกนี้เท่านั้นว่า แม้กระทั่งการต่อสู้ในต่างประเทศและจากต่างประเทศเข้ามาไม่ว่าจะโดยสื่อ โดยรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยล็อบบี้ยิสต์ ระบอบทักษิณล้วนแต่ขีดเส้นทึบมาสู่จัดตั้งและประชาชนทั้งสิ้น ในขณะที่ทุกรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ นักวิชาการของไทยมีแต่ส่งจุดไข่ปลาที่คลุมเครือและไร้ความหมายออกไปโดยตลอด ผลจึงปรากฏในวันที่ 3 กรกฎาคม

เข้าใจระบอบทักษิณ

การยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 มิใช่อวสานของระบอบทักษิณเป็นแต่เพียงความสำเร็จในการปลดทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ระบอบทักษิณ มิได้ประกอบด้วยตัวตนของทักษิณเท่านั้น ยังประกอบด้วยระบบย่อยต่างๆ ทั้งที่เป็นระบบความคิด ระบบพฤติกรรม ตลอดจนโครงสร้าง องค์ประกอบหรือกลไกของระบบต่างๆ มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบราชการ ระบบเศรษฐกิจประชานิยม ระบบการปกครองท้องถิ่น และระบบจัดตั้งของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบต่างๆ เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน สโมสรหนึ่งเก้า ชมรมและสหกรณ์ต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งมวลชนหรือกลไกคู่ขนานของระบบนั้นๆ

เครือข่ายหรือระบบย่อยของระบอบทักษิณนี้ยังเข้มแข็งเหนียวแน่นอยู่ ถึงแม้พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ หรือผู้แทนของพรรคไทยรักไทยแตกพรรคหนีไป หรือถูกห้ามมิให้เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ระบบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังเหลืออยู่ และยังมีโอกาสเติบโตต่อไป

ระบบเหล่านี้ต่างหากคือความเข้มแข็งและกำลังของระบอบทักษิณ และมีความสำคัญยิ่งกว่า ส.ส.ซึ่งเป็นเพียงนักเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนไปมาตามแก๊งเลือกตั้ง ต่างๆ แบบ “ชนะไหนเข้าด้วยช่วยกระพือ” แล้วแต่กฎเกณฑ์และสถานการณ์การเมืองในขณะหนึ่งๆ ในกรณีรุนแรงที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก คือ ส.ส.เก่าทั้ง หมดไปเพราะต้องห้าม ไม่เป็นการยากที่จะเลือกผู้สมัครใหม่ล้วนๆ เอาไว้สมทบกับอดีต ส.ส.เก่าที่แยกย้ายเพื่อรวมกลุ่มกันทีหลังเมื่อถึงยุค “มหาประชาชัย”

พรรคไทยรักไทยมีสโลแกนว่า “ไทยรักไทยหัวใจคือประชาชน” คำขวัญนี้มิใช่ political rhetoric ธรรมดา หากมีการตอกย้ำตามทฤษฎีเรียนรู้ Pavlovian Learning Theory ด้วยคำถามที่เป็นรูปธรรมว่า (ในอดีตและปัจจุบัน) ใครคือผู้ให้แก่ประชาชนมากกว่ากัน เพื่อที่จะให้ได้คำตอบที่เป็นหลักคิดว่าประชาชนได้รับจากใครมากที่สุด ประชาชนก็ต้องจงรักและตอบแทนผู้นั้นมากที่สุด

ความสำเร็จของประชานิยมนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการระยะสั้นที่ให้ความติดใจทันที (immediate gratification) บวกกับลัทธิบูชาผู้นำ (cult of personality) ถ้าสองสิ่งนี้ถูกทอนอายุให้สั้นลง ก่อนที่ประชาชนจะมองเห็นความล้มเหลวและเสื่อมศรัทธาลงเองในระยะยาว ประชานิยมมักจะตีโต้เอาชัยชนะกลับคืนมาได้เสมอ และใช้เวลาไม่นาน

โอกาสที่ประชานิยมจะกลับมาไม่สำเร็จมีน้อยมาก เพราะในระยะข้ามผ่านหรือจุดเปลี่ยน รัฐบาลที่ตกอยู่ใต้อำนาจของชนชั้นสูงมักจะมีลักษณะอืดอาด อึดอัดและถือตัว เข้าไม่ถึงและไม่สามารถให้ความติดใจทันที (immediate gratification)และความเป็นธรรมแก่ประชาชนพร้อมๆ กันได้ ซ้ำจะมีเหตุให้เกิดความแปลกแยก (alienation) กับปัญญาชนและชนชั้นกลางได้สูง

โฉมหน้าของสงครามแย่งชิงประชาชนระหว่างระบอบทักษิณกับระบอบประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีและการจัดตั้งของคู่ต่อสู้ทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐ (บาล) กับฝ่ายทักษิณ

การจัดตั้งของทั้ง 2 ฝ่ายมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่เป็นหลักๆ อะไรบ้าง เพราะชัยชนะในสงครามประชาชนขึ้นกับความสามารถในการใช้จุดแข็งของตนไปสยบจุดแข็งของฝ่ายตรงกันข้าม และใช้จุดอ่อนของฝ่ายตรงกันข้ามให้ทำลายตนเอง

- ขณะนี้จุดแข็งของฝ่ายรัฐมีอะไรบ้างที่เป็นหลัก ตอบได้ว่าคืออำนาจรัฐ

- จุดแข็งของฝ่ายทักษิณเล่าคืออะไร ตอบได้ว่าคือหลักคิดและมวลชนจัดตั้ง และองค์กรอำพราง

- ส่วนจุดอ่อนของรัฐบาลนั้นคือการขาดหลักคิด และไม่สามารถจัดการกับมวลชนของทักษิณ ซึ่งยังแฝงตัวอยู่ในกลไกของระบบต่างๆ อย่างเป็นปกติสุขได้

- สำหรับจุดอ่อนของทักษิณ คือวิบากกรรมของทักษิณเอง การขาดอำนาจรัฐ และข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว (ชั่วคราว)

ในการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายนี้ยังมีปัจจัยที่ 3 คือแรงบีบและแรงดึงจากต่างประเทศอีกด้วย เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ นอกจากจะสรุปว่าฝ่ายที่ได้เปรียบคือฝ่ายทักษิณ

สรุป : จุดจบของรัฐบาลมิใช่จุดจบของระบอบทักษิณ
 

เข้าใจการยึดอำนาจ

การยึดอำนาจครั้งนี้ไม่มีคำเรียกอยู่ในปทานุกรมการเมือง เพราะเป็นการยึดที่ต่างจาก การยึดอำนาจ การรัฐประหาร การปฏิวัติ หรือ coup d' etat หรือ power seizure ในอดีต แต่อาจจะสงเคราะห์เรียกได้ว่า coup de grace คือการทำให้ตายโดยเฉียบพลันเพื่อให้พ้นความทรมาน หรือการปลดรัฐบาลอย่างฉับพลัน โดยปราศจาก violence แต่ถึงกระนั้นภาพหลอนของ military junta ก็จะตามมาทำลายประสาทฝ่ายรัฐและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอยู่ไม่วาย

บรรดาชนผิวขาวชาวต่างประเทศที่หยิ่งในความเหนือกว่าของวัฒนธรรมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ปัญญาชน หรือผู้นำรัฐบาล รวมทั้งนักวิชาการบริสุทธิ์หรือปัญญาชนหอคอยงาช้างเมืองไทย ก็จะมองเห็นเหมือนกันว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทหารทำลายประชาธิปไตยไทย โดยมองไม่เห็นว่า ภาคประชาชนและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ต่อสู้ขับไล่เผด็จการของระบอบทักษิณอย่างไม่ลดละมาเป็นเวลาปีเศษแล้ว ในที่สุดก็ได้พึ่งบารมีของในหลวง และกำลังใจจากพลเอกเปรม ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทัพบกตัดสินใจในวินาทีสุดท้ายก่อนที่ทักษิณจะทำการยึดอำนาจและปราบประชาชนด้วยกำลัง

ทักษิณได้ทำลายประชาธิปไตย บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ สถาบันนิติบัญญัติ สิทธิมนุษยชน ระบบราชการและกลไกในการถ่วงดุลตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปี จนเกือบจะไม่มีอะไรเหลือแล้ว นอกจากสัญลักษณ์อย่างเดียวคือการเลือกตั้ง

การโค่นล้มระบอบทักษิณโดยการสำแดงกำลัง (implied force) ครั้งนี้มิใช่การใช้กำลัง (violent overthrow of government by military force) ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว ที่กระทำได้และประสบความสำเร็จเพราะสมการดังต่อไปนี้

P+K+S+A ได้แก่ อำนาจของประชาชน P+บารมีของในหลวง K+กำลังใจจากรัฐบุรุษเปรม S+ กองทัพบก A ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นขบวนการที่มีส่วนร่วมและองค์ประกอบหลายฝ่าย มิใช่ ปรากฏการณ์ อัศวินม้าขาวของฝ่ายทหารแบบข้ามาคนเดียว พลเอกสนธิเป็น ผู้ที่เข้ามาในวินาทีสุดท้ายเพื่อลงมีดผ่าตัด ในห้องที่เตรียมไว้พร้อมสรรพทั้งระบบไฟ หมอดมยา ยาดม คณะแพทย์ พยาบาล และมีดผ่าตัดเป็นชุด คนเดียวจะมีความหมายอะไร ถ้าไม่มีการต่อสู้มาเป็นปี

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการ 19 กันยายนนี้ เกือบจะเหมือนกับ 24 มิถุนายน 2475 ในเรื่ององค์ประกอบ และการฉวยจังหวะปฏิบัติการ ต่างกันแต่ว่าผู้ที่มีส่วนร่วมกันทุกฝ่ายขาดความเป็นเอกภาพ และมองไม่เห็นว่า นี่คือโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งที่ 2 ซึ่งมีโอกาสดีกว่าครั้งแรก ที่จะพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง ภายใต้ร่มพระบารมี เพราะภาคประชาชนมีวุฒิภาวะทางประชาธิปไตยสูงขึ้นมาก กลุ่มขุนนางกับชนชั้นนำ (นอกจากบริวารทักษิณ) ไม่มีความขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ อุปสรรคมีอยู่เพียง 2 อย่าง คือ ระบอบทักษิณยังไม่ตาย และกรอบความคิดเก่า(old paradigm)ของหุ้นส่วนระหว่างชนชั้นนำกับขุนนางทหาร ที่ยังไม่ยอมปรับตัวไปสู่กรอบความคิดใหม่ (New Paradigm)

สรุป : กรอบคิดเก่าหลงว่า 19 กันยายน 2549 เป็นการยึดอำนาจ ประพฤติตนเป็นแบบนักยึดอำนาจ (old style military junta) ความเสี่ยงที่จะถูกกวาดล้างยึดอำนาจคืนมีสูง เพราะจะขาดภูมิคุ้มกันจากมวลชนและพลังประชาธิปไตยก้าวหน้า

เข้าใจการจัดตั้งรัฐบาล

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปัจจุบันคือกรอบคิดเก่าขนานแท้และดั้งเดิม ซึ่งมี 39 มาตราเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก 2475 แต่ล้าหลังกว่ามาก และเป็นเผด็จการมากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะตรึงรัฐบาลไว้กับกรอบความคิดเก่า แวดล้อมด้วยบุคคลเก่าๆ และไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติของความขัดแย้ง (contradiction) ในระบบการเมืองไทยได้ เว้นเสียแต่ว่านายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลจะใช้มาตรการทางบริหารและการเมืองตามกรอบความคิดใหม่เข้ามาแก้ โดยจัดตั้งรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และสมัชชาแห่งชาติ ให้สอดคล้องและรับใช้ความเป็นจริงทางการเมือง

ความเป็นจริงทางการเมืองนั้นก็คือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายทักษิณกำลังดำเนินอยู่ในรูปแบบของสงครามแย่งชิงประชาชน

ซึ่งถ้าหากยังดำเนินไปตามแนวโน้มที่มองเห็นอยู่ขณะนี้ ทำนายว่าระบอบทักษิณจะเป็นฝ่ายชนะ และใช้เวลาไม่นาน

รัฐบาลหมายรวมถึง ครม. สภานิติบัญญัติ และองค์กรจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ

สูตรและองค์ประกอบของการจัดตั้งรัฐบาลที่จะล้มเหลว ได้แก่สูตร EKG

EKG มิใช่วิธีตรวจหัวใจ แต่เป็นสมการอำนาจระบบเก่า ประกอบด้วย

E = Elite หรือ Establishment K= King หรือ Monarchy

G = Government

ต่างฝ่ายต่างก็กำนัลกันด้วยคำหวานว่ามีความผูกพันกันลึกซึ้ง และพูดจาเข้าใจกันดี ความจริงมิใช่ เพราะสายสัมพันธ์และการสื่อสารกันเป็นแบบเข้าๆ ออกๆ เหมือนจุดลูกน้ำ..........มีช่องว่างและช่องโหว่ให้สอดแทรกเข้าไปได้ แอบอ้าง และหลอกลวงกันได้ มิใช่ความสัมพันธ์เป็นเส้นทึบที่แนบแน่น และทำนายได้ predictable

เราจะต้องเปลี่ยนสมการจาก E+K = G มา เป็น P+E+K= G จึงจะสู้ระบอบทักษิณได้ P = People ซึ่งบัดนี้มิใช่ประชาชนธรรมดาที่ Marx ดูถูกว่าเป็น potatoes in the sack of potatoes แต่เป็น informed citizen coalition ประกอบด้วยประชาชน+NGO+ปัญญาชนผู้ประกอบวิชาชีพ+สื่อเสรี

อย่าลืมข้อเท็จจริงว่า E คือ ตัวอุปสรรคทำให้บารมีที่แท้จริงของ K ไปไม่ถึงประชาชน K เพียงถูกแอบอ้าง และจะถูกตำหนิในความผิดพลาดของ E ทั้งๆ ที่ K ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เพราะอะไร

เพราะวัฒนธรรมการเมืองไทย ไม่เปิดโอกาสให้ สายสัมพันธ์หรือการบังคับบัญชา command line กับการสื่อสาร communication ระหว่าง K กับ E หรือ K กับ G หรือแม้แต่ K กับ C (Privy Council) ลื่นไหลเป็นกิจวัตร จนกลายเป็นเส้นทึบ คงเป็นเพียงเส้นแบบจุดไข่ปลาแบบนี้ K......E, K.......G, K......C จึงถูกแทรกแซงทะลุออกทางช่องว่างและรูโหว่ระหว่างจุดต่างๆ มาโดยตลอด นั่นก็คือ การแอบอ้าง บิดเบือน หลอกลวง ขู่เข็ญ ในนาม K โดย K ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือแก้ตัวใดๆ ได้เลย แม้พระบรมราชวินิจฉัยและพระราชอำนาจตามจารีตประเพณีที่แท้จริงก็ถูกนำมาบิดเบือนและครอบงำ หากไม่สามารถเปลี่ยนจุดไข่ปลาเป็นเส้นทึบได้ ก็จะเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด อึมครึม ขาดความโปร่งใสและผิดพลาดบ่อยๆ

เส้นทึบได้แก่ สายสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องถูกต้องและเป็นทางการ Command Line และระบบสื่อสาร Communication ที่ Clear, Legitimate และ Predictable เส้นทึบนี้ รัฐบาลไม่มี แต่ทักษิณมีเต็มไปหมด โดยใช้ผลประโยชน์และหลักคิดร่วมเป็นเครื่องมือ

สรุป : การจัดตั้งรัฐบาลถ้าหากใช้สูตร EKG จะขาดพลังและพ่ายแพ้ทักษิณ ต้องใช้สูตร PEKG และในตัว P ควรมีเทพบุตรมารที่รู้เกมทักษิณอย่างแจ้งจบด้วยชาติและราชบัลลังก์จึงจะปลอดภัย

เข้าใจการต่อสู้

การต่อสู้ครั้งนี้ พลเอก สายหยุด เกิดผล วิเคราะห์ว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยที่แท้จริงกับประชาธิปไตยรวมศูนย์

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราเสียเปรียบ 2 ต่อ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงเรายังไม่มี แต่ประชาธิปไตยรวมศูนย์มีแล้ว คือระบอบทักษิณ

รัฐบาลต้องแบกน้ำหนัก 2 เท่า คือต้องสู้กับระบอบทักษิณ และต้องสร้างประชาธิปไตย แถมยังมีตัวถ่วงเดิม คือระบบราชการที่ผุพัง

สงครามที่สู้กันคือสงครามแย่งชิงประชาชน มียุทธศาสตร์หลัก ขึ้นอยู่กับกุญแจ 2 คำ คือ Information กับ Mobilization

แต่สงครามแย่งชิงประชาชนครั้งนี้แปลกกว่าทุกครั้ง และเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก คือ ฝ่ายที่โค่นล้างรัฐบาลได้เปรียบมี legitimacy ภายนอกมากกว่า มีฐานที่มั่นในประเทศมากกว่า มีเครื่องมือในการทำสงครามข่าวสารมากกว่าและดีกว่า มีฐานมวลชน (mass base) ที่จะระดม (mobilize) ได้กว้างกว่า สิ่งที่ทักษิณเสียเปรียบคือไม่มีอำนาจรัฐ แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจรัฐทำลายความได้เปรียบของทักษิณ อีกไม่นานทักษิณก็จะได้อำนาจรัฐ

อนึ่ง การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับผู้ต้านอำนาจรัฐ แม้เช่นกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ รัฐบาลจะต้องถูกมัดมือชก ไม่สามารถหลีกเลี่ยง การใช้ Low Intensity Warfare

โดยใช้กำลังทหารและตำรวจที่ไม่จัดเจน ทำการข่มขู่ปราบปรามฝ่ายต่อต้านเพื่อขยายฐานปกครอง และ body count ไม่ว่าจับเป็นหรือจับตาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้ง (contradiction) ภายในสูง และจะผลักมวลชนไปให้ฝ่ายต่อต้าน ซ้ำต้องแบกระบบราชการที่ผุพังดังที่กล่าวมาแล้ว

ในขณะที่ฝ่ายทักษิณสามารถใช้ Asymmetric warfare ซึ่งยืดหยุ่นกว่า สามารถเลือกยุทธวิธี สมรภูมิ และคู่ต่อสู้คนไหน เมื่อใดก็ได้

เข้าใจการเคลื่อนไหวทางสังคม

การเคลื่อนไหวสังคมเป็นขบวนการที่ไม่มีใครห้ามได้ และมีอยู่ 3 แบบคือ 1. มีระบบหรือ control 2. ตามยถากรรม หรือ open และ 3. แบบผสม

ในประเทศไทยการเคลื่อนไหวมักจะเป็นแบบที่ 2 คือคนยากคนจน เมื่อลำบากที่สุดก็ร้องทุกข์ขอความเมตตา แบบที่ 3 ก็คือมีองค์ประกอบภายนอก เช่น NGO หรือ การเมืองทั้งในและนอกมาจัดตั้ง แบบที่ 1 ได้แก่โครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งของรัฐบาล ในหลวง NGO ในและนอกประเทศ กลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ทั้งใต้ดิน บนดิน เช่น พรรคคอมมิวนิสต์และขบวนการผู้พัฒนาชาติไทย ที่เข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์และเป็น (กอง)กำลังให้พรรคการเมือง เป็นต้น

ถ้าหากรัฐบาลต้องการสู้กับทักษิณให้ได้ผล จะต้องเข้าร่วมกับขบวนการประชาชน เพื่อขยายฐาน information กับ mobilization ในการเคลื่อนไหวสังคมทั้ง 3 แบบ ฝ่ายรัฐจะต้องใช้การจัดตั้งจากภาคประชาชน และบุคลากรของรัฐที่ก้าวหน้าอย่างเต็มที่ จึงจะรับมือกลไกของระบบและระบอบทักษิณได้

การร่วมมือจะต้องมีลักษณะประจำ ต่อเนื่อง และเป็นทางการ ด้วยการมี communication และ command line แบบเส้นทึบมิใช่จุดไข่ปลา จึงจะประกันความน่าเชื่อถือ ทำนายทายทักได้

ภาพประกอบ

K = King E= Elite หรือ Establishment (Military+Business+Bureaucrat)

P=People (ประชาชนจัดตั้ง+ปัญญาชน+สื่อเสรี+NGO)

เส้นทึบ คือสายสัมพันธ์และระบบสื่อสารที่ดีแทรกแซงและบิดเบือนยาก

เส้นจุดไข่ปลา คือ สายสัมพันธ์และระบบสื่อสารที่เลวมีช่องโหว่และช่องว่างมาก

เส้นผสม คือสายสัมพันธ์และระบบสื่อสารที่บกพร่องมีช่องโหว่และช่องว่างปานกลางแทรกแซงและบิดเบือนได้เป็นครั้งคราว

1. ถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบ EKG ในที่สุดจะล้มเหลว เพราะจะแพ้ยุทธศาสตร์ information กับ mobilization ของฝ่ายต้าน ซึ่งยึดฐานที่มั่นตามยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ-ชนบทล้อมเมือง” ไว้ได้ล่วงหน้าแล้ว รัฐบาลต้องบุกยึดคืน โดยการขีดเส้นทึบเข้าหากัน (diagram 3)

2. ถ้าหากตั้งรัฐบาลแบบ PEKS จะประสบความสำเร็จ และบุกเข้าไปตีฐานของทักษิณได้ ด้วยการรวมพลัง P คือประชาชนจัดตั้ง+ปัญญาชนผู้ประกอบวิชาชีพ+สื่อเสรี+NGO (diagram 2 )

3. ถ้าหากตั้งสภานิติบัญญัติและรัฐบาลแบบผสม คือมี K E P ตามยถากรรมก็จะต้องเสี่ยง อย่างดีอาจจะเสมอตัว พอรักษาสถานการณ์ไปได้ 6 เดือนหรือ 1 ปี (diagram 1)

สรุป : ขณะนี้เราเลือก model 3 ซึ่งจะพ่ายแพ้ทักษิณในที่สุด เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะสามารถสร้างเส้นทึบไปให้ครบทุกฐาน 3 เหลี่ยม โดยการ mobilize การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนขึ้นในอัตราเร่ง ทำไมต้องเร่ง เพราะทักษิณเร็วกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น