xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มาร์ค” ดื้อตาใสยึดมั่น MOU 43 โยนขี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวน หลีกภัยและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2 นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำให้ราชอาณาจักรไทยเข้าใกล้การเสียดินแดนมากขึ้นทุกที
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดราชอาณาจักรไทยก็ยิ่งเข้าใกล้คำว่า สูญเสียอธิปไตยครั้งที่ 15 เหนือดินแดนโดยรอบ “ปราสาทพระวิหาร” อีกครั้งโดยมติของ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” หรือ “ศาลโลก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา

เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ราชอาณาจักรไทยก็เสียเปรียบราชอาณาจักรกัมพูชาในทุกประตู ทั้งการถอนทหารออกไปจากดินแดนของตัวเองโดยกินอาณาบริเวณลึกเข้ามาถึงบริเวณสระตราว สถูปคู่ ภูมะเขือ ผามออีแดง ทั้งการห้ามไม่ให้ไทยขัดขวางการส่งเสบียงของฝ่ายกัมพูชาในพื้นที่ที่เป็นดินแดนของไทย ทั้งมติให้ผู้แทนอาเซียนเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่

และที่สำคัญคือ ผลแห่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวยังเป็นสัญญาณร้ายที่บ่งชี้ให้เห็นถึงอนาคตของคำพิพากษาในคดีหลักที่ราชอาณาจักรกัมพูชายื่นให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องเส้นเขตแดนอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น การที่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี และ “นายกษิต ภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีท่าที “พอใจ” กับมติดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้ว่าด้วยเหตุใดทั้งสองคนจึงพอใจที่ราชอาณาจักรไทยกำลังจะสูญเสียดินแดนในครั้งนี้

**มติศาลโลก เปิดทางยกแดนไทยให้ขแมร์

หลังจากที่ “นายฮิซาชิ โอวาดะ” ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice-ICJ)” อ่านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกจบลง อธิปไตยแห่งดินแดนของไทยก็ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจนอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ประเทศไทยได้เสียดินแดนครั้งที่ 15 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องเพราะถ้าหากนำมติของศาลโลกมาไล่เรียงทีละข้อก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีข้อใดเลยที่ประเทศไทยจะได้เปรียบประเทศกัมพูชา

ซ้ำร้ายก่อนหน้าที่ศาลโลกจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คำร้องของประเทศไทยที่ขอให้มีจำหน่ายคดีออกจากระบบยังถูกปฏิเสธจากมติที่เป็นเอกฉันท์ของศาลโลกอีกต่างหาก ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า หลักฐานที่รัฐบาลไทยนำโดยนายอภิสิทธิ์และนายกษิตนำไปยื่นซักค้านไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ศาลโลกรับฟัง ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลโลกประกาศเดินหน้าที่จะตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่เคยมีคำสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2505 ด้วยขอบเขตแห่งอำนาจของตนเองที่มีอยู่

สำหรับมาตรการชั่วคราวที่ศาลโลกได้มีคำสั่งออกมานั้น มีทั้งหมด 3 ข้อด้วยกันกล่าวคือ มติข้อที่หนึ่ง ศาลโลกมีมติ 11 ต่อ 5 เสียงให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นเขตปลอดทหาร(Previsional Demilitarized Zone) ตามมาตรการชั่วคราวและให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมทางทหารใดๆ ภายในพื้นที่นี้ พร้อมทั้งกำหนดพิกัดที่จะต้องถอนทหารเอาไว้อย่างเสร็จสรรพ

ทั้งนี้ ประเทศเสียงข้างมากที่เห็นด้วยให้ถอนทหาร 11 ประเทศประกอบไปด้วยสโลวาเกีย เซียร์ราลีโอน เยอรมนี นิวซีแลนด์ โมร็อกโก อังกฤษ รัสเซีย โซมาเลีย บราซิล และอีก 2 เสียงเป็นของฝรั่งเศส ส่วน 5 ชาติที่ไม่เห็นด้วย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา จอร์แดนและฝรั่งเศส

มติข้อที่สอง ศาลโลกมีมติ 15 ต่อ 1 เสียงว่า ไทยจะต้องไม่ขัดขวางการเข้า-ออกพื้นที่ปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชาที่ไม่ใช่กิจกรรมทางทหาร ไทยกับกัมพูชาต้องร่วมมือกันต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน โดยอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ภายใต้อาเซียนสามารถเข้าไปในพื้นที่เขตปลอดทหารภายใต้มาตรการชั่วคราวได้ และให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระตุ้นความขัดแย้งหรือทำให้ความขัดแย้งระหว่างกันขยายบานปลายหรือทำให้ยากลำบากแก่การแก้ไขมากยิ่งขึ้นไปอีก

และมติข้อสาม ศาลโลกมีมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้ทั้งสองฝ่ายต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ข้างต้นจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเดิม

ทั้งนี้ 15 ชาติที่เห็นด้วยกับมติข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ประกอบด้วย ด้วยสโลวาเกีย เซียร์ราลีโอน เยอรมนี นิวซีแลนด์ โมร็อกโก อังกฤษ รัสเซีย โซมาเลีย บราซิล ญี่ปุ่น จีน จอร์แดนและอีก 3 เสียงเป็นของฝรั่งเศส ส่วนชาติเดียวที่ไม่เห็นด้วยก็คือสหรัฐอเมริกา

มติที่เป็นเอกฉันท์ดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยภายใต้การนำของนายกษิตประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติราชการแผ่นดิน เพราะคะแนนที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า เสียงส่วนใหญ่เข้าข้างกัมพูชามากกว่าประเทศไทย

ภายหลังศาลโลกมีคำสั่งทั้ง 3 ข้อออกมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ต่างพากันยิ้มร่าแสดงความดีใจกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งทำท่าที่ดีอกดีใจด้วยการแสดงเจตนาที่จะยอมรับคำตัดสินโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แถมยังอธิบายเสร็จสรรพอีกต่างหากว่า ประเทศไทยได้เปรียบจากคำสั่งในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

นายอภิสิทธิ์และนายกษิตจะดีใจได้อย่างไร ในเมื่อพิกัดที่ทหารไทยจะต้องถอนทหารออกไปนั้น เป็นพื้นที่ของประเทศไทยโดยชอบธรรม มิใช่แค่ตัวปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระหรือภูมะเขือที่ทหารกัมพูชายึดครองอยู่เดิม แต่กินลึกเข้ามาถึงบริเวณสระตราว สถูปคู่และผามออีแดงที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่

หรือหมายความว่า นอกจากพื้นที่เดิมที่ไม่มีปัญญารักษาเอาไว้ได้จนกัมพูชาสร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ สร้างสถานีเรดาร์ทางการทหารที่ภูมะเขือแล้ว ยังต้องสูญเสียพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก

ขณะที่ในฝั่งกัมพูชานั้น แผนที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่ศาลโลกขีดพิกัดมาให้นั้นจะเห็นได้ว่ากินพื้นที่เข้ามาในฝั่งไทยมากกว่ากัมพูชา ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่นายอภิสิทธิ์แถลงแต่ประการใด โดยพื้นที่ในฝั่งกัมพูชานั้นถ้าหากพิจารณาจากแผนที่ก็จะเห็นได้ว่า เป็นพื้นที่สูงชัน มิใช่พื้นที่ราบ

ที่สำคัญคือคำสั่งของศาลโลกครอบคลุมเพียงแค่บุคลากรทางทหาร มิได้หมายรวมถึงบุคลากรทางทหารในคราบ “บุคคลพลเรือน” ที่กัมพูชาส่งเข้าไปยึดพื้นที่บริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระรวมถึงพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเมื่อคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียลงพื้นที่สังเกตการณ์และเห็นสภาพของพื้นที่ย่อมไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเขียนรายงานลงไปว่า เป็นพื้นที่ของประเทศกัมพูชาดังเช่นที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติให้ความเห็นเอาไว้

ซ้ำร้ายทางออกของนายกษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การร้องขอให้องค์การยูเนสโกหรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาตรวจพิสูจน์ ซึ่งนั่นหมายความการดึงประเทศที่ 3 หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

“ถ้าถอนทหารแล้วไทยเสียเปรียบแน่นอน เพราะพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ไทยยึดครองไว้มานานจะต้องเสียไปหมด ทั้งภูมะเขือ พลาญอินทรีย์ อีกทั้งในอนาคตกัมพูชาอาจใช้กลยุทธ์เดิมในการรุกพื้นที่อีก”แหล่งข่าวทางทหารให้ข้อมูล

นายอภิสิทธิ์และนายกษิตจะดีใจได้อย่างไร ในเมื่อศาลโลกมีคำสั่งให้ประเทศไทยต้องยินยอมให้กัมพูชาสามารถเดินเข้าออกผ่านพื้นที่ของตัวเองได้ตามใจชอบโดยไม่สามารถขัดขวางได้ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนของตัวเองไปโดยปริยาย และเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชาสามารถส่ง “ทหารในคราบพลเรือน” เข้าไปในพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้โดยชอบธรรม

นั่นหมายความว่า ไทยต้องปล่อยถนนที่สร้างรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยให้เป็นเส้นทางลำเลียงของกัมพูชาต่อไป และเส้นทางในการส่งกำลังบำรุงของกัมพูชาก็คือถนนที่รุกล้ำอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารซึ่งส่งผลทำให้ชุมชนกัมพูชาสามารถขยายต่อไปได้เรื่อยๆ

“กัมพูชาสร้างถนนจากฝั่งกัมพูชาขึ้นไปยังตัวปราสาทรุกล้ำพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเข้ามาถึง 1.8 กิโลเมตร คำสั่งของศาลโลกจึงทำให้ไทยเสียเปรียบเพราะไม่สามารถขัดขวางกัมพูชาในการใช้ถนนเส้นทางนี้ได้หากกัมพูชาอ้างว่าเพื่อการพัฒนาตัวปราสาท”แหล่งข่าวด้านความมั่นคงให้ข้อมูล

หรือกล่าวได้ว่า เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตโดยคำสั่งของศาลโลกอย่างสมบูรณ์แบบไปเรียบร้อยแล้ว และถ้าหากไทยไม่ปฏิบัติตาม กัมพูชาก็จะสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลโลกได้อีก

พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคงแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า มติของศาลโลกที่ไม่ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายพลเรือนออกไปอาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องเขตแดนในอนาคต เพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนชาวกัมพูชาอยู่และอาจมีทหารปลอมตัวเป็นพลเรือนเข้ามาในพื้นที่ได้นคงแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า มติของศาลโลกที่ไม่ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายพ

นายอภิสิทธิ์และนายกษิตจะให้ประชาชนคนไทยดีใจได้อย่างไรกับมติ 15 ต่อ 1 เสียงของศาลโลกที่บังคับให้ทั้งไทยต้องรายงานการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ได้สั่งไว้ข้างต้นจนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาเดิม เพราะนั่นหมายความว่า ฝ่ายกัมพูชาก้าวข้ามการเจรจาในระดับทวิภาคีไปสู่ระดับพหุภาคีตามเกมที่ตนเองขีดเส้นไว้ ขณะที่ฝ่ายไทยโดยนายอภิสิทธิ์และนายกษิตยังคงยึดมั่นกับกระดาษชำระในสายตาของกัมพูชาคือ MOU43 เอาไว้อย่างมิเคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องสิ่งที่รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตสมัยนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีได้กระทำไว้

ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่ความยุติธรรมที่ศาลโลกมีต่อประเทศไทย หากแต่เป็นการ “ยุติ ความเป็นธรรม” ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสียเปรียบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะไม่ได้เป็นการเสียดินแดนในทางนิตินัย แต่ก็ต้องถือได้ว่า เป็นการเสียดินแดนในทางพฤตินัย

ดังเช่นที่ชาวบ้านภูมิซรอลอย่าง “นายโชคชัย สายแก้ว” นายก อบต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า ในทางปฏิบัติหากยึดตามคำสั่งของศาลโลก ฝ่ายไทยค่อนข้างเสียเปรียบมาก เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผามออีแดงออกไปมากกว่าครึ่ง รวมถึงบริเวณสถูปคู่ด้วย ซึ่งตามแผนที่ของกัมพูชาจะลากยาวไปถึงช่องตาเฒ่าและถึงภูมะเขืออันจะทำให้ไทยเสียดินแดนไปเป็นจำนวนมาก

หรือดังเช่นที่ “นายวีระยุทธ ดวงแก้ว” กำนันตำบลเสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ไม่อยากให้ฝ่ายไทยถอนกำลังทหารออกจากบริเวณเขาพระวิหารแม้จะมีคำสั่งของศาลโลก เนื่องจากขณะนี้ฝ่ายกัมพูชารุกคืบเข้ามาในเขตแดนไทยมาก ที่สำคัญคือชาวบ้านกังวลว่าการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดทหารของศาลโลกจะกินพื้นที่เข้ามาถึงไร่นาของชาวบ้านภูมิซรอล ทำให้ชาวบ้านกังวลใจว่าที่ดินทำกินจะหมดสิ้นไป

ดังเช่นที่ นางสุภาณี รอดเคน ชาวบ้านภูมิซรอลที่กล่าวว่า มีที่ดินติดกับปากทางเข้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และทำกินอยู่ที่ไร่แห่งนี้จำนวน 20 ไร่มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว จนกระทั่งทางราชการได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้ไว้เป็นหลักฐาน ดังนั้น การที่ศาลโลกมีคำสั่งออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้จัดเขตพื้นที่ปลอดทหารไทย-กัมพูชาบริเวณเขาพระวิหาร หากล้ำเข้ามาถึงเขตที่ดินทำกินของตนเองก็จะไม่ยอมออกไปจากที่ดินของตัวเองอย่าง เด็ดขาด เพราะไม่รู้จะไปทำกินอยู่ที่ใดอีก เนื่องจากมีที่ดินทำกินผืนสุดท้ายอยู่เพียงแห่งเดียวนี้เท่านั้น

นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงกับประกาศก้องว่า มาตรการชั่วคราวของศาลโลกเป็นผลดีอย่างสูงต่อกัมพูชา ซึ่งการแถลงของศาลฯ มีเป้าหมายสำคัญสองอย่างที่กัมพูชาต้องการได้รับ คือ 1. การถอนทหาร ซึ่งหมายความว่าทำให้มีการหยุดยิงถาวรในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร โดยให้ไทยถอนทหารออกจากชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลฯ ได้วาดแผนที่กำหนดโดยล้ำเข้าไปในดินแดนไทยเป็นส่วนใหญ่ ไปจนถึงสุดปราสาทพระวิหาร และ 2. กัมพูชาเรียกร้องให้มีผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย มายังพื้นที่ชายแดนปราสาทพระวิหาร ที่ไทยขัดขวางมาตลอด และศาลโลกได้มีมติให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ชายแดนกัมพูชา-ไทยตามข้อเสนอของกัมพูชา

“การที่ศาลลากเส้นแผนที่กำหนดพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งไทยนั้น หมายความว่า ไทยหมดสิ้นมูลเหตุและเล่ห์กลที่จะใช้รุกรานดินแดนกัมพูชาได้อีก”นายฮอร์ นำฮงเยาะเย้ยด้วยความสะใจ
**"มาร์ค" ดื้อตาใส ยึดมั่นMOU43 โยนขี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา

แม้มติของศาลโลกจะทำให้ไทยเสียเปรียบ แต่ดูเหมือนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศชื่อนายกษิตจะพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างยินยอมพร้อมใจโดยมิได้มีข้อกังขา แถมยังให้สัมภาษณ์ในเชิงบีบบังคับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหารจะต้องปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าเป็นมติของศาลโลก

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยสามารถปฏิเสธคำสั่งของศาลโลกได้ ดังที่ “นายนพนิติ สุริยะ” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเอาไว้ว่า ผลของศาลครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวไม่ได้เป็นคำตัดสิน ซึ่งจากข้อมูลที่เคยเป็นมาในอดีตเคยมีกรณีร้องขอให้ออกมาตรการชั่วคราว 17 กรณี โดยศาลรับพิจารณา 10 กรณี และใน 10 กรณีนี้เมื่อศาลโลกให้มีมาตรการชั่วคราวออกมาแล้ว ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติตรงไหนบอกว่าจะต้องทำอย่างไรและคำสั่งไม่มีสภาพบังคับ ไม่เหมือนกับคำพิพากษา

ดังนั้น การที่นายอภิสิทธิ์และนายกษิตประกาศเจตจำนงชัดเจนที่จะยอมรับมติของศาลโลก นั่นก็เท่ากับว่า เป็น “ประเทศแรก” ในโลกที่ทำตามมตินี้ และกลายเป็นตัวตลกในสายตาของชาวโลก

ที่สำคัญคือ หากไทยยอมปฏิบัติตามมติศาลโลก อาจถูกตีความได้ว่า “ไทยรับอำนาจศาลโลก” ยอมรับว่า พื้นที่ที่มีมติให้ถอนทหารออกไปนั้นไม่ใช่อธิปไตยของไทย และจะยินยอมให้มีการตัดสินตามที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นการตีความคำพิพากษาศาลโลก พ.ศ. 2505

นั่นหมายความว่าประเทศไทย “เปลี่ยนจุดยืน” สำคัญจากเดิมที่ฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสงวนสิทธิต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2505 ว่าไม่เห็นด้วย คัดค้าน ประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลโลกที่ยกปราสาทพระวิหารให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และขอสงวนสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคต และประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมา 50 ปีแล้ว กลายมาเป็นว่าฝ่ายไทย “ยอมรับ”คำตัดสินเมื่อปี พ.ศ. 2505 จึงพร้อมที่จะน้อมรับและยอมรับในการตีความให้ขยายขอบเขตไปมากกว่าเดิมด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นด้วยการแสดงออกว่า “ยอมรับและปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก”

“ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผลการตัดสินของศาลโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าดูอย่างละเอียดยังไม่แน่ใจว่า ฝ่ายไทยได้ประโยชน์อะไร เพราะศาลก็มีมติข้อแรกเลยว่าไม่รับคำคัดค้านจากฝ่ายไทยในการให้ยกเรื่องออก หมายถึงกำลังจะบอกว่า ศาลโลกมีสิทธิตีความ นอกจากนี้ ศาลได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเปิดให้ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งเสบียงบำรุงฟื้นฟูปราสาท เท่ากับศาลย้ำชัดว่า สิทธิปราสาทเป็นของกัมพูชาจึงเปิดให้ซ่อมบำรุง กัมพูชาจึงไม่เสียอะไร แต่สำหรับของไทย ในอนาคต ถ้าศาลตัดสินแบบใด อย่างดีก็เท่าทุน หมายความว่า อาจจะเป็นไปในลักษณะเดิมที่ไทยมีการล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทตั้งแต่ปี 2505

“แต่ปัญหาคือเราไม่รู้อนาคตว่าศาลจะตีความแบบที่เรายึดถืออยู่หรือตีความให้กินพื้นที่เข้ามา ตรงนี้จึงน่าห่วง ซึ่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดเรื่องนี้ หมายความว่าศาลรับเรื่องไว้ตีความแล้ว จึงไม่รู้อนาคตว่าศาลจะตัดสินอย่างไร น่าสนใจว่าถ้าดูจากมาตรการสร้างเขตทหารทั้งสองฝ่ายห้ามเข้า แต่ไม่ได้ให้พลเรือนกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่นั้นออก ทำไมศาลถึงตีเขตในขนาดดังกกล่าว”นายไชยวัฒน์ตั้งข้อสังเกต

และผลกระทบที่ตามมาอย่างร้ายกาจก็คือ การยอมรับการตีความของศาลโลกสุ่มเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเสียเปรียบอย่างยิ่งจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 ข้อ 1 (ค.) ที่ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยึดมั่นถือมั่นโดยมิได้คำนึงว่าจะเป็นชนวนแห่งความฉิบหาย

MOU ที่ลงนามโดย “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุคที่ “นายชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี หลักฐานสำคัญเพียงชิ้นเดียวที่ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจะทำให้ไทยจำนนต่อหลักฐานในการตีความของศาลโลก

ความฉิบหายที่ว่านั้นก็คือ การนำไปสู่การเสียดินแดนกว่า 1 ล้าน 8 แสนไร่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทางนิตินัยด้วยการตีความคำพิพากษาของศาลโลก รวมทั้งยังนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ซึ่งมีพลังงานอันสมบูรณ์ในอ่าวไทยที่มีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท

แน่นอน ณ เวลานี้ นายอภิสิทธิ์คงลอยตัวเหนือปัญหาทั้งหลายทั้งปวง เพราะตัดสินใจยุบสภาเพื่อหนีปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ในการเรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ออกตัวเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า ครม.ชุดปัจจุบันไม่สามารถไปกำหนดแนวทางอะไร เพราะจะไปกระทบกระเทือนหรือไปผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่

หรือสรุปง่ายๆ ก็คือโยนขี้ให้กับรัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจนั่นเอง

ขณะที่ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ยังคงดำรงตนเป็น “หัวหลักหัวตอ” ที่ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ด้วยการออกตัวอย่างน่าเกลียดว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล หากเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็จะต้องมาศึกษาในรายละเอียดของคำพิพากษาโลก โดยตนในฐานะคนไทย ก็มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเจรจาพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี ส่วนจะเป็นคนนอกหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะต้องรอผลการรับรองจากกกต.อย่างเป็นทางการก่อน ถึงจะมีความชัดเจนในเรื่องทั้งหมด

เฉกเช่นบรรดา “บิ๊กขุนทหาร” ผู้มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติที่ยังคงสงวนท่าทีด้วยการประกาศด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาว่า จะยังไม่ถอนทหารและรอคอยให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจอีกครั้ง

ประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคตช่างวังเวงยิ่งนัก
แผนที่และพิกัดที่ศาลโลกมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งกินดินแดนเข้ามาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
นายกษิต ภิรมย์และนายวีระชัย พลาศรัย ตัวแทนรัฐบาลไทยขณะรับฟังคำสั่งของศาลโลก
นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนของรัฐบาลกัมพูชาขณะรับฟังคำสั่งของศาลโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น