xs
xsm
sm
md
lg

ล่าชื่อ2หมื่นถอด5กกต. ละเว้นหน้าที่ปล่อยนักการเมืองตุ๋นปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ ( 21 ก.ค.) ที่ห้องรับรอง 2 อาคารัฐสภา 2 กลุ่มราษฎรอาสาถอดถอนกกต. นำโดยนายบวร ยสินทร ได้แสดงตนต่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อขอริเริ่มกระบวนการเข้าชื่อประชาชน 20,000 คน ให้วุฒิสภาพิจารณา ถอดถอนกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) ทั้ง 5 คนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 164 โดยมีข้อกล่าวหา 3 ข้อ ได้แก่
1. กกต.วินิจฉัยว่า ผู้ที่เคยแจ้งขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในการเลือกตั้งปี 50 ในคราวนี้ ต้องแจ้งใหม่ ทำให้ผู้มีสิทธิ์กว่า 2 ล้านคน รายชื่อสูญหาย ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้
2.ไม่จัดการเลือกตั้งให้ดำเนินไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม ได้แก่ การปล่อยปละให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ออกมาแสดงบทบาทชี้นำพรรคการเมือง การรับสมัครบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ขาดสมาชิกภาพพรรคการเมือง เนื่องจากถูกคุมขังโดยหมายของศาล การปล่อยปละให้กลุ่มคนผู้สนับสนุนผู้สมัคร คุกคามผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายอื่น เช่น ทำลายป้ายหาเสียง หรือจัดกลุ่มโห่ไล่ การปล่อยปละให้ใช้วิธีการหาเสียงโดยการอ้างว่าเป็นนโยบาย แต่ที่จริงเป็นการเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ และปล่อยให้หาเสียงในนโยบายที่ไม่ตรงกับรายการที่จดแจ้งไว้กับกกต. รวมทั้งปล่อยให้หาเสียงโดยนโยบายที่หลอกลวง ประชาชนโดยการเสนอนโยบายประชานิยมที่ไม่เป็นจริง
3. กระทำการให้ปรากฏถึงความไม่น่าเชื่อถือในผลการเลือกตั้ง โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เลขาธิการ กกต. ประกาศสรุปผลการเลือกตั้งส.ส. แบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อ มีความต่างกันถึง 83,222 คน จนมีผู้ทักท้วง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม จึงมีการออกประกาศตัวเลขใหม่ โดยลดจำนวนความต่างกันลง เหลือเพียง 167 คน จึงมีข้อกังขาถึงการจัดเลือกตั้ง ดังนั้น จึงจะรวบรวมรายชื่อให้ครบตามที่กฎหมายบัญญัติ และขอให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป
ทั้งนี้ เป็นห่วงว่า ในขั้นตอนที่วุฒิสภาส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้มีกรอบเวลาในการพิจารณา ซึ่งกลุ่มราษฎรอาสา ถอดถอนกกต. จะหามาตรการเร่งให้ป.ป.ช. ดำเนินการโดยเร็วต่อไป
ด้าน พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่าภายในวันที่ 16 มกราคม 2555 จะครบ 180 วัน ที่ผู้แสดงตนจะต้องไปรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 20,000 รายชื่อขึ้นไป พร้อมด้วยคำร้องระบุถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหามาทั้งหมด เพื่อยื่นให้กับวุฒิสภาอีกครั้ง จากนั้นทางวุฒิสภา จะตรวจสอบรายชื่อและความถูกต้องของคำร้องว่าครบถ้วนหรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อไป ซึ่งหากมีมูล เรื่องจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น