xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น ท่องเที่ยววูบ หวั่นการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สทท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 2 วูบเหลือ 84 น้อยกว่าไตรมาสแรกและยังต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ว่าจะได้ถึง 108 เหตุเพราะความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองกระทบความรู้สึกด้านจิตวิทยา ขณะที่ปัจจัยลบสนับสนุนคือปัญหาราคาสินค้าแพง

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. เปิดเผยว่า รายงานตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเอกชน ซึ่งสำรวจในไตรมาส 2 มีตัวเลขความเชื่อมั่นอยู่ที่ 84 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ว่าจะได้ถึง 108 และยังลดลงกว่าตัวเลขดัชนีที่สำรวจเมื่อไตรมาส 1 ที่มีระดับความเชื่อมั่นอยู่ที่ 97

ทั้งนี้สาเหตุความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง มาจากหลายสาเหตุที่ทำให้ภาคเอกชนเกิดความกังวลว่าอาจจะมีผลต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาฝนตกนอกฤดูในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ปัญหาราคาสินค้าแพง ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีการคาดการณ์ต่อไปว่า ดัชนีไตรมาส 3 น่าจะดีดกลับขึ้นมาอยู่ที่ตัวเลข 102 แต่ก็ยอมรับว่ายังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่า 108 ซึ่งประเมินไว้เมื่อต้นปีเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น

“ดัชนีความเชื่อมั่นเป็นการสำรวจจากผู้ประกอบการให้มองถึงความเชื่อมั่นในอนาคตที่จะเกิดขึ้นเป็นรายไตรมาส ซึ่งดัชนีไตรมาส 2 คือทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการตั้งแต่ไตรมาสแรก จึงมองว่าไตรมาส 2 จะมีการเลือกตั้งทำให้เกิดความไม่มั่นใจเกิดขึ้น สะท้อนว่าการเมืองมีผลทางด้านจิตวิทยาเป็นอย่างมาก แต่เป็นผลกระทบระยะสั้น จึงทำให้การคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาส 3 ที่จะเกิดขึ้นดีดตัวกลับขึ้นมา ซึ่งปกติแล้วค่ามาตรฐานความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 100 หรือมากกว่าแสดงว่าความเชื่อมั่นดี”

นอกจากนี้ สทท.รวบรวมข้อเสนอด้านท่องเที่ยวให้รัฐบาลใหม่ 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เห็นด้วยกับจัดกลุ่มท่องเที่ยวตามคลัสเตอร์ แต่ภาครัฐควรให้ข้อมูลและส่งเสริมด้านการลงทุน 2.เสนอการเตรียมความพร้อมเปิดเสรีอาเซียน ด้วยการหามาตรการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถ หากรัฐบาลจะดำเนินการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
ก็ต้องพัฒนาด้านคุณภาพแรงงานให้สอดรับการแข่งขันในอาเซียน แต่เชื่อว่าการจัดตั้งสถาบันอบรมขึ้นมาใหม่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เนื่องจากทุกวันนี้ติดขัดที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปล่อยให้พนักงานออกมาอบรมได้ ดังนั้นควรแก้ด้วยการหามาตรการอุดหนุน หรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมากกว่า

3.เสนอให้มองมิติท่องเที่ยวด้านการลงทุน อย่ามองแต่รายได้จากนักท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น ควรส่งเสริมทั้งนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ สร้างระบบเอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานฝีมือชาวไทยได้ไปทำงานต่างประเทศในธุรกิจของคนไทย นอกจากนี้ เสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติวีซ่าระยะยาว 3-5 ปี และสามารถเดินทางเข้า-ออกได้หลายครั้ง แทนที่มาตรการยกเว้นวีซ่า เพราะยังสามารควบคุมด้านความมั่นคงได้ และนักท่องเที่ยวมีอิสระในการเดินทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น