xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทบริวาร : ฐานอำนาจของผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“เสาเข็ม และก้อนอิฐที่วางซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ เป็นฐานรองรับให้ยอดเจดีย์ตั้งตระหง่านเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าชนผู้ศรัทธาเป็นเวลายาวนานได้ฉันใด บริษัทบริวารที่ดี ย่อมเป็นฐานกำลังค้ำจุนอำนาจให้ผู้นำอยู่ได้นานฉันนั้น” นี่คือแง่คิดที่ผู้เขียนคิดได้ เมื่อได้อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัท ซึ่งมีความหมายตรงกับคำในภาษาไทยว่าบริวารหรือลูกน้อง

คำสอนที่ว่านี้มีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 20 ปริสวรรค อันเป็นวรรคหรือหมวดที่ 5 ความโดยย่อว่า

บริษัท 2 อย่างคือ ตื้นอย่างหนึ่ง ลึกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าตื้นเพราะขาดคุณธรรม ที่ชื่อว่าลึกเพราะมีคุณธรรม บริษัท 2 อย่างคือที่ (แตก) เป็นพวก กับที่พร้อมเพรียงกัน บริษัท 2 อย่างคือที่มีคนเลิศ กับที่ไม่มีคนเลิศ ที่ไม่มีคนเลิศคือ ที่มักมาก ย่อหย่อน เห็นแก่นอน ทอดธุระในความสงัด ที่มีคนเลิศคือที่ตรงกันข้าม บริษัท 2 อย่างคือที่ไม่ประเสริฐกับที่ประเสริฐ ที่ไม่ประเสริฐเพราะไม่รู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง ที่ประเสริฐเพราะรู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง บริษัท 2 อย่างคือบริษัทขยะ กับบริษัทที่มีแก่นสาร บริษัทขยะคือที่ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว ที่มีแก่นสารคือที่ไม่ลำเอียงเพราะรัก เป็นต้น

บริษัท 2 อย่างคือที่แนะนำยาก กับที่แนะนำง่าย บริษัท 2 อย่างคือที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม กับที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส บริษัท 2 อย่างคือที่ไม่สม่ำเสมอ กับที่สม่ำเสมอ (กำหนดด้วยการกระทำที่ไม่ถูกธรรม ไม่ถูกวินัย และถูกธรรม ถูกวินัย) บริษัท 2 อย่างคือที่ไม่ประกอบด้วยธรรม กับที่ประกอบด้วยธรรม

จากคำสอนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งบริษัทออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ไม่ดี และประเภทที่ดี รวม 18 ประเภทดังนี้

ประเภทที่ไม่ดี 9 ประเภท คือ

1. ที่ตื้น เพราะขาดคุณธรรม

2. ที่ (แตก) เป็นพวก

3. ที่ไม่มีคนเลิศ

4. ที่ไม่ประเสริฐ

5. ที่ (เป็นเหมือน) ขยะ

6. ที่แนะนำยาก

7. ที่หนักในอามิส ไม่หนักในธรรม

8. ที่ไม่สม่ำเสมอ

9. ที่ไม่ประกอบด้วยธรรม

ประเภทที่ดีคือมีลักษณะตรงกันข้ามกับประเภทที่ไม่ดี 9 ประเภท คือ

1. ที่ลึก เพราะมีคุณธรรม

2. ที่พร้อมเพรียงกัน

3. ที่มีคนเลิศ

4. ที่ประเสริฐ

5. ที่มีแก่นสาร

6. ที่แนะนำง่าย

7. ที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส

8. ที่สม่ำเสมอ

9. ที่ประกอบด้วยธรรม

จากการแบ่งประเภททั้งในส่วนที่ไม่ดี และส่วนที่ดี จะเห็นได้ชัดเจนว่าพระพุทธองค์จะทรงเน้นบ่อเกิดแห่งพฤติกรรมครบทั้ง 3 คือ มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม และในแต่ละประเภททั้งในส่วนไม่ดี และส่วนดีเข้าใจได้ไม่ยาก จะมีอยู่บ้างบางข้อที่อาจทำให้ผู้ไม่คุ้นเคยกับพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนาไม่เข้าใจ ดังนั้นจะยกมาอธิบายขยายความเพิ่มเติมในส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่สาธุชนคนทั่วไปที่ฝักใฝ่อยากทำดี ดังนี้

ข้อที่ว่าไม่ประเสริฐเพราะไม่รู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริงในแง่ของโลกียชน ก็คือ ไม่รู้ว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือผล และไม่รู้วิธีแก้ปัญหาให้ตรงกับเหตุ ทำให้สับสนวกวน และในที่สุดแก้ปัญหาไม่ได้

ข้อที่ว่าหนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม หมายถึงว่า เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และความเป็นธรรม

ข้อที่ว่าบริษัทขยะ หมายถึงว่า ทำตนไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และสังคมโดยรวม ตรงกันข้ามเป็นภาระให้คนอื่นต้องแบกรับภาระในการแก้ไขโดยการขจัดทิ้งเพื่อมิให้ก่อมลพิษแก่สังคมโดยรวม

ข้อที่ว่าไม่สม่ำเสมอ หมายถึงว่า ไม่เที่ยงตรง ขึ้นๆ ลงๆ หรือพูดได้ว่าเป็นคนสองมาตรฐาน ไม่ยึดหลักการ ไม่ยึดความถูกต้อง แต่ยึดความถูกใจและผลประโยชน์ ความสะดวกสบายของตนเอง และพวกพ้องเป็นหลัก

โดยนัยแห่งพุทธพจน์และคำอธิบายขยายความดังกล่าวแล้วข้างต้น พอจะอนุมานได้ว่า ถ้าผู้นำคนใดมีบริษัทบริวารส่วนใหญ่ หรือมิใช่ส่วนใหญ่แต่เป็นส่วนที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดของผู้นำ เช่น ที่ปรึกษา หรือคนใกล้ชิด หรือที่เรียกว่า รอบข้าง เป็นประเภทที่ไม่ดี แน่นอนได้ว่าผู้นำคนนั้นจะอยู่ในอำนาจไม่ได้นาน เนื่องจากพฤติกรรมของบริวารกัดกร่อนศรัทธาของประชาชนที่เคยมีต่อผู้นำให้เสื่อมถอยลง และผุพังในที่สุด ในทำนองเดียวกันกับยอดเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนเสาเข็ม และก้อนอิฐที่ผุพัง ในที่สุดก็พังลงมา

ในทางกลับกัน ถ้าผู้นำคนใดได้บริวารที่ดี โอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่ง อยู่ในอำนาจ ย่อมยืนยาว ด้วยบริวารช่วยส่งเสริมให้ศรัทธาที่มีอยู่แล้วเพิ่มมากขึ้น

แต่การที่ผู้นำจะมีบริษัทบริวารที่ไม่ดีหรือดีได้นั้น ส่วนหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญก็คือผู้นำจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม และสม่ำเสมอในการวางตัวให้เป็นแบบอย่างของผู้ตามคือบริวาร

อีกประการหนึ่ง ในการแสวงหาหรือสรรหาบริษัทบริวาร ผู้นำจะต้องมีกฎเกณฑ์และกติกาในการเลือก และไม่เลือกอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าต้องการคนประเภทใด และกฎเกณฑ์กติกาที่ว่านี้จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และสอดคล้องกับเจตจำนงที่แท้จริงของผู้นำด้วย

ดังนั้น ผู้นำคนใดมีบริวารไม่ดี แน่นอนว่าจะต้องมีเจตจำนงที่ซ่อนเร้นว่าต้องการทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดี จึงมีความจำเป็นในการมีบริวารที่ไม่ดีไว้ทำงาน เพราะถ้าเป็นคนดีคงจะให้ทำสิ่งไม่ดีคงเป็นไปได้ยาก และนี่คือจุดของผู้นำ ในทางกลับกัน ถ้าผู้นำต้องการบริษัทบริวารที่เป็นคนดี แต่ผู้นำเองไม่เป็นแบบอย่างในทางดี ก็คงยากที่จะมีคนดีมาเป็นบริวาร

ดังนั้นมิใช่เรื่องผิดปกติหรือแปลกประหลาดประการใดที่ได้เห็นผู้นำทางการเมืองหลายคนมีบริษัทบริวารที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ปกติผู้นำคนที่ว่านี้เป็นคนดี

ในข้อนี้ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดีที่ต้องพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง อันเป็นที่มาจากความล้มเหลวในการควบคุมราคาสินค้า และภาพลักษณ์ในทางลบจากการที่ไม่สามารถใช้กฎเหล็ก 9 ข้อมาควบคุมการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั่งคนบางคนในพรรคประชาธิปัตย์เอง มิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์อันเกิดจากการมีตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบได้อย่างเด็ดขาด รวมไปถึงความอ่อนแอในการใช้อำนาจทางปกครองจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับผู้นำที่มีบริษัทบริวารส่วนหนึ่งไม่ดี ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนา

แต่คำสอนข้อนี้อาจทำให้เห็นผู้นำรัฐบาลคนใหม่ที่มาจากพรรคเพื่อไทยพบกับปัญหาเดียวกันนี้ได้เช่นกัน เพราะเท่าที่เห็นจากพฤติกรรมทั้งในส่วนขององค์กร และในส่วนของปัจเจกบุคคลแล้วเข้าข่ายประเภทบริษัทบริวารไม่ดีมีอยู่ไม่น้อย จึงอนุมานได้ว่าจะต้องก่อปัญหาแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อย มีผลในทางลบต่อผู้นำถึงขั้นต้องลงจากอำนาจก่อนครบเทอมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. การปล่อยให้บริษัทบริวาร เช่น คนเสื้อแดงซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับมีอำนาจชี้นำหรือไม่

2. นโยบายที่ช่วยกันคิด ช่วยกันฝัน ทำได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน

กำลังโหลดความคิดเห็น