xs
xsm
sm
md
lg

กต.แจงชายแดนพระวิหารซัดเขมรจ้องฮุบ“ตาควาย-ตาเมือน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองปลัดฯบัวแก้ว แจงชาวสุรินทร์กรณีการแก้ไขข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหาร เผยเขมรยัน "ปราสาทตามเมือนธม-ตาควาย" อยู่ในเขตเขมร ส่วนบรรยากาศด้าน"เขาพระวิหาร"ยังปกติ พบทหารเขมรผ่อนคลายลงออกมาเล่นกีฬา เดิน นั่งเล่นสบายใจ หลัง “เผาไทย”ชนะเลือกตั้ง "กษิต" โยนรัฐบาลใหม่ ยื่นถอนตัวมรดกโลก อาจต้องเข้าสภาฯตาม ม.190

วานนี้ (6 ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศรีณรงค์ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิปดีกรมสารนิเทศ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนประชาชนหมู่บ้านใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อชี้แจงการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความเข้าใจต่อประเด็นปัญหา ดังกล่าวได้ถูกต้อง

โดยได้ชี้แจงกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.2505 ตลอดทั้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทยได้ยึดถือแผนที่ ที่ยึดสันปันน้ำเป็นหลัก ในการชี้แนวเขตแดนประเทศไทย และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ก็เป็นวัดที่ตั้งขึ้นในเขตแดนประเทศไทย โดยมีภาพถ่ายเมื่อปี 2505 ที่ไทยแพ้คดีคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แล้วไทยได้ออกจากปราสาทพระวิหาร และได้สร้างรั้วลวดหนาม กั้นพื้นที่เขตแดนไทยไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งบ่งบอกถึงเขตแดนไทยอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกซึ่งทางรัฐบาลกัมพูชา ได้แจ้งขึ้นทะเบียนไปแล้ว นั้น ในกระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะต้องมีการจัดแผนบริหารจัดการ พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ตลอดทั้งพื้นที่แนวกันชน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากประเทศไทยด้วย ซึ่งฝ่ายกัมพูชา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ในประเด็นนี้

สำหรับการถอนตัวจากการเป็น ภาคีอนุสัญญามรดกโลก นั้น นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า น่าจะยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งจะมีผลจริงๆนั้น รัฐบาลต้องทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า จะมีการพูดกันมาก ถึงผลดี ผลเสีย ของการถอนตัว จากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จริงๆ แล้วยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้

“การตัดสินใจถอนตัว ออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เป็นเรื่องของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งท่านได้ตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง ท่านอาจได้รับข้อมูล หรือท่านเป็นห่วงในเรื่องดินแดนที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก” นายพิษณุ กล่าว

ด้านนายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของนาย สุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะทำงานเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าหน้าที่ กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานกับคณะผู้เจรจามรดกโลกอยู่ ถึง 2 คน การลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ จึงเป็นความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด

นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา อีกแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ที่บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได และปราสาทตาเมือนธม ต.เมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเกิดการประทะกันระหว่างไทยกับทหารกัมพูชาเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า ทางรัฐบาลกัมพูชาได้นำไปเป็นประเด็น และฟ้องไปยังศาลโลก ซึ่งเราได้ชี้แจงไปแล้วว่า ไม่ใช่ พื้นที่ใกล้กับปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นพื้นที่อยู่ไกลกันถึง 140 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ตามแผนที่ของประเทศกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชายังระบุว่าบริเวณปราสาทตาเมือนธม กับปราสาทตาควาย ทั้งสอง แห่งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศกัมพูชา และระบุอีกว่า หลักเขตแดนประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ที่มีการสำรวจปักปันเขตแดนกันมา โดยมีหลักเขตที่ 1 อยู่ที่ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และหลักเขตที่ 73 อยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด

สำหรับการแก้ปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ยังยืนยันว่า บันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา ปี 2543 หรือ MOU 43 ยังจะสามารถเป็นเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้รับข้อร้องเรียน ของประชาชน ที่อาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา อยากให้มีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้จบลงโดยเร็ว เพราะชาวบ้าน ได้รับผลกระทบ เดือดร้อนในเรื่อง ที่พักอาศัย สัตว์ เลี้ยง การทำนา ทำสวนยาพารา ไร่อ้อย มันสำปะลัง ซึ่งยังหวาดผวาการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศรับปัญหาของชาวเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

"เขาวิหาร" ยังเงียบไม่พบเขมรเคลื่อนไหว

มีรายงานข่าวจาก จ.ศรีสะเกษแจ้งว่า จากกรณีที่นายไพ ซี พาน เลขาธิการและโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยว่าองค์การปราสาทพระวิหาร สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะจัดพิธีเฉลิมฉลองปราสาทพระวิหารในโอกาสขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครบ 3 ปีในวันนี้ (7ก.ค.)อย่างยิ่งใหญ่นั้น

ล่าสุดที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แหล่งข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหว ๆ ที่ผิดปกติจากทางด้านฝั่งกัมพูชา รวมทั้งยังไม่เห็นการเตรียมจัดงานฉลองครบรอบ 3 ปี การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่ฝ่ายกัมพูชาได้แจ้งผ่านสื่อแขนงต่างๆ แต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา โดยหากจะมีการจัดงานที่บริเวณปราสาทพระวิหารจะต้องมีการกางเต็นท์และปักธงชาติรวมทั้งธงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตามเส้นทางที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และคณะจะเดินทางมา แต่จนถึงช่วงบ่ายวานนี้ (6 ก.ค.) ยังไม่เห็นการเตรียมความพร้อมที่จะจัดงานดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วนสถานการณ์ชายแดนเขาพระวิหารทั่วไปยังคงปกติ แต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าทหารกัมพูชามีท่าทีผ่อนคลายลง โดยออกมาเล่นกีฬา เช่น วอลเล่ย์บอล เปตอง และเดินเล่น นั่งเล่นอย่างสบายใจ ไม่อยู่ในอาการตรึงเครียดเหมือนที่ผ่านมา

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารไทย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ยังตั้งฐานปฏิบัติการบนอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารและเฝ้าติดตามข่าวความเคลื่อนไหวทหารกัมพูชาอย่างใกล้ชิด ถึงแม้สถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจะคลายความตึงเครียดลงแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 23 ระบุว่า ขณะที่ชาวบ้านเริ่มออกมาทำไร่ทำนากันตามปกติ เช่นเดียวกับบรรดาร้านขายสินค้าทั่วไป เนื่องจากมั่นใจในสถานการณ์มากขึ้น อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ชื่อว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะเปิดการเจรจายุติความขัดแย้งกับกัมพูชาในเรื่องเขตแดนได้เร็วๆ นี้

"ฮุนเซน" ดีใจ "เผาไทย" ตั้งรัฐบาล

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่าการที่ฝ่ายค้านของไทยชนะการเลือกตั้ง จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาดีขึ้น โดยการเลือกตั้งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งความร่วมมือ ขณะที่ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างไทย-กัมพูชาก็ควรมีการแก้ไขอย่างสันติ

ก่อนหน้านี้ นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชายินดีกับชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์(3 ก.ค.) และคาดหวังจะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่เพื่อคลี่คลายกรณีพิพาทชายแดนได้อย่างสร้างสรรค์กว่ารัฐบาลชุดก่อน

นายฮอร์ กล่าวว่า กัมพูชาต้องการข้อยุติปัญหาขัดแข้งชายแดนที่เป็นธรรมและสันติ โดยตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพระหว่างชาวกัมพูชาและชาวไทย ตลอดจนคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505

"กษิต" โยนรบ.ใหม่ถอนตัวมรดกโลก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยผ่านเว็ปไซต์ ระบุว่านายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรณีที่ไทยแสดงเจตนารมย์ถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกระหว่างการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (WHC) ครั้งที่ 35 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุม WHC ดำเนินการตามแนวนโยบายและท่าทีที่ได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยได้มีการหารือกันในกรอบของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน อีกทั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ด้วย โดยได้มีการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ และทางเลือกหนึ่งก็คือการถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก หากการประชุมไม่ดำเนินไปตามจุดประสงค์และอาจกระทบต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย โดยได้เสนอทางเลือกท่าทีเหล่านี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นท่าทีที่ต่อเนื่องจากการประชุม WHC เมื่อปี 2553 ที่ประเทศบราซิล ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมประชาธิปไตยที่ในการปรึกษาหารือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ จะมีความคิดเห็นหลากหลาย แต่เมื่อได้เป็นข้อสรุปร่วมกันและเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว ก็ถือเป็นท่าทีของประเทศไทย จึงขอเรียนยืนยันว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยดำเนินการใด ๆ โดยไม่มีการปรึกษาหารือกัน และรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการประจำที่จะให้ข้อคิดเห็น แนวทาง และข้อเท็จจริง ทั้งด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสหประชาชาติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม (ยูเนสโก) รวมทั้ง WHC

2. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการประสานงานและพบปะหารือกับทางยูเนสโกโดยตลอด โดยล่าสุด นายโคอิชิโร มัตสึอุระ ผู้แทนพิเศษของยูเนสโกได้เดินทางมาเยือนไทยและกัมพูชาเพื่อหาทางออกให้กับท่าทีที่ยังขัดแย้งกันอยู่ระหว่างไทยกับกัมพูชา นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ยังได้พูดคุยกับผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ทุกครั้งที่เดินทางเข้าร่วมการประชุมในกรอบของ WHC ขณะที่รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก WHC เพื่อชี้แจงท่าทีของไทยในเรื่องนี้ รวมทั้งได้ใช้โอกาสต่าง ๆ ทั้งการประชุมในกรอบของอาเซียนและสหประชาชาติในการชี้แจงแก่นานาประเทศว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาฝ่ายเดียวและการเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาได้นำไปสู่ประเด็นความตึงเครียดและการปะทะกันบริเวณชายแดน ทั้ง ๆ ที่การดำเนินการด้านเขตแดนมีกลไกที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 (MOU ปี 2543) ซึ่งท่าทีของไทยในเรื่องนี้มีความสม่ำเสมอมาโดยตลอดที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีผ่านกลไกการเจรจาทวิภาคีที่มีอยู่

3. เมื่อวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2554 ในการหารือนอกรอบระหว่างไทย กัมพูชา และยูเนสโก ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้เสนอร่างข้อตัดสินใจซึ่งมีประเด็นหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของไทย (2) เน้นย้ำว่ายูเนสโกและ WHC มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาและทำนุบำรุงโบราณสถาน และ (3) ในอนาคต อยากให้มีการขึ้นทะเบียนในลักษณะ transboundary nomination เพราะเห็นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกได้ปรึกษาหารือกันและมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี โดยที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในขณะนั้น จึงต้องนำมาพิจารณาต่อระหว่างการประชุม WHC ครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา

4. เป็นที่เข้าใจร่วมกันมาโดยตลอดว่าจะต้องมีการตกลงกันในเรื่องร่างข้อตัดสินใจเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชานอกห้องประชุมโดยมียูเนสโกเป็นตัวกลางก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้และกำลังเจรจากันอยู่ ได้มีการนำเสนอร่างข้อตัดสินใจที่ไทยและกัมพูชายังไม่ได้ตกลงกันเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม โดยมีทั้งร่างข้อเสนอของทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยคู่กัน และผู้แทนของบาร์เบโดส ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม WHC แทน ได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาทีละย่อหน้า แทนที่จะรอให้มีร่างข้อตัดสินใจที่ทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมกันได้แล้วก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวขัดกับความเข้าใจที่ได้หารือกันมาและขัดกับเจตนารมย์ที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ อีกทั้งยังเป็นการขัดเจตนารมณ์ของไทยที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในที่ประชุม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีก็มีกำหนดการที่จะโทรศัพท์หารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกซึ่งไม่ได้อยู่ในที่ประชุมอยู่แล้วในขณะนั้น และผู้แทนของไทยได้ขอให้ที่ประชุมเลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวออกไปก่อน แต่ที่ประชุมกลับเดินหน้าพิจารณาต่อไป ผู้แทนฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องเดินออกจากที่ประชุมและแสดงเจตนารมย์ที่จะถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เนื่องจากหากมีการพิจารณาร่างข้อมติดังกล่าวและสุดท้ายแล้วมีความเกี่ยวโยงกับแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชา อาจจะกระทบต่ออธิปไตยของไทยและการเจรจาด้านเขตแดนในกรอบของ JBC

5. ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางที่จะพูดจากันอยู่ และฝ่ายไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับยูเนสโกต่อไป สำหรับการดำเนินการเพื่อถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกนั้นให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะพิจารณา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ จะได้ทำบันทึกมอบงานให้กับรัฐมนตรีที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่อไป และแม้ว่าฝ่ายบริหารจะสามารถตัดสินใจในเชิงนโยบายได้ แต่หากการดำเนินการในเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยเหนือดินแดน การตัดสินใจสุดท้ายก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 190 และต้องเสนอให้ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป

6. รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า การดำเนินการของผู้แทนไทยไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่เป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ส่วนการแสดงเจตนารมย์ว่าจะถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกจะกระทบต่อการตีความคดีปราสาทพระวิหารและการออกมาตรการชั่วคราวของศาลโลกหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไทยได้ให้ข้อมูลแก่ศาลโลกหมดแล้วเมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2554 และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ก็ได้ส่งเอกสารตอบคำถามเพิ่มเติมของผู้พิพากษาศาลโลกคนหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนกรณีเหตุการณ์ปะทะบริเวณปราสาทตาเมือนและตาควาย รวมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นต่อข้อมูลของฝ่ายกัมพูชาแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ ศาลโลกจะพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการในกรอบของศาลโลกที่แยกออกจากกรอบการประชุม WHC และยูเนสโก

7. สำหรับผลกระทบต่อสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่เคยมีความประสงค์ที่จะมีประเด็นปัญหากับกัมพูชาและไม่เคยคิดที่จะรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยมีแต่ความปรารถนาดีและความจริงใจที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา และมีความพร้อมเสมอที่จะเจรจาแก้ไขปัญหากันโดยอาศัยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ทั้งหมด อาทิ กลไก JBC ซึ่งสามารถเดินหน้าได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนไทยในบริเวณชายแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น