xs
xsm
sm
md
lg

กต.ลงสุรินทร์แจงแก้ปัญหา “พระวิหาร” - เผยเขมรยัน “ตาควาย-ตาเมือนธม” ของกัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ต่างประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคปชช.ในพื้นที่จ.สุรินทร์ กรณีการแก้ไขข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ วันนี้ (6 ก.ค.)
สุรินทร์ - รองปลัดบัวแก้ว นำทีมชี้แจงทำความเข้าใจ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาค ปชช.ในพื้นที่สุรินทร์ กรณีการแก้ไขข้อพิพาทบริเวณ “ปราสาทพระวิหาร” ทั้งกรณีเขมรยื่นศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505- กรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกประสาทพระวิหาร ชี้แผนบริหารจัดการต้องผ่านความเห็นชอบฝ่ายไทยก่อน และกรณีไทยถอนตัวภาคีอนุสัญญามรดกโลก ย้ำ ยังไม่มีผลทาง กม.เผยเขมรด้านยันปราสาทตามเมือนธม-ตาควาย อยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศกัมพูชา

วันนี้ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมศรีณรงค์ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบกรมสารนิเทศ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนประชาชนหมู่บ้านใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อชี้แจงการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความเข้าใจ ต่อประเด็นปัญหา ดังกล่าวได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงกรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทเขาพระวิหาร เป็นของประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.2505 ตลอดทั้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยประเทศไทยได้ยึดถือแผนที่ ที่ยึดสันปันน้ำเป็นหลัก ในการชี้แนวเขตแดนประเทศไทย และวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ก็เป็นวัดที่ตั้งขึ้นในเขตแดนประเทศไทย โดยมีภาพถ่ายเมื่อปี 2505 ที่ไทยแพ้คดีคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แล้วไทยได้ออกจากปราสาทพระวิหาร และได้สร้างรั้วลวดหนาม กั้นพื้นที่เขตแดนไทยไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งบ่งบอกถึงเขตแดนไทยอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งทางรัฐบาลกัมพูชา ได้แจ้งขึ้นทะเบียนไปแล้ว นั้น ในกระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก จะต้องมีการจัดแผนบริหารจัดการ พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ตลอดทั้ง พื้นที่แนวกันชน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากประเทศไทยด้วย ซึ่งฝ่ายกัมพูชายังไม่สามารถดำเนินการได้ ในประเด็นนี้

สำหรับการถอนตัวจากการเป็น ภาคีอนุสัญญามรดกโลก นั้น นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า น่าจะยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ซึ่งจะมีผลจริงๆ นั้น รัฐบาลต้องทำหนังสือแจ้งไปยัง สำนักงานมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า จะมีการพูดกันมาก ถึงผลดี ผลเสีย ของการถอนตัวจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จริงๆ แล้วยังไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้

“การตัดสินใจถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เป็นเรื่องของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งท่านได้ตัดสินใจ ด้วยตัวท่านเอง ท่านอาจได้รับข้อมูล หรือท่านเป็นหวง ในเรื่องดินแดนที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก” นายพิษณุ กล่าว

ด้าน นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การตัดสินใจลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าคณะทำงานเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานกับคณะผู้เจรจามรดกโลกอยู่ ถึง 2 คน การลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ของ นายสุวิทย์ คุณกิตติ จึงเป็นความเห็นร่วมกันทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด

นายพิษณุ จันทร์วิทัน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงพื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา อีกแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ ที่บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได และ ปราสาทตาเมือนธม ต.เมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเกิดการประทะกันระหว่างไทยกับทหารกัมพูชาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ทางรัฐบาลกัมพูชาได้นำไปเป็นประเด็น และฟ้องไปยังศาลโลก ซึ่งเราได้ชี้แจงไปแล้วว่า ไม่ใช่พื้นที่ใกล้กับปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นพื้นที่อยู่ไกลกันถึง 140 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ตามแผนที่ของประเทศกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชายังระบุว่าบริเวณปราสาทตาเมือนธม กับปราสาทตาควาย ทั้งสอง แห่งอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศกัมพูชา และระบุอีกว่า หลักเขตแดนประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ที่มีการสำรวจปักปันเขตแดนกันมา โดยมีหลักเขตที่ 1 อยู่ที่ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และหลักเขตที่ 73 อยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด

สำหรับการแก้ปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ยังยืนยันว่า บันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา ปี 2543 หรือ MOU 43 ยังจะสามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ คณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้รับข้อร้องเรียน ของประชาชน ที่อาศัยอยู่ใกล้แนวชายแดนไทย-กัมพูชา อยากให้มีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้จบลงโดยเร็ว เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบ เดือดร้อนในเรื่องที่พักอาศัย สัตว์เลี้ยง การทำนา ทำสวนยางพารา ไร่อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งยังหวาดผวาการปะทะกันตามแนวชายแดน ซึ่งคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ รับปัญหาของชาวเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น