xs
xsm
sm
md
lg

ผลเลือกตั้งและระเบิดเวลาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

1. การเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54

           1) ผลการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะประเด็นใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย (265 เสียง) ชนะพรรคประชาธิปัตย์ (159 เสียง) รวมทั้งประเด็นที่ว่าคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์รวมกับพรรคภูมิใจไทย (34 เสียง) ซึ่งได้เพียง 193 เสียง ก็ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด แต่พรรคเพื่อไทยคะแนนเกินครึ่ง ปิดโอกาสฝ่ายตรงข้ามที่จะแข่งขันจัดตั้งรัฐบาล

2) เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ (165 เสียง) พรรคพลังประชาชน (233 เสียง) ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ถดถอยแต่พรรคเพื่อไทยเติบใหญ่รุดหน้า ทั้งๆ ที่ก่อนเลือกตั้ง 2 ปีครึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายถือครองอำนาจรัฐ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องสรุปบทเรียนความผิดพลาดและยกเครื่องตัวเองครั้งใหญ่

3) คะแนน “โหวตโน” หรือไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครยังอยู่ในระดับเดิม กล่าวคือเมื่อปี 2550 โหวตโนระบบบัญชีรายชื่อ 935,306 คะแนน ระบบเขตเลือกตั้ง 1,499,707 คะแนน ขณะที่ปี 2554 โหวตโนระบบบัญชีรายชื่อ 958,052 คะแนน ระบบเขตเลือกตั้ง 1,419,088 คะแนน  

อย่างไรก็ตาม นัยสำคัญของคะแนนโหวตโนปี 2554 น่าจะอยู่ตรงที่ว่าคะแนนโหวตโนครั้งล่าสุดนี้ส่วนใหญ่เป็นคะแนนที่มุ่งประสงค์ปฏิเสธสภาพการณ์การเมืองไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นกลุ่มคะแนนที่อยากเห็นการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้น หรือที่สนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเนื้อแท้วันนี้มีอยู่ประมาณ 1.5-2 ล้านคน นั่นเอง

ส่วนประเด็นว่าคะแนนโหวตโนทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้นั้น อาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่นัยสำคัญ เพราะในภาพรวมพรรคเพื่อไทยทิ้งห่างประชาธิปัตย์ถึง 106 ที่นั่ง ดังนั้นต่อให้คะแนนโหวตโนมีเพียง 1 คะแนนก็ไม่ได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้

4) ในเชิงวิชาการ นักวิชาการกลุ่มหนึ่งวิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งแบบเขตเดียว คนเดียวหรือ “วันแมนวันโหวต”หากกระทำซ้ำหรือใช้ระบบนี้ต่อไปอีก 3-4 ครั้ง จะทำให้พรรคเล็กสูญพันธุ์จะพัฒนานำไปสู่ระบบสองพรรคหรือสามพรรค  

ในขณะที่เริ่มมีนักวิชาการขานรับกันมากขึ้นว่า เพื่อเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสทางการเมืองมากขึ้น ควรที่จะยกเลิกกฎหมายที่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ในส่วนของการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบพรรคนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จากกรณีพรรครักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้ 4 ที่นั่ง, พรรคมาตุภูมิ/พรรคพลังชล/พรรคประชาธิปไตยใหม่/พรรคมหาชน พรรคละ 1 ที่นั่ง โดยการคิดคำนวณรอบแรกใช้คะแนน 260,193 คะแนนต่อ 1 ที่นั่ง ได้ ส.ส. 115 คน อีก 10 คนคิดค่าเฉลี่ยใหม่ในรอบสอง ทำให้พรรคที่ได้คะแนนรวมเพียง125,781 คะแนนอย่างพรรคมหาชนได้รับเลือก 1 ที่นั่ง

5) บทบาทการจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ในภาพรวมยังต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับโกงจับทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีใบเหลืองใบแดงแม้แต่ใบเดียวก่อนวันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งก็ดูเหมือนจะมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ชาวบ้านประชาชนรู้ดีว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมโหฬาร

6) อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554  ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยอะไรมาก แต่อย่างน้อยก็เป็นประตูแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียดขัดแย้งของสังคมไทยได้ระดับหนึ่ง ทำให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่ที่ตั้งและให้โอกาสพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ โดยไม่ต้องมานั่งเล่นสำนวนโวหารกันอีกต่อไปว่า รถไฟขบวนที่ชื่อประเทศไทยจอดป้ายสถานีทักษิณนานเกินไปแล้ว...เพราะวันนี้คนที่คอยกดปุ่มรีโมตบังคับรถไฟขบวนนี้ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”

2.ระเบิดเวลา

จะว่าไปแล้วการตั้งโจทย์ของพรรคเพื่อไทย-ว่าที่นายกฯ คนใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บอกว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การสร้างความปรองดองและการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ-ปากท้องประชาชนนั่น น่าจะเป็นการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องกับสภาพการณ์ของประเทศแล้ว

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์น่าจะฝ่าฟันปัญหาไปได้ แต่ปัญหาที่ชวนระทึกใจว่านายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยจะใช้กระบวนท่าลีลาแบบไหนในการแก้ปัญหาก็คือ การสร้างความปรองดอง...เพราะสังคมไทยกำลังจับจ้องมองอยู่ว่า การปรองดองนี้จะเป็นการช่วยเหลือหรือนิรโทษกรรมให้นักโทษชายหนีคดีอย่างทักษิณ ชินวัตร หรือไม่!?

ก่อนเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยพยายามเก็บอาการไม่พยายามพูดเรื่องการนิรโทษกรรม หลังเลือกตั้งก็พยายามพูดอย่างระมัดระวังว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้คนคนเดียว ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ก็พูดจาด้วยท่วงท่าที่นุ่มนวลชวนฟังว่า...แม้อยากจะกลับประเทศไทย แต่ถ้ากลับมาสร้างปัญหาก็ยังไม่ต้องกลับ...ยังรอได้

“จะขอแก้ไข ไม่ขอแก้แค้น” วลีทองของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการพูดจาอย่างระมัดระวังของทักษิณ ดูเหมือนจะทำให้อุณหภูมิการเมืองลดความร้อนแรงไปได้พอประมาณ แต่ปัญหาก็คือหนทางปฏิบัติจะทำกันอย่างไร...จะนำผลการค้นหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปรองดอง (คอป.) ของดร.คณิต ณ นคร มาขยายผลหรือเล่นแร่แปรธาตุอย่างไร...

ผมเคยเสนอไปหลายครั้งว่า ถ้าทักษิณยอมกลับมาติดคุกแล้วขออภัยโทษจะทำให้การปรองดองของสังคมไทยง่ายขึ้น....แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าคนอย่างทักษิณสะกดคำว่า “ติดคุก” ไม่เป็น บางฝ่ายกระซิบกระซาบมาว่า...ไม่แน่นักวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อ รัฐบาลรักยิ่ง รักยิ่ง...รัก...ยิ่งลักษณ์ ของคนเสื้อแดงกระชับพื้นที่ประเทศไทยได้แล้ว อาจมีการทำประชามติ ขอประชามติว่าจะนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายทุกเสื้อสี (รวมทั้งทักษิณ) หรือไม่...!? ถ้าผ่านก็ออกกฎหมายรองรับ

วันนี้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทยขยับขึ้นเป็นเกือบ 16 ล้านสียง...ถ้าออกเสียงประชามติดังว่า ก็เรียบร้อยโรงเรียนแม้วแน่นอน

ผมไม่กล้าฟันธงว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ รู้แต่ว่าปัญหานี้คือระเบิดเวลา...แต่ระเบิดเวลาบางครั้งก็สามารถถอดสลักได้ในนามเสียงข้างมากของประชาชน...

เหมือนการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่บางฝ่ายบอกว่า...เข้าใจได้แต่รับไม่ได้ แต่บางฝ่ายบอกว่าเข้าใจได้..ทำใจได้ แต่ขอกินยาทัมใจซัก 10 ซองก็แล้วกัน!!

            samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น