ฉะเชิงเทรา
หลังผลการเลือกตั้งออกมา สนามจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทำให้ผู้คนทั่วไปทั้งที่เป็นคอการเมืองรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ต่างตกตะลึง เพราะตระกูลเก่าแก่ที่ครองเก้าอี้ส.ส.แบบผูกขาด 2 ตระกูล คือ “ ตันเจริญ” และ” ฉายแสง” พ่ายแพ้หลุดลุ่ย ทั้ง 4 เขต
เขตเลือกตั้งที่ 1 และ 4 ที่ทั้งสองเขตนี้ เมื่อเอ่ยปากถามใครๆ ต่างก็รู้ดีกันว่า คนจากตระกูล "ฉายแสง" ได้ปักหลักยึดธงมาอย่างยาวนาน และโยกย้ายสับรางเปลี่ยนต้นสังกัด ใหม่มาอย่างหลากหลายพรรค หลากหลายอุดมการณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากรุ่นพ่อ คือ นายอนันต์ ฉายแสง ลงสู่รุ่นลูก นับไล่เรียงเรื่อยกันลงมา จากพี่ชายคนโตสุด คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ลงสู่น้องสาวคนเล็ก คือ นางฐิติมา ฉายแสง ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี แบบที่ไม่เคยมีใครสามารถเข้ามาแย่งชิงตำแหน่งในพื้นที่ ยึดเก้าอี้ปักติ้วชักธงแย่งไปได้ โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1
จึงถือว่าเป็นการเล่นการเมืองแบบผูกขาดของตระกูล” ฉายแสง” ที่ ยึดครองเกาะเก้าอี้ ส.ส.ในเขตนี้ มาอย่างยาวนานแบบฝังแน่น พร้อมทั้งยังหยั่งรากฝังโคน ไปจนถึงระดับการเมืองท้องถิ่น ที่มีบุตรชายคนที่ 2 ของตระกูล คือ นายกลยุทธ ฉายแสง ซึ่งยังคงเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา มาอย่างยาวนาน
แต่ด้วยองค์ประกอบและเหตุผลที่หลากหลาย และนานาทัศนะ ที่ผู้คนต่างก็อาจว่ากันไป จนท้ายที่สุด หากมาลอง วิเคราะห์กันดูให้ดีแล้ว จะมองเห็นได้ว่า ชาวแปดริ้วในยุคสมัยนี้ ส่วนหนึ่งนั้น ก็อาจต้องยอมรับว่า กระแสของพรรคคู่แข่ง อย่าง ดร.บุญเลิศ ไพรินทร์ อดีตส.ว. และเจ้าสของฉายา” โหรส.ว. ที่มาได้อย่างถูกเวลาถูกสนาม และยังสังกัดพรรคได้อย่างเหมาะเจาะ ตรงกับแรงบวกที่ได้ใจต่อผู้คนที่หลากหลาย
ทั้งในด้าน "ความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน" ที่เจ้าตัวมักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอทุกครั้งไป ในการหาเสียงว่า "ยังคงเป็นหนี้ต่อผืนแผ่นดินนี้อยู่ และยังทำงานชดใช้ได้ไม่หมด" และจะขอเข้ามาทำงานต่อ เพื่อใช้หนี้ให้แก่ประเทศชาติ หลังที่เคยได้ใช้เงินทุนของรัฐ ในการร่ำเรียนมาจนถึงขั้นจบด็อกเตอร์ แม้จะเคยทำงานให้แก่ทางราชการมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี แล้วก็ตาม ก็จะขอ ทำงานต่อไป เพราะด้วยสำนึกที่เป็นลูกของชาวนา ที่เคยได้ดิบได้ดีไต่ระดับขึ้นไปจนถึงข้าราชการระดับขั้น 10 ในสำนักนายกรัฐมนตรี ล้วนแล้วแต่ได้ใช้เงินทุนในภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากร ของประชาชนในการศึกษาเล่าเรียนทั้งสิ้น
ขณะที่พลังแห่งพรรคประชาธิปัตย์ นั้นก็ถือว่าเคยมีดีกรีดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้วนั้น โดยเฉพาะ แม้แต่ตระกูล "ฉายแสง" เอง ก็ได้เคยอาศัยใช้บารมีแห่งพรรคนี้ ในการแจ้งเกิดตั้งแต่เก่าแก่ก่อนมา เมื่อนำ 2สิ่งนั้น มาบรรจบเข้าด้วยกันกับพลังแห่งบุคคล ในคุณความดีที่เคยสร้างสมมีมาแต่ในอดีต ของ ดร.บุญเลิศ ไพรินทร์ บวกผสานกับคะแนนเสียงของกลุ่มคนอีกหนึ่งส่วน ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ของนักการเมืองทางเลือก จึงทำให้ทั้ง 3 สิ่งนี้ ออกผลรวบยอดพอดีกัน ที่ชัยชนะของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์หน้าใหม่รายนี้นั่นเอง
ขณะที่การสูญสิ้น "ฉายแสง" ในเขตเลือกตั้งที่ 4 นั้น ยิ่งถือได้ว่าฐานคะแนนในพลังแห่งพรรคนั้นมีสูงกว่าในเขตแรก หากจะมองย้อนไปเมื่อครั้งการส่งผู้สมัคร ในรายก่อนๆ เมื่อการเลือกตั้งในสมัยที่ผ่านๆ มา อย่างเช่น นายจักรวาล ท้วมเจริญ ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ จะได้ระดับคะแนนที่สูงถึงกว่า 2 หมื่นคะแนนอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดทุกครั้ง แต่มาในครั้งนี้เมื่อเปลี่ยนย้ายพรรคไป กลับมีระดับคะแนนส่วนตัวแค่เพียงหลักพันเท่านั้นเอง
เมื่อนำ 3 สิ่งมาบรรจบเข้าด้วยกัน ของ พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ ซึ่งมีทั้งดีกรี ทั้งด้านชื่อตระกูลอยู่ในพื้นที่ และตำแหน่งหน้าที่การงานในอดีต คือ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มาบวกผสมเข้ากับพลังของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตพื้นที่นี้ ผลที่ได้ออกมาก็คือคนจากตระกูล "ฉายแสง" อย่างนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง จึงต้องมีอันสูญสิ้นตำแหน่ง ตกตามกันไป
ส่วน เขตเลือกตั้งที่ 2 และ 3 นั้น จะว่าไปแล้วสนามแรกก็ใช่ว่าจะเป็นสนามแข่งเซียนแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเป็นผลพวงจากการถูกหิ้ว ถูกแขวนให้เว้นวรรคทางการเมืองของบรรดาอดีต ส.ส.จอมเก๋า ทั้งหลายทั้งปวง
นับจากนายสุชาติ ตันเจริญ ที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ครอบคลุมพื้นที่ ตามการแบ่งเขตในสมัยก่อนมายาวนาน ถึง 9 สมัย แต่ได้ถูกปิดท้ายบัญชีด้วยบ้านเลขที่ 111 ก็ได้สละสนามแบบแบ่งเขตใหญ่ให้แก่พี่ชาย คือ นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ได้เข้ายึดครอง ปักธงลงไปในพื้นที่แทน ได้อย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ ควบคู่กับ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีต ส.ส.หลายสมัย ของทั้งไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และอีกหลากหลายพรรคในอดีต แต่สุดท้ายก็มาถูกแขวนด้วยฐานะกรรมการบริหารพรรคอีกเช่นเดียวกัน
จึงได้ส่งผลให้ นายณัชพล ตันเจริญ หรือ "ตันเจริญจูเนียร์" บุตรชายของ นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ส.ส.ตัวพ่อ ที่ได้แจ้งเกิดไปก่อนหน้าแล้วได้มีโอกาสแจ้งเกิดตามกันมาในสนามซ่อมขึ้นแทนที่ และถือได้ว่าเป็นยุคทองแห่งความรุ่งเรือง อีกยุคหนึ่งของตระกูลตันเจริญ ที่ได้เก้าอี้ ส.ส.มานั่งได้ถึง 2 ตัวพร้อมกัน
แต่สุดท้ายก็มาถูกทวงคืน จาก นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ได้เคยแจ้งเกิดไปแล้วก่อนหน้า 1 สมัย เมื่อครั้งที่ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร คู่หูคนสนิท ได้สละตำแหน่งแบ่งเก้าอี้ ส.ส.เขตพื้นที่ให้นั่ง ก่อนที่จะโยกตัวเองไปขึ้นเป็นแบบบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคพลังประชาชน จนสุดท้ายก็ต้องมาถูกสอยให้ร่วงตามลงไปในที่สุดจากคดียุบพรรค
แต่สิ่งที่น่าแปลกมากกว่ากลุ่มอื่นใดนั้น กลับไปเกิดขึ้นกับตระกูล "ตันเจริญ" เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้พากันชักแถวเดินเรียงหน้าพากันลงสนาม ทั้ง บรรดา พี่เขย พี่ชาย น้องชาย หลานชาย ของ ส.ส.จอมเก๋า อย่างนายสุชาติ ตันเจริญ ทั้งสิ้น พร้อมทั้งพากันเข้าแย่งชิง แบ่งคะแนนกันเองในซีกของฝ่ายตนเอง ที่นอกจากจะมีนายณัชพล ตันเจริญ อดีต ส.ส.ในชั้นหลานลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตที่ 2 แล้ว ยังมี นายเฉลิมชัย ตันเจริญ น้องชายคนสุดท้องของตระกูล ตันเจริญ มาลงแข่งกับหลานด้วยอีกคน จึงได้ความสับสนต่อผู้คนที่ลุ่มหลงในสายป่านของตระกูลนี้จนเป็นที่มึนงงกันไปตามกัน
ขณะที่ในสนามยังมีตัวแบ่งแย่งคะแนนจากพลังดูดของพรรคประชาธิปัตย์ อีก คือ นายชาลี เจริญสุข ที่สามารถกวาดเอาคะแนนเสียงมาได้ถึงกว่า 16,184 คะแนน ประกอบกับการที่คน “ตันเจริญ” ในตัวผู้สมัครหลักนั้น ก็ได้ทิ้งห่างไม่เคยได้เข้ามาใกล้ชิดอยู่ในพื้นที่บ้านเกิดของต้นตระกูลแต่อย่างใด ทั้งนายสุชาติ ตันเจริญเอง ที่อยู่บ้านริมน้ำเมืองนนทบุรี ขณะที่พ่อลูก อย่าง นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ และนายณัชพล ตันเจริญ เอง ก็ได้อาศัยอยู่ที่บ้านลาดพร้าว
ประกอบกับหัวใจสำคัญ อย่าง นายวิเชียร ตันเจริญ คหบดีผู้มีใจโอบอ้อมอารี ผู้เป็นบิดา ที่เคยเป็นตัวประสานหลักอยู่ในพื้นที่นั้น ก็ได้เสียชีวิตลงไปนานกว่า 4 ปีเต็มแล้ว จึงยิ่งทำให้ศูนย์รวมแห่งพลังมนต์ขลัง ที่เคยมีมาแต่เก่าก่อนจึงเริ่มเสื่อมคลายถอยลงไป นั่น คือบทสุดท้ายแห่งการสูญสิ้นของตระกูล "ตันเจริญ" จากวงการทางการเมืองไปในที่สุด
ขณะที่การแจ้งเกิดของพี่เขย ในนามของพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 3 ที่เข้ามาแทรกแทนที่ แย่งตำแหน่ง ส.ส.มาจาก นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ นั้น ต่างก็เป็นเพราะด้วยพลังแห่งพรรค และการขลุกตัวอยู่ในพื้นที่มายาวนาน เนื่องด้วยพื้นที่โซนเขต 3 นั้น เป็นดินแดนอีสานของ จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีผู้คนจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ ผลการเลือกตั้งที่ได้ จึงไม่แปลกอะไรไปจากพื้นที่สีแดงในแถบฝั่งขวาของแม่น้ำโขงแต่อย่างใด