ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-ชาวโคราชไม่หวั่น “ปราสาทหินพิมาย” แหล่งโบราณสถานสำคัญของไทยที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ได้รับการพิจารณา เห็นด้วยไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลกดีกว่าเสียดินแดน “เขาพระวิหาร” ให้เขมร ด้านผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 ระบุ นักท่องเที่ยวไทยเทศเข้าชม ปีละกว่า 4 แสน สร้างรายได้กว่า 7 ล้าน ระบุไม่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่กระทบเพราะเป็นที่รู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว และไทยเรามีงบฯ ดูแลต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่ม 25 ล้านบูรณะ
วานนี้(29 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครราชสีมา ว่า ภายหลังไทยประกาศถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกและกรรมการมรดกโลก ส่งผลให้คนไทยกังวลว่าแหล่งโบราณสถานเก่าแก่ของไทยที่เตรียมเสนอการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต้องตกไป โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ส่งผลให้ประชาชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ส่วนใหญ่ชาวอำเภอพิมาย เห็นว่า ไม่รู้สึกเสียใจที่ปราสาทหินพิมาย อาจ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากปราสาทหินพิมายมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว และในทุกปี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชมอุทยานปราสาทหินพิมาย เป็นจำนวนมาก แต่หากปราสาทหินพิมายมีโอกาสได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจริง ก็เป็นเรื่องที่ดีและส่งผลดีกับประชาชนชาวพิมายและคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนชาวพิมายบางส่วนรู้สึกเสียใจ เพราะเกรงว่าปราสาทหินพิมายจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งที่มีโอกาส แต่เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนต้องการรักษาดินแดนของไทยเอาไว้ไม่ให้ชาติใดมารุกรานหรือฮุบผืนแผ่นดินไทยไป
นายศักดิ์ชัย พจน์นันท์วาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้มีการเสนอขอขึ้นทะเบียนอุทยานปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา และอุทยานปราสาทหินพนมรุ้ง รวมถึงปราสาทเมืองต่ำใน จ.บุรีรัมย์ เส้นทางอารยธรรมขอมเป็นมรดกโลก เมื่อ 6-7 ปีก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งหากโบราณสถานทั้ง 3 แห่งได้ขึ้นเป็นทะเบียนเป็นมรดกโลกก็จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของทั่วโลกมากขึ้นและจะได้รับการช่วยเหลือด้านต่าง ๆจากยูเนสโก
อย่างไรก็ตาม เมื่อไทยประกาศถอนตัวออกจากกรรมการมรดกโลก โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อโบราณสถานของไทย เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็รู้จักโบราณสถานทั้ง 3 แห่งของไทยอยู่แล้ว เพราะหากเราไม่ตัดสินใจถอนตัวอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร บริเวณเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ไปก็เป็นได้ ฉะนั้นการตัดสินใจครั้งนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
นายศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปีละกว่า 400,000 ราย สร้างรายได้แต่ละปีประมาณ 6-7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย สำหรับชาวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ส่วนนักท่องเที่ยวแถวยุโรปลดลงหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาของประเทศไทยเราไม่สงบ โดยอุทยานฯ จำหน่ายบัตรเข้าชมให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยราคา 20 บาท/คน ต่างชาติ 100 บาท/คน ส่วนนักเรียนและภิกษุสามเณร จะไม่เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด
“แม้ว่าโบราณสถานของไทยเราจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เราก็ยังมีงบประมาณในการที่จะบูรณะซ่อมแซมและดูแลโบราณสถานของไทยเราอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งล่าสุดอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่า 25 ล้านบาทในการบูรณะซ่อมแซมกำแพง และประตูเมืองที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมกำหนดแล้วเสร็จใน เม.ย. 2555 และการที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักโบราณสถานของไทยทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่เพราะมรดกโลกแต่อย่างใด” นายศักดิ์ชัย กล่าว