“โสมสุดา” แจงต้องทำหนังสือยืนยันแจ้งการลาออกอย่างเป็นทางการกับยูเนสโกก่อน ครบ 1 ปี จึงมีผลสมบูรณ์ วธ.เดินหน้าพัฒนาข้อมูลมรดกโลก ชี้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกับยูเนสโก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีไทยประกาศถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ว่า นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ได้โทรศัพท์มารายงานการลาออกจากภาคีมรดกโลกของไทย ยังไม่มีผลทีนที รัฐบาลต้องส่งหนังสือยืนยันแจ้งการลาออกอย่างเป็นทางการกลับไปยังยูเนสโก เมื่อครบ 1 ปี การลาออกจึงจะมีผลสมบูรณ์ ส่วนตำแหน่งคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ นางโสมสุดา ต้องส่งหนังสือลาออกอย่างเป็นทางการเช่นกัน และต้องหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรอีกบ้าง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) รอการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรม 2 แห่ง คือ 1.ปราสาทหินพิมายและเส้นทางวัฒนธรรม และปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ 2.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นั้น จะไม่มีการพิจารณาขึ้นทะเบียน รวมทั้งการเสนอแหล่งวัฒนธรรมอื่นๆ ที่กรมศิลปากรกำลังจัดทำข้อมูลก็ต้องหยุดทั้งหมดด้วย
ด้าน นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมรดกโลก www.thaiwhic.go.th ภายหลัง นางโสมสุดา ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการมรดกโลกเมื่อปี 2552 เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านมรดกโลก เช่น อนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก บทบาท และหน้าที่ของคณะกรรมการมรดกโลก แหล่งมรดกโลกของประเทศไทย ตลอดจนข้อมูล ข่าวสาร และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกันนั้น และแม้ว่าไทยจะพ้นจากการเป็นสมาชิกยูเนสโกอย่างไม่เป็นทางการ แต่วธ.จะมีการพัฒนาข้อมูลเหล่านี้ต่อ และร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาข้อมูลทั้งหมดแล้วเปิดให้สืบค้นเป็นแอปพลิเคชันผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยจะเปิดตัวเดือนสิงหาคม 2554 เน้นเนื้อหาเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลศิลปวัฒนธรรม 76 จังหวัดๆ ละกว่า 1,000 ข้อมูลแล้ว และได้หารือกับสำนักงบประมาณแล้ว คาดว่า ในปี 2555 จะได้รับงบพัฒนาระบบ 10 ล้านบาท
นายสมชาย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระบบข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม ว่า ตนต้องการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทุกกรมทุกหน่วยงานต้องให้ความร่วมมืออย่างบูรณาการออกมาเป็นภาพรวมของกระทรวงวัฒนธรรมในรูปเนื้อหาทางวิชาการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยให้เห็นภาพว่าแต่ละจังหวัดมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นอย่างไรบ้าง มีพื้นที่ทางวัฒนธรรม โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนที่ใหนบ้าง เบื้องต้น แต่ละกรมได้รับหน้าที่ตามภารกิจของตนเอง เช่น การศึกษาเชิงลึกในเรื่องภูมิปัญญาแต่ละด้านเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม งานมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ โบราณวัตถุศิลปวัตถุ โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งมรดกโลก อาทิ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร ซึ่งข้อมูลจะปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ วธ.ทั้งหมด เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน