xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.ศึกษา”คิตะคิวชู”ญี่ปุ่น ยกระดับเมืองสู่อุตฯเชิงนิเวศน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม กำลังเป็นประเด็นที่สังคมไทยเริ่มตระหนักถึงผลกระทบมากขึ้น และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนอาจกระทบต่อภาวะการลงทุนในอนาคตของไทย ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ที่กำกับโรงงานทั่วประเทศจึงเล็งเห็นความสำคัญต่อการยกระดับเมืองให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์หรือ Eco-Town
เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันของชุมชน อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
เมืองคิตะคิวชู ในจังหวัดฟูกูโอกะตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ญี่ปุ่น ถือเป็นเมืองต้นแบบของการจัดการด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กรอ.จะสามารถนำมาปรับใช้กับไทยได้เป็นอย่างดี โดยเมืองนี้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มขึ้นในปี 2504 เมื่อมีการก่อตั้งโรงเหล็กยาฮาตะ และจากนั้นได้มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจนทำให้เป็น 1 ใน 4 เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวได้นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ กลุ่มแม่บ้านของเมืองคิตะคิวชูได้สังเกตเห็นน้ำในอ่าวโดไกวันกลายเป็นสีส้ม ท้องฟ้ามีควันปกคลุม ฝุ่นละอองที่จังตามหลังคาบ้านจึงทำให้เกิดการหาแหล่งที่มาของมลพิษด้วยการเริ่มเข้าไปศึกษาหาข้อมูลจากสถาบันการศึกษา การขอเข้าเยี่ยมชมโรงงาน การแจ้งต่อเทศบาลนคร และการร่วมมือกับสื่อมวลชน จนทำให้คนในชุมชนตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่
โดยปี 2540 รัฐบาลกลาง (กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม) ได้ส่งเสริมการจัดตั้ง Eco-Town ในญี่ปุ่นและเปิดโอกาสให้เมืองเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยเน้น การนำของเสียอุตสาหกรรมใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ โดยมีเป้าหมาย คือ อัตราการปล่อยของเสียจากโรงงานเป็นศูนย์ (Zero emission) โดยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนโดยใช้เทคโนโลยีสะอาดตามหลักการ 3Rs (Reduce Reuse และRecycle)
เมืองคิวชู จึงใช้โอกาสนี้พัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางธุกิจด้านสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลนำไปสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อในปัจจุบันจนทำให้พื้นที่เมืองทั้งหมดมีการปล่อยมลพิษที่ต่ำมาก มีการส่งเสริมการวิจัยด้านสิ่งปฏิกูล การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการของเสียอย่างต่อเนื่อง สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมทำให้คนที่นี่อาศัยอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างมีความสุข
“ชาวเมืองเราไม่เคยหยุดนิ่งในการลดมลพิษ เรามองไปไกลว่าจะทำอย่างไรให้ของเสีย ขยะในเมืองที่เกิดจากอุตสาหกรรมทั้งหมดของเราเป็นศูนย์ ทำให้วันนี้เราพูดได้ว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก และมาบตาพุดของไทยเองหากทุกฝ่ายตั้งใจผมก็มองว่าก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ก็ต้องอยู่ที่จิตสำนึก”นายริอิจิ ฮิซูโมโต ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมในประเทศ เมืองคิตะคิวชูกล่าว
สำหรับการปรับนำมาใช้พัฒนา Eco-Town ในไทย นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวยอมรับว่า ญี่ปุ่นมีความร่วมมือทุกส่วนเป็นอย่างดีซึ่งของไทยนั้นภาคอุตสาหกรรมจะต้องตระหนักให้มากเรื่องนี้เพราะรัฐบาลไทยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณระยะแรกเราคงไม่ได้หวังผลมาก แต่จะเน้นการสร้างความเข้าใจให้เกิดเป็นกระแสสังคมที่จะร่วมมือกันผลักดันต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ผมอยากเห็นรัฐบาลใหม่มาจะต้องคิดระยะกลางและระยะยาวมากขึ้นไม่ใช่แก้ปัญหาระยะสั้น การมุ่งสู่การขยายตัวเศรษฐกิจต้องไม่เน้นอุตสาหกรรมที่เติบโตในเชิงปริมาณอย่างเดียวแต่จะต้องสร้างอุตสาหกรรมที่ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติโดยมีคุณค่าทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้แผนงาน Eco-Town ของไทยยังเป็นรูปธรรมน้อย
และฝ่ายการเมืองยังให้การสนับสนุนน้อยกว่าหากเทียบกับญี่ปุ่น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมืออย่างจริงจังและผู้นำคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรม”นายอาทิตย์กล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยอนาคตจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) หรือเรียกว่าอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เน้นมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนโดยมีการพัฒนาใน 5 มิติ (เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม กายภาพและการบริหารจัดการ) โดยปีงบประมาณ 2552 กรอ.ได้ลงนามดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์กับเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสวนอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี นำร่องแล้ว ระยะเวลาดำเนินการ 5ปี (2553-2557) ส่วนปี 2554 จะขยายผลให้โรงงานแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 100 ราย
การยกระดับเมืองสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ของไทยจะก้าวไปไกลแค่ไหน ท้ายสุดคงจะต้องจับตานโยบายรัฐบาลใหม่กับแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น