xs
xsm
sm
md
lg

การ Vote No คือการแสดงออกของปวงชนที่ประเสริฐยิ่ง

เผยแพร่:   โดย: วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด.

การ Vote No ตามหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการแสดงออกของปวงชนที่ประเสริฐยิ่ง.

กระนั้นก็ดี คุณอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้เขียนบทความ “ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO)” เผยแพร่โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 ที่ http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9540000074994 ด้วยความเคารพต่อตำแหน่งของคุณอนุรักษ์ที่มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งมีความห่วงใยเกี่ยวกับการ Vote No อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประเสริฐยิ่งนี้ ผู้เขียนจำต้องตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นบางประการดังนี้.

ข้อสังเกตประการแรก: บัตร Vote No ไม่มีผลจำกัดต่อผู้สมัครอื่น เว้นแต่เขตนั้นมีผู้สมัครคนเดียว

คุณอนุรักษ์ตีความ “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550” ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (เรียกย่อในที่นี้ว่า “กฎหมายเลือกตั้ง”) อย่างน่าเป็นห่วงยิ่งนัก โดยกล่าวว่า:
“มาตรา 89 บัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 88 ซึ่งเป็นเทคนิคการร่างกฎหมายที่ต้องการให้มาตรา 89 นำหลักการตามมาตรา 88 มาใช้บังคับด้วยโดยไม่ระบุซ้ำลงไปในมาตรา 89 อีก จึงหมายความว่า ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครหลายคน ผู้สมัครที่จะถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง จะต้องผ่านองค์ประกอบของกฎหมายทั้งมาตรามาตรา 88 และมาตรา 89 กล่าวคือ
1.ได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น
2.ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง และ
3.ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น”

หากการตีความของคุณอนุรักษ์ถูกต้อง ย่อมหมายความว่า ในเขตเลือกตั้งหนึ่งสมมติมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100 คน และมีผู้มาใช้สิทธิครึ่งหนึ่ง คือ 50 คน แบ่งเป็นลงคะแนนให้ พรรคที่หนึ่ง 15 เสียง พรรคที่สอง 5 เสียง และ Vote No อีก 25 เสียง แต่เมื่อผู้สมัครจากพรรคที่หนึ่ง (15 เสียง) ได้รับคะแนนน้อยกว่า Vote No (25 เสียง) ผู้สมัครจากพรรคที่หนึ่งก็ไม่ถือเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง แม้จะได้รับคะแนนสูงสุดก็ตาม.

ผู้เขียนเห็นว่าการตีความเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด โดยคุณอนุรักษ์อาจสับสนนัยทางกฎหมายของคำว่า “ภายใต้บังคับ” ดังอธิบายตามบริบทได้ดังนี้.

“ภายใต้บังคับ” เป็นวลีที่มีนัยพิเศษทางกฎหมาย ในบริบทนี้หมายความว่า “ยกเว้นในกรณีตาม” เช่น หากพิจารณาจากตัวบทที่คุณอนุรักษ์อ้างถึง คือ:
“มาตรา 88 ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง...”
“มาตรา 89 ภายใต้บังคับมาตรา 88 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง...”

การอ่านตัวบทย่อมหมายความว่า: ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 89 ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง (ไม่ว่าจะมีคะแนน Vote No มากน้อยเท่าใด) ยกเว้นในกรณีตามมาตรา 88 กล่าวคือ กรณีมีผู้สมัครคนเดียว ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิในเขต และมากกว่าจำนวนบัตร Vote No.

ดังนั้น กรณีมาตรา 88 กับ มาตรา 89 จะนำมาปะปนกันไม่ได้ เพราะในเขตเลือกตั้งเดียวกันย่อมเป็นได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่ง คือมีผู้สมัครหลายคนตามกรณีมาตรา 89 หรือไม่ก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียวตามกรณีมาตรา 88 จึงไม่อาจเป็นกรณีทั้งสองปนกันหรือพร้อมกันได้.

หากผู้อ่านยังไม่เชื่อผู้เขียน สามารถพิจารณาตัวอย่างที่เทียบได้ชัดเจน คือ บทบัญญัติของกฎหมายเลือกตั้งฉบับเดียวกัน ส่วนเดียวกัน ที่ใช้วลีเดียวกัน คือมาตรา 81 และ 85 ดังนี้:
“มาตรา 81 ภายใต้บังคับมาตรา 85 การนับคะแนนเลือกตั้งให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนนเลือกตั้ง...”
“มาตรา 85 ถ้าการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้ หรือไม่สามารถนับคะแนนได้จนเสร็จสิ้น อันเนื่องจากเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น หรือด้วยความจำเป็นตามสภาพที่อาจมีผลต่อความปลอดภัย ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนนสำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้น...”

จะเห็นได้ว่า “มาตรา 81 ภายใต้บังคับ มาตรา 85” หมายความว่า มาตรา 81 เป็นกรณีทั่วไป (ที่ต้องนับคะแนนให้เสร็จ) ยกเว้นในกรณีตาม มาตรา 85 (ที่ต้องงดนับคะแนนเพราะน้ำท่วมหรือไฟไหม้ ฯลฯ) ซึ่งเป็นได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่ง คือนับให้เสร็จ หรือ งดนับ ไม่อาจเป็นกรณีทั้งสองปนกันหรือพร้อมกันได้.

สรุป คุณอนุรักษ์เข้าใจความหมายของคำว่า “ภายใต้บังคับ” ผิดไปจากบริบท แท้จริงแล้ว คะแนน Vote No จะมี “ผลทางนิตินัย” ดังที่คุณอนุรักษ์ว่าก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่เขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่หากมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน ผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง จะนำสองกรณีมาปะปนกันไม่ได้.

อนึ่ง สมควรกล่าวให้ความเป็นธรรมว่า จะหาว่าคุณอนุรักษ์จะเข้าใจผิดไปเองผู้เดียวก็มิถูกนัก เพราะนักกฎหมายไทยบางส่วนก็ได้ใช้วลี “ภายใต้บังคับ” ที่สื่อความหมายอย่างปะปนและไม่รัดกุม เช่น นักกฎหมายผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ใช้วลี “ภายใต้บังคับ” ให้หมายถึง “ยกเว้นในกรณีตาม” เช่น ในมาตรา 128 มาตรา 142 และ มาตรา 146 แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันเองกลับใช้วลี “ภายใต้บังคับ” เพื่อหมายถึง “ทั้งนี้ให้เป็นไปตาม” หรือ “ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อ” เช่น มาตรา 209 หรือ มาตรา 281 จึงน่าจะถึงยุคที่นักกฎหมายรุ่นใหม่จะได้ปฏิเสธการใช้ถ้อยคำที่ไม่รัดกุมโดยเฉพาะที่มาจากการร่างกฎหมายอย่างเร่งรีบและผิดครรลองประชาธิปไตยดังกล่าวเสียที.

ข้อสังเกตประการที่สอง (ที่สำคัญมากกว่าข้อแรก): การ Vote No เป็นทั้งสิทธิและเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย

แม้ผู้เขียนอาจไม่เห็นด้วยกับคุณอนุรักษ์ในเรื่องวลี “ภายใต้บังคับ” แต่ผู้เขียนเห็นด้วยที่คุณอนุรักษ์ย้ำว่า การไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) นั้น “เป็นหลักประกันแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะสงวน[สิทธิ]ไม่เลือกผู้ใด” และ “สามารถกระทำได้โดยชอบ” อันที่จริงหากจะกล่าวให้ชัด ควรกล่าวว่าการ Vote No เป็น “เสรีภาพ” เพราะไม่มีกฎหมายใดจำกัดเสรีภาพนี้ไว้ อีกทั้งเป็น “สิทธิ” ที่กฎหมายรับรองโดยชัดแจ้งตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งกฎหมายเลือกตั้ง.

สรุป หากผู้อ่านท่านใดประสงค์จะ Vote No ก็ขอให้ท่านมั่นใจว่าการ Vote No เป็นการใช้เสรีภาพของมนุษย์ที่ท่านมีโดยชอบธรรม อีกทั้งเป็นสิทธิที่ท่านมีตามกฎหมาย และไม่มีผู้ใดปฏิเสธเสรีภาพหรือสิทธิของท่านได้นอกจากตัวท่านเองที่ยอมอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อมิให้มีใครอยู่เหนือกฎหมาย.

ข้อสังเกตประการที่สาม (ที่สำคัญที่สุด): สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย มิได้อยู่เหนือหน้าที่ตามกฎหมาย

แม้ผู้อ่านอาจใช้สิทธิเสรีภาพ Vote No ได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ ซึ่ง มาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น [และ] ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ…” และ มาตรา 70 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”.

ถามว่า “ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ” และ “ตามรัฐธรรมนูญนี้” หมายความว่าอย่างไร ตอบว่าต้องเป็นไปตามหลักวิถีที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น
1. มีพระมหากษัตริย์ (มาตรา 8 - 25)
2. ชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพ (มาตรา 26 - 69)
3. มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 93 - 110)
4. มีนายกรัฐมนตรีที่เห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง (มาตรา 171 - 196)
5. มีศาลพิจารณาอรรถคดี โดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม (มาตรา 197 - 228)
6. มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐ (มาตรา 229 - 278)
ฯลฯ
ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดกาบัตร Vote No เพื่อขัดขวางหลักวิถีใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ขัดแย้งต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่สำคัญ หากเรายอมให้มีผู้อ้างการ Vote No เพื่อขัดขวางหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญข้อหนึ่งข้อใดได้ (เช่น ขัดขวางมิให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง) ก็เท่ากับเรากำลังยอมต่อหลักการว่า ต่อไปก็สามารถมีผู้อ้างสิทธิเสรีภาพเพื่อขัดขวางหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญข้ออื่นได้เช่นกัน (เช่น ขัดขวางการมีพระมหากษัตริย์ หรือขัดขวางการมีสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น)!

สรุป ผลทางกฎหมายของบัตร Vote No ที่ขัดขวางหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญจึงไม่นับเป็นคะแนนเสียงโดยชอบตามกฎหมาย และไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่กำจัดเสียงดังกล่าวให้เป็นบัตรเสียตามกฎหมายเลือกตั้ง ตามมาตรา 82 วรรคสาม อนุมาตราหก.

บทส่งท้าย

ผู้เขียนย้ำว่าบทความนี้ไม่ต้องการชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการกาบัตรในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) แต่ตรงกันข้าม ผู้เขียนต้องการย้ำว่าการ Vote No นั้น ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ย่อมทำได้โดยชอบธรรมหากไม่ขัดหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ.

ที่สำคัญ หากการ Vote No เป็นไปเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความล้มเหลวของระบบการเมืองปัจจุบัน และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ (เช่น หากระบบสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันล้มเหลว ก็ Vote No เพื่อเริ่มต้นเรียกร้องการปฏิรูปแก้ไข) การ Vote No นั้น คือการแสดงออกของปวงชนที่ประเสริฐยิ่ง และจะมีผู้ใดมาห้ามปรามมิได้.

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 72 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ดังนั้น หากผู้ใดประสงค์ Vote No แต่คิดว่าตนไม่อาจ Vote No ในทางที่ขัดขวางหลักวิถีแห่งรัฐธรรมนูญได้ ผู้นั้นก็ย่อมต้องเปลี่ยนไป Vote No ด้วยเหตุผลอื่น หรือไม่ก็ Vote อื่นที่ไม่ใช่ Vote No เพราะกฎหมายกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะมีใจสองมาตรฐาน ใจหนึ่งเรียกร้องสิทธิ แต่อีกใจนอนหลับทับสิทธิหาได้ไม่.

หากผู้ใดมีมาตรฐานมโนสำนึกที่เป็นธรรมแล้วไซร้ การอ้างสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายของตนทำได้ฉันใด การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของตนย่อมทำให้สมกันได้ฉันนั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น