xs
xsm
sm
md
lg

VOTE NO กับ VOTE YES บนสถานการณ์การเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะฟื้นฝอยหาตะเข็บ และไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองหรือมีเจตนาร้ายต่อผู้ใด แต่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในอดีตได้เกิดผลเสียหายตามมาอย่างร้ายแรงในปัจจุบัน ในเรื่องอำนาจอธิปไตยของชาติและความเสียหายจากการปกครองภายในประเทศ จากการแย่งชิงอำนาจปกครองของชนชั้นผู้ปกครอง และกำลังจะมีผลเสียหายอันเป็นมหันตภัยในอนาคตอย่างสุดคณานับภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องเสนอข้อคิดทางวิชาการในความเป็นโมฆะของการเลือกตั้งครั้งนี้ (ตอนที่ 2) ต่อสาธารณะเพื่อการตัดสินใจในการที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตนเอง และการเป็นโมฆะของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เกิดขึ้นจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เกิดขึ้นจากน้ำมือของผู้ได้รับเลือกตั้งไปเป็นผู้ปกครองแล้วทั้งสิ้น

จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 (หลังจากการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549) พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเป็น ส.ส.มากที่สุดถึง 233 คน และได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ในกรณีทุจริตการเลือกตั้งทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่พรรคการเมืองทั้งสามพรรคถูกยุบไปแล้ว ก็ได้มีพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย เข้ามาแทนที่ในสภา ได้มีการดำเนินการทางสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่เข้ามาในสภาใหม่อีกสองพรรค โดยที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รู้เลยว่าพรรคการเมืองใหม่ที่เข้ามาในสภาสามพรรคนั้น เข้ามาในสภาและได้มีอำนาจในการดำเนินการทำหน้าที่ในสภาด้วยวิธีการอย่างไร และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วยวิธีใด จำนวนเท่าใดในแต่ละประเภทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่เคยพบข่าวการประกาศเกี่ยวกับการรับรองการเป็น ส.ส.ที่ยังคงสถานภาพของการเป็น ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.แต่อย่างใด

การได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ทั้งระบบลงคะแนนเลือกตั้งและระบบสัดส่วน สิทธิในการเป็น ส.ส.ทั้งสองระบบไม่ใช่เป็นสิทธิขาด (absolute right) หรือมีอำนาจสิทธิขาด (absolute power) ของความเป็น ส.ส.แต่อย่างใด การได้รับเลือกเป็น ส.ส.เป็นเพียงได้รับมอบอำนาจของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งให้ไปทำหน้าที่แทนประชาชนในสภา (นิติบัญญัติ) หรือในรัฐบาล (บริหาร) เพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น สิทธิในการเป็น ส.ส.ย่อมสิ้นสุดได้ด้วยเหตุตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย การที่พรรคการเมืองถูกยุบพรรคจึงมีผลกระทบต่อความเป็น “สมาชิกพรรคการเมือง” และ “ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกผู้แทนราษฎร” กฎหมายรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค ต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

เมื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว การเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังคงมีอยู่ต่อไปได้ (รธน.มาตรา 106 (8)) การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ให้ยังคงเป็น ส.ส.ต่อไปได้นั้น จะต้องไม่ขัดต่อสิทธิในการเลือกตั้งของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเลือก “ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” และต้องเลือก “ส.ส.แบบสัดส่วน” โดยต้องเลือกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวแล้ว (รธน.มาตรา 930 วรรคสอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งและการได้มาซึ่ง ส.ส.มาตรา 6) เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบพรรค การที่ ส.ส.จะยังคงเป็น ส.ส.อยู่หรือไม่ จึงต้องแยกเป็นสองกรณีคือ

“ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” หรือ “ส.ส.แบบลงคะแนนเลือกตั้ง” ซึ่งถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวเพราะ ส.ส.ดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งมาจากการลงคะแนนประชาชนโดยตรง เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบแล้ว ส.ส.ดังกล่าวเมื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นภายในเวลารัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว ส.ส.นั้นก็ยังคงเป็น ส.ส.อยู่ต่อไปได้ (รธน. ม.106 (8))

ส่วน “ส.ส.แบบสัดส่วน” หรือ “ส.ส.สัดส่วน” นั้น เมื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมืองเข้ามาเป็นผู้แทน โดยพรรคการเมืองเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น รายชื่อของ ส.ส.ดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ได้รับการลงคะแนนเลือกตั้งจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ ส.ส.สัดส่วนจึงถูกยุบและสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ไปโดยอัตโนมัติพร้อมพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในกรณีที่มีเหตุใดๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีจำนวนไม่ถึงแปดสิบคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่” (รธน. มาตรา 93 วรรคห้า) โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ต้องมีการเลือกตั้งเพิ่มให้ครบจำนวน 80 คน แต่อย่างใดไม่

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส.สัดส่วนสังกัดอยู่ ส.ส.สัดส่วนดังกล่าวจึงสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที แต่กรณีมี ส.ส.สัดส่วนพรรคที่ถูกยุบไม่ยอมออกจากตำแหน่ง โดยมีเจตนาที่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง หรือแกล้งโง่กับกฎหมายมาตรา 106 (8) ที่ไม่สามารถนำมาใช้บังคับกับตนเองได้แล้ว ส.ส.สัดส่วนดังกล่าวจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 แต่อย่างใด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 (สมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี) พรรคพลังประชาชนมี ส.ส.สัดส่วน 34 คน พรรคชาติไทยมี 4 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตยไม่มีสัดส่วนเลย ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ในขณะยุบพรรคมีจำนวน 38 คน ในสภาผู้แทนราษฎรจึงมี ส.ส.สัดส่วนเหลือเพียง 42 คน ซึ่ง ส.ส.สัดส่วน 42 คนนั้น เป็น ส.ส.สัดส่วนในสภาเท่าที่มีอยู่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ตาม รธน.มาตรา 93 วรรคห้าดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.จำนวน 38 คนนั้นไม่ยอมออกจากตำแหน่งและแสดงตนเป็น ส.ส.สัดส่วนยังคงทำหน้าที่เป็น ส.ส.สัดส่วนในสภาต่อไป ทั้งๆ ที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.สัดส่วนไปแล้ว จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

ผลของการที่มี ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ไปแล้ว แต่แสดงตนเป็น ส.ส.สัดส่วนและกระทำการเป็น ส.ส.สัดส่วนในสภา ดังนั้นเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 นั้น ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีบุคคล 38 คน ที่มิใช่เป็น ส.ส.สัดส่วน หรือเป็น ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.แล้วเข้าร่วมประชุมในสภาผู้แทนราษฎร โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิที่จะเข้าประชุมและไม่มีสิทธิที่จะออกเสียงรับรองหรือไม่รับรอง เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้แต่อย่างใด จึงเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยมิชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความเสียหายในระบบกลไกทางรัฐสภา (Technical mistake) ซึ่งมีปัญหาว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์นั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

สภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาซึ่งมี ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.แล้ว แต่แสดงตัวเป็น ส.ส.สัดส่วนและทำหน้าที่เป็น ส.ส.สัดส่วนทั้งๆ ที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ได้เข้าร่วมดำเนินการทางรัฐสภาในนามพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93, 94, 95, 96, 97, 98 และมาตรา 190 โดยที่ประชาชนไม่เคยเลือกพรรคการเมืองทั้งสามพรรคมาก่อนเลย จึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองทั้งสามพรรคไม่เคยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งมาก่อนแต่อย่างใด และเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.แล้ว

การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ถูกแก้ไขโดยรัฐสภาที่มีบุคคลที่ไม่ใช่เป็น ส.ส.และโดยพรรคการเมืองที่ไม่เคยได้รับการเลือกตั้งมาก่อนมาร่วมแก้ไข จึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยมีความเสียหายเกิดขึ้นในกลไกทางรัฐสภา ทำให้ไม่มีผลเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไข และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาโดยไม่ชอบนั้นได้นำมาใช้ในการเลือกตั้งโดยมีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้จึงอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยดังกล่าว ซึ่งจะมีปัญหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ เพราะจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นโมฆะในที่สุด ผลของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็จะก่อปัญหาอย่างไม่รู้จบสิ้น

การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.สัดส่วนนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถถึงได้โดยง่าย (accessibility) แต่การได้รับเลือกเป็น ส.ส.สัดส่วน โดย ส.ส.สัดส่วนจะทำหน้าที่ในสภาได้ก็แต่เฉพาะต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยทางอ้อม โดยประชาชนเลือกพรรคการเมืองเท่านั้น รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. หรือ ส.ว.ที่จะตรวจสอบการสิ้นสภาพของสมาชิกภาพด้วยกันเองได้ ส.ส.และ ส.ว.ต่างก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้องคาพยพของรัฐสภาดำเนินการไปได้โดยกลไกทางรัฐสภาชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถูกต้องตามกฎหมาย

หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งในองคาพยพของรัฐสภาบกพร่อง หรือกลไกทางรัฐสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว ก็จะมีผลต่อการกระทำหน้าที่ของทั้งสองสภาได้ โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และประธานสภาที่ได้รับคำร้องต้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดหรือไม่ (รธน.มาตรา 91 วรรคแรก) การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ต้องตรวจสอบในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น แต่ยังร่วมกันดำเนินการทางสภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมสภาและดำเนินการต่างๆ ทางสภาในฐานะเป็นสภานิติบัญญัติตลอดมาเป็นเวลานานเกือบ 2 ปีนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยกลไกของสภา

กรณีจึงอาจเข้าข่ายเป็นการร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (รธน. มาตรา 68 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 94 (3)) และยังอาจเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาโดยเฉพาะบุคคล ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวในส่วนนี้

สำหรับพรรคการเมืองที่ได้เข้าในสภา โดยที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งในแบบ ส.ส.สัดส่วนมาก่อน แต่ได้มี ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพเป็น ส.ส.แล้วจำนวน 38 คน หรือคนใดคนหนึ่ง โดยไปเป็นสมาชิกพรรคด้วยและทำให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.สัดส่วนด้วยแล้ว การกระทำของพรรคการเมืองนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการเป็นพรรคการเมืองที่จะอาสาเข้ามาทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนนั้น จะต้องทราบและมีความเชี่ยวชาญที่จะต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับกับตนเองเป็นอย่างดี

การที่พรรคการเมืองซึ่งต้องถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางกฎหมายได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.มาเป็น ส.ส.สัดส่วนในพรรค โดยที่พรรคไม่เคยส่ง ส.ส.สัดส่วนลงเลือกตั้งมาก่อนนั้น จึงเป็นการที่พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะได้ร่วมประชุมสภากระทำในเรื่องที่เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของประเทศทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระทำของพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นการกระทำอันอาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ของการกระทำที่จะถูกยุบพรรคถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งและหัวหน้าพรรคตลอดจนกรรมการบริหารพรรคก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาต่อไปได้ (รธน. มาตรา 68 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 94, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา 103 วรรคห้า)

ส่วนพรรคการเมืองที่ร่วมในสภาโดยที่ไม่มี ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. จำนวน 38 คนมาร่วมอยู่ในพรรคด้วยนั้น จะต้องทราบถึงการสิ้นสภาพของ ส.ส.สัดส่วน เพราะพรรคถูกยุบเป็นอย่างดี และรู้ว่า ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.แล้ว ไม่มีอำนาจในการดำเนินการในสภาได้ และหากให้ ส.ส.สัดส่วนดังกล่าวเข้ามาดำเนินการในสภาก็จะทำให้กลไกทางสภาเสียหายมีผลทำให้การประชุมในสภาเป็นโมฆะ แต่กลับมีการดำเนินการทางสภาผู้แทนราษฎรและทางรัฐสภาร่วมกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.สัดส่วนที่สิ้นสภาพเป็น ส.ส.แล้ว ในการเลือกนายกรัฐมนตรีและแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกยุบพรรคได้เช่นเดียวกัน (รธน. มาตรา 68, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 94)

ในกรณีเช่นนี้ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการตรวจสอบสมาชิกภาพของ ส.ส.สัดส่วนในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง?

ประเด็นแรก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งให้ส่งเรื่องไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกและให้ประธานแห่งสภานั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง” จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในกรณีที่สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8)

ดังนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า ส.ส.สัดส่วนสิ้นสภาพหรือไม่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.ได้แต่อย่างใดไม่ กกต.จะใช้ดุลพินิจไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หาได้ไม่ หรือหาก กกต.มีกรณีสงสัยว่า ส.ส.สัดส่วนที่ถูกยุบพรรคจะสิ้นสภาพหรือไม่ กกต.ก็ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทุกกรณีโดยผ่านประธานสภา กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้เองแต่มีอำนาจในการตรวจสอบเท่านั้น และเหตุที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็เพราะการเป็นสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรนั้นมาจากมติของมหาชน คือ มาจากการชนะการเลือกตั้งจากประชาชน การทำลายมติของมหาชนที่เลือกตั้ง ส.ส.มานั้น จำเป็นต้องใช้อำนาจศาลซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจของประชาชนเช่นเดียวกัน

การใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญทำลายมติของมหาชนที่จะวินิจฉัยการสิ้นสภาพของ ส.ส.สัดส่วนนั้น มิได้หมายความว่า ส.ส.สัดส่วนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคแล้วนั้น จะมีอำนาจหน้าที่ในการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.หาได้ไม่ (การใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญทำลายสถานภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับการมีอำนาจหน้าที่ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนละกรณีกัน)

ประเด็นที่ 2 กกต.จึงมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายด้วย เมื่อสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็น ส.ส.สัดส่วน เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในสภาในการออกกฎหมาย หรือกิจการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีปัญหาการเป็นสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรของ ส.ส.สัดส่วนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในสภา อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลไกแห่งสภาที่จะต้องทำให้องคาพยพในสภาเป็นไปโดยถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ กกต.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส.สัดส่วนซึ่งเป็นกลไกของสภานั้นเป็น ส.ส.ที่จะทำหน้าที่ในสภาได้หรือไม่เสียก่อน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดในกลไกแห่งสภาได้ (Technical mistake) (รธน.มาตรา 235, 236 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 17,18)

ประเด็นที่ 3 “สิทธิการเป็น ส.ส.” ของสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” ทั้งในทางบวกและทางลบ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองแล้ว ส.ส.สัดส่วนจะยังเป็น ส.ส.สัดส่วนต่อไปหรือไม่ ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อ กกต.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักรัฐธรรมนูญแล้ว กกต.จึงมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้มีความสมดุลกับสิทธิและเสรีภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย (รธน.มาตรา 26) เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (รธน.มาตรา 91) กกต.ก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทุกกรณีไม่ว่าจะมีผู้โต้แย้งความเป็น ส.ส.สัดส่วนหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดร้องขอ

การที่ ส.ส.สัดส่วนได้เข้าไปดำเนินการในสภาทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.สัดส่วนไปแล้ว เพราะพรรคการเมืองที่ได้เสนอชื่อของตนเข้ารับการเลือกตั้งได้ถูกยุบไปแล้ว พรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่ไม่มีชื่อพรรคการเมืองดังกล่าว ในสารบบการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป แต่ ส.ส.สัดส่วนทั้ง 38 คน เข้าไปทำหน้าที่ในสภาย่อมทำให้กลไกทางรัฐสภาเสียหายไปทั้งหมด การดำเนินการใดๆ ในสภาย่อมเป็นการอันไม่ชอบและเป็นโมฆะทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้ผ่านประชามติของมหาชนออกใช้บังคับในเดือนสิงหาคม 2550 มีการเลือกตั้งในวันที่ 25 ธันวาคม 2550 บุคคลที่ใช้บังคับรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ถูกรัฐธรรมนูญใช้บังคับ บุคคลอาศัยรัฐธรรมนูญเข้าไปใช้อำนาจรัฐ บุคคลที่ใช้อำนาจรัฐโดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ใช้อำนาจรัฐบังคับตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ การใช้รัฐธรรมนูญย่อมมีช่องทางการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ ช่องทางการทุจริต ช่องทางการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในขณะเดียวกับผู้ใช้รัฐธรรมนูญก็อาจมีข้อบกพร่องโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยสุจริตหรือโดยไม่สุจริตย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกช่องทาง และได้เกิดขึ้นแล้วแม้แต่ในสภา

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองต่างก็ต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงเลือกตั้งตนและพรรคของตน (VOTE YES) ในขณะที่ประชาชนซึ่งเรียกว่าพันธมิตรฯ ต้องการให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิไม่เลือกผู้สมัครคนใดและพรรคการเมืองพรรคใด (VOTE NO)

การ VOTE YES บนสถานการณ์ของการเลือกตั้งที่จะเป็นโมฆะ จะเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองหรือไม่ยังเป็นปริศนา เสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคและอาจถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการกระทำของฝ่ายการเมืองเองทั้งสิ้น และจะมีปัญหาตามมาอย่างไม่อาจประมาณได้ ผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้มาซึ่งอำนาจการปกครองหรือไม่ก็ยังเป็นปัญหา

แต่การ VOTE NO อาจจะเป็นยิ่งกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความรู้ ความเข้าใจ คาดคิดไม่ถึง เพราะรัฐธรรมนูญเพิ่งออกบังคับใช้ การตีความในรัฐธรรมนูญอาจไร้ทิศทาง ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรืออาจแกล้งโง่กับการใช้รัฐธรรมนูญ หรืออาจต้องการเหยียบย่ำการใช้รัฐธรรมนูญ หรืออาจเกิดขึ้นโดยความบกพร่องโดยสุจริตกับการใช้บังคับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

VOTE NO สามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยผิดพลาด หรือหลงผิดหรือบกพร่องโดยสุจริตได้ VOTE NO ไม่มีใครได้รับชัยชนะ แต่จะเป็นชัยชนะของประชาชนและประเทศชาติที่ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ แต่ VOTE NO จะเป็นหนทางที่จะต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาให้การเลือกตั้งต้องมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม บนพื้นฐานแห่งนิติธรรมและนิติรัฐ เพื่อนำชาติไปสู่ความสงบและสันติสุขด้วยกันทุกฝ่ายได้ หากมี VOTE NO เกิดขึ้นอย่างถล่มทลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น