xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนผวาหลังเลือกตั้งรุนแรง โหวตโนดับวิกฤตได้26เขตหยุดเผาไทยเปิดสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- “พันธมิตรฯ” ยืนยันโหวตโนมีผลทางกฎหมาย “ปานเทพ” ชี้ช่องจำนวน ส.ส.ที่ชนะเลือกตั้งมีไม่ถึง 95 % เปิดประชุมสภาไม่ได้ เลือกพรรคตรงข้าม “เผาไทย” เสียของยิ่งกว่า แย้มแค่ชนะให้ได้ 26 เขต ถึงจะหยุดระบอบทักษิณ-การเมืองที่ทุจริต ด้านองค์กรสื่อ-ภาคเอกชน ประสานเสียง หวั่นการเมืองเดือด ยื่น 3 ข้อเรียกร้องยุติวิกฤต ตลท.ระบุหากเกิดความรุนแรงทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ส่งผลกระทบต่างชาติ-นักลงทุนไทย หันไปลงทุนตลาดหุ้นอื่นแทนจากความเสี่ยงสูง

วานนี้ (20 มิ.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงยุทธศาสตร์ การรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน โดยนายปานเทพ ได้กล่าวถึงบทความในหัวข้อ ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO) เขียนโดย นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการ แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในศาลฎีกา ซึ่งได้นำไปเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ

โดยชี้ให้เห็นว่า การที่ประชาชนโหวตโน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผลทางกฎหมาย ซึ่งในบทความนายอนุรักษ์ ได้ให้ความเห็นว่า หากมีจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน มากกว่าคะแนนของผู้สมัคร ซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดจำนวนมากๆ หรือแม้แต่คะแนนของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่โหวตโน รวมกับคะแนนของผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนในอันดับรองลงไป มากกว่าคะแนนของผู้สมัคร ซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุด ก็อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะได้

ทั้งนี้ เพราะเสียงข้างมากของประชาชน หรือผู้ที่ได้รับคะแนนรองลงมานั้น ไม่ใช่ตัวแทนเสียงข้างมากของประชาชนในตัว ขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.ปี 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 89 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ภายใต้บังคับ มาตรา 88 ในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้ามีคะแนนโหวตโนมากนั้น นายอนุรักษ์ มองว่าเป็นคะแนนที่อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ในท้ายที่สุด

นายปานเทพ กล่าวว่า จากบทความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า คะแนนช่องที่มีคนเคยพูดว่า การกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ไม่มีความหมายทางกฎหมายนั้น ปรากฏว่า มีความหมายทางกฎหมายแล้ว จากประเด็นดังกล่าว ภาคประชาชนได้ตรวจสอบไปยังกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 93 วรรคท้าย ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งวรรคที่ 7 บอกว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร และต้องดำเนินการให้มีส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่จะมีอายุของส.ส.ที่เหลืออยู่

" นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งนั้น ถ้ามีจำนวน ส.ส.ไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ถ้ามีคะแนนโหวตโน ที่ชนะเขตเลือกตั้งถึง 26 เขตเมื่อไหร่ ก็จะไม่มีการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ การประชุมสภา ก็จะไม่เกิดขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะยังไม่เกิดขึ้น ยิ่งภาคประชาชนเข้ามาสู่การโหวตโนกันมากถึง 26 เขต และแม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนก็ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมแล้ว ก็หมายถึงว่าการเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดการประชุมสภาไม่ได้ เช่นเเดียวกัน" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ที่ผลโพลออกมาล่าสุดว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะอย่างขาดลอย และจะทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาล แล้วเข้ามาใช้มือในสภาเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนอื่นๆนั้น พันธมิตรฯ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการชุมนุมในการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ขอเพียงแค่ชนะเขตเลือกตั้งเพียงแค่ 26 เขตเท่านั้น ก็จะหยุดการกลับมาของระบอบทักษิณได้ การดำเนินการครั้งนี้ เราจะเห็นว่า ถ้าประชาชนยังไม่ตัดสินใจ เพราะว่ากลัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา หรือกลัวการนิรโทษกรรมนั้น การเลือกตั้งพรรคการเมืองใดที่อยู่ตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทยนั้น ผลโพลสรุปแล้วว่า ไม่สามารถจะชนะพรรคเพื่อไทยได้เลย

ดังนั้น คงเหลือแต่วิธีการเดียวเท่านั้น ก็คือ ลงคะแนนไม่เลือกใคร ให้ได้มากกว่า 26 เขตเลือกตั้ง นำไปสู่การเรียกร้องในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ และหยุดระบอบการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้งครั้งมโหฬาร มีการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นจำนวนมาก มีการใช้ผู้ทรงอิทธิพลไปยิงหัวคะแนน ขว้างระเบิด ทุบป้าย ทำลายสถานที่ในการรณรงค์ของภาคประชาชน โดยที่ กกต. และเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นการเลือกตั้งที่ราวกับเป็นระบบบ้านป่าเมืองเถื่อน ไร้ขื่อแป ใช้กระสุน ปืน และนักเลงอันธพาลในการได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง เราจะเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ล้มเหลว และไม่เป็นประชาธิปไตย จึงมีทางเดียวคือ ต้องหยุดการกลับมาของการเมืองที่ฉ้อฉลเหล่านี้ให้ได้ 26 เขต เท่านั้น มีผลต่อการหยุดยั้งการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลครั้งนี้

ด้านพล.ต.จำลอง กล่าวว่า นายอนุรักษ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายและมีความห่วงใยบ้านเมือง จะเห็นได้ว่าตอนที่มีข่าวว่า นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ สองคนไทยที่ถูกจับกุม และจำคุกอยู่ในกัมพูชานั้น นายอนุรักษ์ ได้ไปค้นสนธิสัญญาระหว่างประเทศของไทยกับกัมพูชา ที่ได้ลงนามไปเรียบร้อยแล้วว่า สามารถโอนผู้ที่เป็นนักโทษกลับมายังประเทศไทยได้ แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้ทำ คราวนี้มาถึงการเลือกตั้ง นายอนุรักษ์ ก็เห็นแล้วว่า บ้านเมืองไปไม่ได้ จึงพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วมายืนยันให้พวกเราทราบ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายฝ่ายพันธมิตรฯ ได้ชี้แจงเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว ยืนยันว่า การลงคะแนนโหวตโนสามารถมีผลทางกฎหมาย เมื่อนายอนุรักษ์ ได้ออกมายืนยันอีกที ก็มั่นใจว่ามีผลอย่างแน่นอน ดังนั้นใครก็ตามที่กลัวว่าจะมีการนิรโทษกรรมคนที่ทำผิด แล้วถูกศาลตัดสินจำคุกแล้วให้พ้นโทษ และคนอื่นๆ รวมทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดอะไรให้พ้นโทษ ก็คงจะแก้ได้ด้วยการมาร่วมกันลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งจากเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขั้นยิงหัวคะแนนอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องหาวิธีแก้ โดยไม่ได้อคติหรือเกลียดการเลือกตั้ง

ส่วนนายประพันธ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่จะไปมอบให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ การที่ประชาชนไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ใช้สิทธิ ก็เป็นการมอบอำนาจของตัวเองให้แก่ผู้แทนผ่านระบบการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งได้บัญญัติไว้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ในกฎหมายเลือกตั้งที่บัญญัติว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้รับการเลือกตั้ง ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และศาลได้ตัดสินว่าเป็นโมฆะ และมีหลายเขตที่ผู้สมัครแพ้ให้คนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน ก็ไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ เพราะไม่ได้รับมอบอำนาจอธิปไตยจากประชาชน เมื่อมีการบัญญัติ มาตรา 88 แล้วก็มีการบัญญัติ มาตรา 89 ซึ่งถือว่าภายใต้การบังคับมาตรา 88 ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนอกจากจะต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ แล้ว ต้องได้รับคะแนนมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ขณะเดียวกัน ต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วย

" ผลของการเลือกตั้งที่มีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนโหวตโนจำนวนมาก มันมีผลในทางกฎหมาย สามารถที่จะหยุดยั้ง ส.ส.หรือพรรคการเมืองที่ตัวเองไม่ชอบ ให้เข้ามามีอำนาจได้ด้วย ขณะนี้คนก็อาจจะวิตกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และระบอบทักษิณ จะฟื้นขึ้นมา ภาคประชาชนหวาดวิตก และเกรงว่าทักษิณจะฟื้นระบอบขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปประท้วง ไปชุมนุมอะไรเลย เพียงแต่เดินเข้าคูหา แล้วไปกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้มากๆ ก็จะสามารถหยุดไม่ให้ระบอบทักษิณ ฟื้นกลับมาได้ เพราะไม่สามารถที่จะเปิดสภา และดำเนินการไปได้ โดยที่ไม่ต้องไปชุมนุม หรือก่อความเคลื่อนไหวที่ประชาชนจะต้องออกแรงออกกำลัง" นายประพันธ์กล่าว

โฆษกคณะกรรมการปกป้องราชอาณาจักรไทย ยังกล่าวว่า นายอนุรักษ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงการโหวตโน ว่า หากมีจำนวนมาก เมื่อรวมกับคะแนนของผู้ที่ไม่เลือกบุคคลผู้นั้นร่วมกัน จะมากกว่าคะแนนของผู้ที่ได้คะแนน การจะไปรับรองบุคคลผู้นั้นเป็นผู้แทน ก็ไม่มีผลทางกฎหมายด้วยเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนโหวตโนมากๆ และมีประชาชนที่ไม่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งมากๆ มารวมกันจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมีโอกาสเป็นโมฆะได้มากกว่า เพราะคำวินิจฉัยของศาลที่เคยวินิจฉัยเรื่องการหันหีบบัตร ประเด็นนั้นมีความสำคัญน้อยกว่าคะแนนผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนมากกว่าผู้ที่ได้คะแนน ซึ่งประเด็นนี้ถ้ามีผู้ร้อง ศาลจะให้น้ำหนักเรื่องสาระสำคัญ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าเรื่องการหันหีบบัตร

อย่างไรก็ตาม การโหวตโน ที่มีจำนวนมาก เป็นการสะท้อนอำนาจอธิปไตยของประชาชนในการไม่เลือกคนหนึ่งคนใดหรือระบอบการเมืองนั้นๆ ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งจำต้องเคารพและวินิจฉัยไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเห็นว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด ผลในทางกฎหมายของการไม่ประสงค์ลงคะแนนที่มีคนอ้างว่าไม่มีผลทางกฎหมายเป็นเพราะนักการเมืองรู้อยู่แล้วว่าถ้าโหวตโนมากๆ จะมีผลทางกฎหมายเช่นนี้ และเกรงว่าประชาชนจะโหวตโนมากๆ จึงมีความพยายามให้นักกฎหมาย และนักวิชาการให้ข้อมูลบิดเบือนประชาชน แต่บัดนี้ทั้งนักกฎหมายและทีมทนายความมีความเห็นตรงกันในทางกฎหมายว่า มาตรา 89 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 88 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งเป็นแบบนี้ เนื่องจากมีการรณรงค์โหวตโน และคนมีความเข้าใจกฎหมายมากขึ้น

***พธม.โคราชไม่หวั่นอำนาจมืด ขึ้นป้ายใหญ่ตึกระฟ้ากลางเมือง

วานนี้(20 มิ.ย.)นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล ประธาน พธม.นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังจากได้เกิดเหตุการณ์กลุ่มคนร้าย 10-20 คนออกตระเวนปลดทำลายป้ายรณรงค์โหวตโนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ติดตั้งไว้ตามบริเวณสี่แยก ข้างถนนและสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาไปเป็นจำนวนมาก และล่าสุดเหิมเกริมถึงขั้นบุกปาก้อนหินปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ถล่มบ้านแกนนำ พธม.โคราช ตรงข้าม สภ.เมืองนครราชสีมา ประตูกระจกหน้าบ้านได้รับความเสียหายยับเยิน ยังไม่สามารถจับกุมคนร้านได้ นั้น พวกเราพันธมิตรฯโคราชไม่ได้ย่อท้อ และหวาดหวั่นกับการคุมคามข่มขู่ของอำนาจมืดป่าเถื่อนจากกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ดังกล่าวแต่อย่างใด

ล่าสุดเราได้ทำการติดตั้งป้ายรณรงค์โหวตโน ขนาดใหญ่ข้อความ “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา โหวตโน ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกาช่องประสงค์ไม่ลงคะแนน” บนตึกสูงชั้นที่ 17 กลางเมืองโคราช ถ.มหาดไทย เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งนับว่าเป็นป้ายรณรงค์ที่โดดเด่นสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ป้องกันการทำถูกทำลายได้ง่าย และดึงดูดความสนใจจากพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี เพื่อเรียกร้องให้ชาวโคราชร่วมกันออกมาแสดงพลังสั่งสอนนักการเมืองชั่วโกงชาติกินเมือง โดยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 3 ก.ค.นี้ ด้วยการกาช่องประสงค์ไม่ลงคะแนน ให้กับนักการเมืองคนใดและพรรคการเมืองใด ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ระบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 มิ.ย.เวลา 16.00 น.กลุ่มพันธมิตรฯ และประชาชนชาวโคราชจะร่วมกันจัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนเดินรณรงค์โหวตโนครั้งใหญ่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง ส.ส.3 ก.ค.ไปทั่วเมืองโคราช และเวลา 18.00 น.ในวันเดียวกันจะเปิดเวทีปราศรัยที่บริเวณด้านข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม)ถือเป็นเวทีใหญ่ส่งท้ายรณรงค์โหวตโนของ จ.นครราชสีมา ซึ่งจะมีวิทยากรชื่อดังและแกนนำพันธมิตรฯ จากส่วนกลาง นำโดย อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เข้าร่วมจำนวนมาก

***เอกชนหวั่นหลังเลือกตั้งวุ่นวาย

วานนี้ ( 20 มิ.ย. ) เครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ร่วมกัน 5 องค์กรด้านธุรกิจ ประกอบด้วย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ในหัวข้อเรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง พร้อมทั้งเสนอ 3 ข้อเรียกร้อง ไปยังพรรคและนักการเมือง หลังจากร่วมประเมินสถานการณ์เลือกตั้งของประเทศไทยแล้วพบว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงภายหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค.54 เหมือนช่วงเหตุการณ์ขัดแย้งรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดย 3 ข้อเรียกร้องมีดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคและทุกกลุ่มการเมืองยอมรับผลเลือกตั้งและหลีกเลี่ยงการนำประเทศไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ
2. ทุกพรรคต้องแสดงเจตน์จำนงชัดเจน ต่อกระบวนการลดขัดแย้ง โดยถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งต้องเร่งแก้ไดโดยเร่งด่วน

3. กระบวนการสร้างปรองดองต้องทำโดยองค์กรที่เป็นอิสระ และไม่ใช่คู่ขัดแย้ง
นายเกรียงไกร เธีรนุกูล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน หากประเทศไทยยังวนอยู่ในความขัดแย้ง อาจทำให้เสียโอกาส และส่งผลกระทบกับคนไทยทุกคน อาทิ คนตกงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นช่วงหาเสียงเลือกตั้งทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ชะลอการลงทุน เพราะไม่แน่ใจสถานการณ์การเมืองไทยที่อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงได้อีก

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่านักการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศต้องใช้สามัคคีเป็นที่ตั้ง ใช้พลังมาแก้ไขปัญหาชาติ ตนขอเรียกร้องว่า โอกาสเป็นของนักการเมืองหลังวันที่ 3 ก.ค. ขอให้นักการเมืองเปลี่ยนนิสัยประจำตัว ให้รู้จักความรักชาติที่แท้จริง ไม่ใช่รักชาติแต่ปาก

** "ยิ่งลักษณ์"เด้งรับข้อเสนอปรองดอง

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วย และยินดีรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ทั้งนี้ในส่วนของการ

ยอมรับผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีการแจกใบเหลือง ใบแดง ให้กับผู้สมัครของพรรค แต่ขอให้เป็นไปตามกติกา และความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ทั้งนี้ จากหลักการเดิมพรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่ต้องได้จัดตั้งรัฐบาล และหากจัดตั้งไม่ได้ พรรคที่ได้คะแนนเป็นลำดับสองก็ได้จัดตั้งตามหลักการของรัฐสภา แต่ทั้งนี้ ก็ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนในข้อเรียกร้องที่ระบุว่า กระบวนการสร้างความปรองดอง ต้องทำโดยองค์กรที่เป็นอิสระนั้น ก็ต้องมีการหารือทุกภาคส่วนในส่วนนี้ เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

ส่วนที่ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผิดหวังที่ตนเองไม่สามารถหยุดกลุ่มคนเสื้อแดงได้นั้น ยังยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถสั่งการได้ แต่ก็ขอความร่วมมือให้การเรียกร้องของประชาชน เป็นไปตามกติกา

*** ผวาการเมืองรุนแรงฝรั่งขนเงินหนีตลาดหุ้น

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ 5 องค์กรภาคธุรกิจ และ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลประกอบการต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเป็นแรงกดดันให้นักลงทุนต่างประเทศ มองข้ามการเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยหันไปลงทุนตลาดหุ้นอื่นที่มีความน่าสนใจมากกว่า

“นักลงทุนต่างชาติไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสี่ยงในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในช่วง 2-3 สัปดาห์นับจากนี้หรือต่อเนื่องไปถึงหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง แม้ปัจจัยพื้นฐานของไทยดีอยู่ทั้งในแง่ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกำไรบจ. ขณะที่นักลงทุนไทยเองจะหันไปลงทุนในต่างประเทศเช่นกันหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น”

สำหรับในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ประเมินผลกระทบหลังการเลือกตั้ง และได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมากว่า 2 หมื่นล้านบาท นั้น นายจรัมพร กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกมามากพอสมควร แต่หากเกิดความรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้ง ยังไม่ทราบนักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นออกไปอีกเท่าไร แต่จากอดีตที่ผ่านมาที่มีความรุนแรงทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมในปี 2553 เพียงเดือนเดียวนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิออกไป 6 หมื่นล้านบาท

ส่วนเป้าหมายของการร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 องค์กรภาคเอกชน 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ คือ การเรียกร้องใน 3 ประเด็น คือ 1. ให้พรรคการเมืองทุกพรรคยอมรับผลการเลือกตั้งและหลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการด้วยประกาศใดๆที่นำประเทศกลับไปสู่ความรุนแรงในทุกรูปแบบ 2. พรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการลดความขัดแย้งอันนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ โดยให้ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งจะต้อดำเนินการอย่างเร่งด่วน และ 3. สร้างความปรองดองจะต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระและไม่ใช่คู่ขัดแย้ง โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

สำหรับ 5 องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ คือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

นายจรัมพร กล่าวว่า มาตรการรับมือของตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีหากเกิดความรุนแรงจนส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาหนักและกดให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงอย่างรุนแรง ว่า มาตราการหยุดการซื้อขายชั่วคราวหรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ ที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้อยู่นั้น ยังเป็นมาตรการที่ใช้ได้ดีอยู่ คงไม่มีมาตรการอะไรใหม่ออกมารับมือ แต่หวังว่าจะไม่มีความรุนแรง ป้องกันไว้ก่อนอย่าให้เกิดวิกฤตดีกว่า

ส่วนความกังวลที่ว่าจะมีนักการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ในตลาดหุ้น เพื่อนำไปใช้ในการเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายใกล้การเลือกตั้งนั้น ขณะนี้ ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระบบการติดตามความผิดปกติในการซื้อขายอยู่แล้ว ยังไม่พบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเข้ามามีพฤติกรรมการที่สร้างความผิดปกติในตลาดหุ้น

***”กรณ์” มั่นใจ ปชป.ชนะพท.

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า รู้ว่าในขณะนี้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรเพราะไม่รู้ว่าจะเป็นรัฐบาลเก่าหรือไม่เข้ามาบริหารประเทศ

“เพื่อให้นักลงทุนจะได้มีความมั่นใจเศรษฐกิจ ผมอยากให้สื่ออธิบายให้นักลงทุนมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะพรรคเพื่อไทย” นายกรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น