xs
xsm
sm
md
lg

พณ.หารือธปท.-กลต.สอบเชิงลึกดีเทคทรูฯยืนกรานต่างด้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์” รีบแถลง! ยันดีแทคเป็นบริษัทคนไทย ชี้หลักฐานทางทะเบียนมีคนไทยถือหุ้น 51% ต่างชาติ 49% ส่วนข้อกล่าวหาทรูมูฟเป็นการตรวจสอบเชิงลึก “บรรยงค์” รับพร้อมเข้าไปดูซ้ำ เตรียมเชิญแบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. เข้าร่วม ระบุหากผิดจริง จะถือเป็นบริษัทต่างด้าว มีโทษตามกม. ด้าน”ทรูมูฟ” บุกยื่นหนังสือร้องเรียนตรวจสอบสถานะดีแทค ยันอีกครั้งเป็นต่างด้าวตัวจริงเสียงจริง "ดีแทค" ยืนยันเป็นบริษัทไทย บ่น ทำไมต้องเป็นดีแทค ควรตรวจสอบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้ร้องทุกข์ต่อกองปราบปรามกรณีปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค วานนี้ (16 มิ.ย.) ว่า จากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่ ดีแทค ได้ยื่นให้กับกรมฯ พบว่า ดีแทค มีทุนจดทะเบียน 4,744 ล้านบาท มีผู้ถือรวม 33,528 คน และในจำนวนนี้มีนิติบุคคลไทยถือหุ้น 56 ราย จากการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น เป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 51% และต่างชาติถือหุ้น 49% เท่ากับว่าดีแทคเป็นบริษัทคนไทยตามหลักฐานทางทะเบียนที่มีอยู่

ส่วนกรณีที่ทรูมูฟไปร้องทุกข์กล่าวโทษดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว เกิดจากการวิเคราะห์เชิงลึก โดยการพิจารณาจากบริษัท 56 รายที่ถือหุ้นในดีแทค ซึ่งทรูมูฟอาจจะพบว่า มีคนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เหล่านี้ จนสรุปออกมาว่ามีหุ้นต่างชาติถือหุ้นในดีแทค 71.35% และมีคนไทยถือหุ้นเพียง 28.65% ขณะที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม ได้มีหนังสือถึงกรมฯ แจ้งผลการตรวจสอบ 2 บริษัทโทรคมนาคม คือ ทรูมูฟและดีแทค แจ้งว่า ดีแทคมีการถือหุ้นของคนต่างชาติสลับซับซ้อน โยงกันไปมา น่าเข้าข่ายมีคนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49% และขอให้กรมฯ ทบทวนกฎหมายเพื่อหาทางป้องกัน

“ จากการพิจารณาตามหลักฐานทางทะเบียน ดีแทคเป็นบริษัทคนไทย เพราะตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ที่ให้คิดนิยามคนต่างด้าวแค่ครั้งเดียว ตรงไปตรงมาตามที่แจ้ง ดีแทคแจ้งมาแบบนี้ ก็ต้องยึดตามที่แจ้ง แต่กฎหมายก็บัญญัติไว้อีกว่า ถ้าปรากฏมีข้อสงสัยหรือปรากฏว่ามีนอมินีคอยช่วยเหลือให้สนับสนุน ก็จะเข้าข่ายมาตรา 36ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไป”นายบรรยงค์กล่าว

สำหรับการตรวจสอบ กรมฯ จะเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบ แต่การตรวจสอบของกรมฯ ก็มีข้อจำกัดในการตรวจสอบ เพราะมีผู้ถือหุ้นมากกว่า 3 หมื่นราย และยังมีนิติบุคคลอีก 56 รายที่เข้ามาถือหุ้น โดยในส่วนของการตรวจสอบผู้ถือหุ้นไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตรงตัว แต่การตรวจสอบนิติบุคคล 56 ราย ในเชิงลึกและมีลำดับชั้นการถือหุ้นมาก ก็จะต้องใช้เวลา และในการตรวจสอบ แม้จะมีอำนาจเชิญบุคคล เรียกเอกสาร แต่ก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะมีโทษปรับแค่ 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสอบของกองปราบปรามอยู่ด้วย ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้ เพราะข้อมูลที่มีอยู่เป็นเอกสารเปิดเผย ใครก็สามารถมาขอดูได้ และเห็นว่าน่าจะคืบหน้าเร็วกว่า เพราะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยในส่วนของดีแทค หากมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จะชี้แจง ก็ให้ยื่นมาได้ กรมฯ พร้อมที่จะรับฟังข้อมูล

ทั้งนี้ กรมฯ ขอยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่เชื่อถือได้ ถ้าเชื่อถือไม่ได้จะไปเชื่อถือข้อมูลของใคร โดยกรมฯ เป็นนายทะเบียน ดูแลนิติบุคคลทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านราย มีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทมหาชนประมาณ 1 พันราย หากไม่เชื่อถือข้อมูลตรงนี้ ประเทศชาติจะอยู่ได้ยังไง

สำหรับมาตรา 36 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สรุปความได้ว่า คนไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย

นายบรรยงค์กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าดีแทคมีต่างด้าวถือหุ้นเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จริง ก็จะถือว่าความผิดสำเร็จ ก็ต้องไปดูว่าความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด ย้อนหลังไปแค่ไหน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 (21) ที่คนต่างชาติถ้าจะมาประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตก่อน แต่ถ้าไม่ขอก็แปลว่าประกอบธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาทและศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการประกอบกิจการ ถ้าไม่ยุติก็จะมีโทษปรับวันละ 10,000 บาท

ส่วนกรณีตรวจสอบพบว่ามีนอมินีคนไทยคอยให้ความช่วยเหลือทำการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ และสนับสนุนให้คนต่างชาติทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตก็จะมีโทษสถานเดียวกัน

นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ตัวแทนบริษัท ทรูมูฟ จำกัด กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือร้องเรียนให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจสอบสถานะของดีแทค พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานว่า ต้องการให้ตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนในแง่ของกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ที่กำหนดว่าคนต่างด้าวหากจะทำธุรกิจโทรคมนาคมจำเป็นต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจก่อน เพราะเป็นการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรและเป็นความมั่นคงของชาติ แต่กรณีของดีแทค จากการตรวจสอบทางลึกของบริษัทนานถึง 3 ปี พบว่า มีสถานะเป็นคนต่างด้าว และไม่ได้ขออนุญาตประกอบธุรกิจในไทย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ต้องการทำลายคู่แข่ง เพียงต้องการทำให้เกิดความชัดเจนในแง่กฎหมายเท่านั้น

ได้ตรวจสอบดีแทคในหลายด้าน ทั้งการถือหุ้นที่ไขว้กันไปมาถึง 5 ชั้น, เงินลงทุนที่มาจากแหล่งเดียวกัน, ผู้บริหารที่มาจากเบื้องหลังเดียวกัน, กรรมการคนไทยไม่มีอำนาจบริหารจัดการแต่กลับเป็นคนต่างด้าว บางคนไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง โดยกรรมการต่างด้าว 1 คนมีสิทธิ์ออกเสียง 1 เสียง แต่กรรมการคนไทยต้องใช้ถึง 10 คนจึงจะมีสิทธิ์ออกเสียง 1 เสียง นอกจากนี้กรรมการคนไทยยังไม่มีสิทธิ์ในการถอดถอนผู้บริหาร เงินปันผลได้เพียง 50 สตางค์ต่อหุ้น แต่ต่างด้าวได้มากถึง 5,000 บาทต่อหุ้น และยังมีอีกหลายประเด็นที่ชี้ขัดว่า ดีแทคเป็นต่างด้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น