xs
xsm
sm
md
lg

คุนหมิงแฟร์ ครั้งที่ 19

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ “แสงแดด” ได้สบโอกาสเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน เพื่อร่วมทั้งประชุมและสังเกตการณ์ “คุนหมิงแฟร์ ครั้งที่ 19 (Kunming Fair 19th )” ซึ่งคุนหมิงเป็นเจ้าภาพจัดทุกปี และปี 2011 เป็นปีที่ 19

การจัดงานคุนหมิงแฟร์ครั้งที่ 19 นี้ เป็นการจัดการแสดงสินค้าที่ครอบคลุมกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Asean) บวกกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ (South Asia) ซึ่งหมู่มวลสมาชิกที่มาร่วมประชุมนั้น เริ่มตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการค้า การพาณิชย์ ที่หมายรวมถึง “เศรษฐกิจ” ตลอดจนรัฐมนตรีช่วยฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรี จนมาถึงปลัดกระทรวงฯ อธิบดี และแม้กระทั่งที่ปรึกษาระดับอาวุโส

ดังนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมและเปิดงาน “คุนหมิงแฟร์ ครั้งที่ 19” จึงมีจำนวนมากถึง 40 กว่าคน ในกรณีเฉพาะระดับผู้นำ ส่วนระดับเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามนั้น ขอเรียนว่าหลักหลายร้อยคนอย่างแน่นอน การประชุมกิจกรรมในครั้งนี้ จึงมีผู้เข้าร่วมนับหลายร้อยคน

การประชุมกิจกรรมครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6-10 มิถุนายน เพียงแต่วันเปิดนั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน และช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 6 โดยช่วงเย็นผู้ว่ามณฑลยูนนานเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเฉพาะระดับผู้นำที่ร่วมกิจกรรมเท่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน จะมีการเปิดบูท (Booth) ของสมาชิกจากกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้นับจำนวนหลายร้อยบูทเช่นเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งบรรดาเฟอร์นิเจอร์ไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ผลไม้ อัญมณี สมุนไพร แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ตลอดจนสารพัดยาต่างๆ โดยเฉพาะยาหม่องที่ชาวจีนนิยมมาก

“คุนหมิงแฟร์” หรือเรียกทางภาษาวิชาการเรียกว่า “งานแสดงสินค้า The 19th China Kunming Import + Export Commodities Fair 2011” และ “The 4th South Asian Countries Trade Fair 2011” โดยจัดที่ “หอประชุมขนาดใหญ่ (Convention Center)”

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา “การค้าการลงทุนระหว่างไทย-ยูนนาน” มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2011 ประเทศไทยส่งออกมายังมณฑลยูนนานมีมูลค่า 83.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,507 ล้านบาท) และไทยนำเข้าสินค้าจากมณฑลยูนนานมูลค่าประมาณ 102.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,068 ล้านบาท) โดยที่ไทยเราขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่าประมาณ 18.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 560 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าผลไม้ไทยสู่มณฑลยูนนานนั้น เพื่อให้เป็น “ประตู (Gate Way)” ศูนย์กลางกระจายสู่มณฑลอื่นๆ ในประเทศจีน เนื่องด้วยมณฑลยูนนานเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด จะทำให้ผลไม้ไทยที่นำเข้ามีความสดใหม่ คุณภาพดี โดยเฉพาะทางบก ถนน R3 และทางน้ำ โดยแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของฝั่งไทย แต่ส่วนของประเทศจีนนั้น ต้องเรียนว่า เขาได้สร้างถนนและท่าเรือมาจ่อที่ฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว และได้ทราบว่าทางฝั่งไทยกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างอยู่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะแล้วเสร็จอีกไม่น่าจะเกิน 2-3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะหันมาสนใจในกรณีนี้หรือไม่

ภายในงานแสดงสินค้าผลไม้ไทย โดยเฉพาะมังคุดที่นำเข้าจากไทยเราจำนวน 500 ตัน หรือประมาณ 500,000 กิโลกรัม ปรากฏว่า “ขายหมดเกลี้ยง!” ภายในระยะเวลา 3 วันเท่านั้น จากกลุ่มผู้ประกอบการจากจังหวัดระยอง ส่วนทุเรียนและเงาะนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

จริงๆ แล้ว การค้าขายของไทยในมณฑลยูนนานนั้น เท่าที่สังเกตดูจากสภาพการณ์ช่วงที่อยู่นั้น ต้องยอมรับว่า สินค้าไทย ไม่ว่า ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ และผลไม้ไทย ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ยกตัวอย่าง ตุ๊กตาผู้หญิงล้านนาไทยพนมมือไหว้สูงประมาณหนึ่งเมตร สนนราคาตกตัวละ 10,000 กว่าบาท ทั้งๆ ที่ราคาต้นทุนที่ อ.หางดง เชียงใหม่ น่าจะไม่เกิน 3,000-3,500 บาท บวกกับค่าขนส่งสูงสุดตัวละไม่เกิน 5,000 บาท เพราะฉะนั้น เราฟาดกำไรตัวละ 5,000-6,000 บาทอย่างแน่นอน ซึ่งขอย้ำว่า “ขายดีมาก!”

การเดินทางไปครั้งนี้ ได้ร่วมประชุมและสังเกตการณ์ว่า “ดีมาก!” ทั้ง ความรู้สึก การค้าการขาย การลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่มีแนวโน้มดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกของชาวจีนมณฑลยูนนานนั้น ใกล้ชิดกับทางประเทศไทยมาก เนื่องด้วยชนกลุ่มน้อย “สิบสองปันนา” ที่ยังคงปักถิ่นฐานอยู่ที่มณฑลยูนนาน และภาษาไทยยังคงเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่ ทั้งนี้ อาจจะเพี้ยนบ้าง แต่สามารถเจรจากันได้

เศรษฐกิจประเทศจีนต้องนับว่า “สูงสุดเกือบ 12%” ของอัตราการเจริญเติบโตหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือเรามักเรียกกันว่า “จีดีพี (GDP)” ที่สูงที่สุดในโลกขณะนี้ เพียงแต่ว่า “จีดีพี” ของจีนนั้น ค่อนข้างมั่นใจว่า “เชิงมหภาค (Macro)” ที่มุ่งเน้นทางด้านอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมการลงทุนขนาดใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงระบบขนส่ง และ/หรือโลจิสติกส์

การเร่งสร้าง “นโยบายสร้างชนชั้นกลาง” ซึ่งน่าเชื่อว่า ทางรัฐบาลจีนมุ่งเน้นสร้าง “ประชากรระดับกลาง” ให้มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันตัวเลขประชากรระดับกลางกำลังเจริญเติบโตอย่างมาก จากประชาชนระดับรากหญ้า หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า “จีนเร่งสร้างชนชั้นกลาง” เพื่อรองรับการเจริญเติบโตที่สอดคล้องกันระหว่างเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจจุลภาค

การเดินทางจากภาคเหนือไทยนั้น สะดวกที่สุด ถ้าเดินทางโดยทางรถยนต์ด้วยถนน R3 ผ่านเชียงของ และเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ส่วนท่าเรือก็เช่นเดียวกัน แต่ถ้าทางสายการบินนั้น มีเพียงการบินไทยเท่านั้น ซึ่งมิได้บินทุกวัน ต้องเรียกว่าน่าเสียดาย ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมกงสุลพาณิชย์ไทยร่วมประชุมอย่างแข่งขัน และเชื่อว่า “ไทยโชคดีแน่!”
กำลังโหลดความคิดเห็น