xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”สั่งทำตารางเรือเทียบท่ากรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”สั่งกทท.หารือสภาหอการค้าแห่งประเทศและผู้ประกอบการ ทำตารางการเทียบท่าเรือ เพื่อจัดระเบียบเข้าออกและควบคุมเวลาขนถ่ายสินค้า ฃณะที่สั่งติด RFID ตู้สินค้าและรถหัวลากลดเวลาค้นหาตู้

วานนี้ (7 มิ.ย.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) ได้หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาความแออัดการให้บริการของท่าเรือกรุงเทพ
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กทท.ไปหารือร่วมกับสภาหอการค้าฯ และผู้ประกอบการเดินเรือ เพื่อจัดทำตารางการเทียบท่าเรือสินค้าในรูปแบบเดียวกับตารางการบิน ซึ่งจะทำให้การบริหารเวลาในการเทียบท่าและการขนถ่ายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้สรุปภายในเดือนก.ค. เพื่อให้กทท.จะเริ่มจัดเรือเข้าเทียบท่าตามตารางได้ทันที
โดยการจัดตารางเรือเทียบท่าจะทำให้รู้ว่าเรือลำไหนจะเข้าเทียบท่าใด เมื่อใด เจ้าของสินค้าและผู้เกี่ยวข้องจะสามารถวางแผนการรับส่งสินค้าได้ตรงกัน รวมถึงบริหารเวลาในการขนถ่ายสินค้าได้ เรือไม่ต้องจอดรอ ซึ่งให้ทำตารางเดือนต่อเดือน เพื่อปรับเปลี่ยนได้หากเรือลำใดมีปัญหาเทียบท่าไม่ได้ตามตารางหรือบางลำไม่ได้เดินเรือประจำ ขณะที่ในปัจจุบันจัดเรือแบบเรือลำไหนมาก่อนได้เข้าเทียบท่าก่อน
ปัจจุบันเรือขนาด 1,000 TEU มีสินค้าประมาณ 600 ตู้ เทียบท่าจะใช้เวลาขนถ่ายสินค้าประมาณ 20 ชั่วโมง โดยใช้เคลน 2 ตัว ขีดความสามารถขนถ่ายได้ 30 ตู้ต่อชั่วโมง การจัดทำตารางเดินเรือแล้ว จะช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าให้น้อยลงและจะทำให้เรือเทียบท่าได้มากขึ้น
“ระหว่างการซ่อมท่าเรือในเทอร์มินอล 2 จะทำให้เหลือท่าเรือให้บริการได้ 6 ท่าจากทั้งหมด 7 ท่า ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการให้ดี ซึ่งตามแผนจะซ่อมเสร็จปี 2555 แต่ให้การท่าเรือฯ เร่งให้เร็วขึ้น เนื่องจากท่าเรือ 1 ท่าจะมีรายได้ประมาณ 5 แสนบาทต่อวัน การปิดจะทำให้สูญเสียรายได้ ซึ่งหากเร่งก่อสร้างแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเทียบกับรายได้ที่จะกลับมาเร็วขึ้นก็คุ้มที่จะลงทุน”นายสุพจน์กล่าว
นอกจากนี้ ได้ให้กทท.เร่งดำเนินการติดตั้งระบบ RFID ที่ตู้สินค้าและรถหัวลากจำนวน 110 หัวเพื่อติดตามและค้นค้าหาตู้สินค้าได้เร็วขึ้น และบริหารจัดการรถหัวลากได้เต็มประสิทธิภาพจากปัจจุบัน หลังผ่านพิธีด้านเอกสารและศุลกากร จะใช้เวลาในการค้นหาตู้สินค้า ได้ภายใน 35 นาที/ตู้ เมื่อผู้ประกอบการแจ้งเจ้าหน้าที่กทท. จากก่อนหน้านี้ทีเคยต้องใช้เวลาถึง 2 วัน
ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้นำเข้า-ส่งออกในการทำงานนอกเวลาราชการนั้น เป็นการเรียกเก็บในส่วนของกรมศุลกากร ซึ่งเรื่องนี้จะต้องไปเจรจากับกระทรวงการคลังเองเป็นคนละส่วนกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งทราบว่า กรมศุลกากรเรียกเก็บค่าใบอนุญาตนำเข้า 1,500 บาทต่อใบ ซึ่งบางตู้สินค้ามี 5 เจ้าของก็ต้องเสียค่าล่วงเวลาถึง 7,500 บาท จึงจะสามารถเอาตู้ออกได้ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น