xs
xsm
sm
md
lg

4บลจ.ชิงดำพอร์ตFIDF สบน.เล็งหั่นแบ่งบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - 4 บิ๊ก บลจ. “KTAM - SCBAM - บัวหลวง - KASSET" ชิงดำยื่นข้อเสนอคลังบริหารพอร์ต 1.2 แสนล้านบาท ดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานร่วมคัดเลือก “จักรกฤศฎิ์” ระบุอาจผ่านการคัดเลือกหลายราย เตรียมหั่นเป็นกองๆ ละประมาณ 3-4 หมื่นล้าน

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 4 แห่ง ประกอบด้วย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTAM บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.บัวหลวง และบลจ.กสิกรไทย ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนบริหารพอร์ตวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมรองรับการชำระคืนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะครบกำหนดชำระคืนในเดือนสิงหาคม 2555

ขั้นตอนหลังจากนี้ สบน.จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติที่บลจ.แต่ละแห่งยื่นเข้ามาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะพิจารณาผลการดำเนินงานย้อนหลังว่าประสบความสำเร็จในการบริหารพอร์ตลงทุนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุนถึงทิศทางและนโยบายการบริหารกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมานี้ด้วย โดยกองทุนจะไม่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แต่จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระดับ AAA ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องปิดความเสี่ยง 100%

“ประเด็นสำคัญคือกองทุนนี้จะต้องรับประกันว่าไม่ติดลบเด็ดขาดเพราะเป็นเงินที่ต้องชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ FIDF และที่สำคัญจะต้องบริหารให้เกิดดอกผลขึ้นมาด้วย ซึ่งผลการคัดเลือกอาจได้ทุก บลจ.บริหารพอร์ตร่วมกันโดยแยกเป็นกองละประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลการคัดเลือกน่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้เพราะ สบน.ต้องรีบจัดตั้งกองทุนเพื่อให้มีผลประโยชน์เกิดขึ้นโดยเร็ว” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว

คณะกรรมการที่สบน.จัดตั้งขึ้นมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังจากหลากหลายหน่วยงานประกอบไปด้วย ตัวแทนจากสบน. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นต้น

สำหรับการจัดตั้งกองทุนนี้ สบน.ได้ดำเนินการเพื่อบริหารต้นทุนทางการเงินให้เหมาะสมเพื่อรองรับการชำระคืนหนี้พันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินFIDF ที่จะครบกำหนดชำระคืนในเดือนสิงหาคม 2555 วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนของกองทุนฟื้นฟูฯ? ในปีหน้านั้นสูงมากถึง 1.2 แสนล้านบาทและมีต้นทุนอยู่ที่ 6.75% การจะกู้เงินเพื่อนำมาชำระคืนพันธบัตรภายในครั้งเดียว นอกจากจะกระทบตลาดตราสารหนี้โดยรวมแล้วยังจะมีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็นด้วย เนื่องจากภาวะตลาดในปัจจุบันอยู่ในช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น สบน.จึงมีความจำเป็นต้องช่วยรัฐบาลลดภาระงบประมาณในการชำระ หนี้ให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น สบน.จึงต้องการบริหารการชำระหนี้ด้วยการทยอยกู้เงินมาสะสมไว้ เพื่อจะได้ล็อกต้นทุนเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยประมาณ 3.8-3.9% เพราะหากในอนาคตดอกเบี้ยปรับขึ้นไปสูงถึง 6-7% ก็จะสามารถประหยัดต้นทุนได้ เพราะทุกๆ 1% จะประหยัดเงินงบประมาณได้ 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้จัดการกองทุนอีกคนทำหน้าที่บริหารเงินที่กู้มาเตรียมไว้ไปบริหารการลงทุนให้เกิดผลตอบแทนทางหนึ่งด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น