xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์พรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันก่อนผมไปพูดเรื่อง “ขุมทรัพย์พรรคการเมือง” ซึ่งหัวข้อดูน่าสนใจ โดยทั่วไปในต่างประเทศ การพูดถึง “ขุมทรัพย์ของพรรคการเมือง” มักจะหมายถึงแหล่งทุนสนับสนุนพรรคการเมือง ในสหรัฐอเมริกา การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องใช้เงินกันครั้งละมากๆ นอกจากผู้สมัครจะต้องได้รับการคัดเลือกจากพรรคแล้ว ก็ยังต้องมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ๆ อีกด้วย การระดมทุนของผู้สมัครแต่ละคน ทำกันโดยมีองค์กรเฉพาะ

สำหรับพรรคการเมืองไทย ขุมทรัพย์ ไม่ได้หมายถึงแหล่งทุน เพราะการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองนั้น มีจำนวนไม่มากแม้บริษัทใหญ่ๆ ก็บริจาคแค่ล้านเดียว ดังนั้นพรรคการเมืองก็ได้แค่ 40-50 ล้านบาท ถ้าจัดงานขายโต๊ะ ก็คงได้ครั้งละ 5-10 ล้าน

ถ้าเช่นนั้น เงินส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองได้มาจะมีที่มาจากทางใดบ้าง เพราะเงินบริจาคมีไม่กี่สิบล้านบาท แต่การหาเสียงต้องใช้เงินมาก ยิ่งส่งผู้สมัครครบอย่างต่ำก็ต้องใช้เงินหาเสียงเป็นร้อยล้าน

ในเมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถระดมทุนจากผู้สนับสนุนได้ พรรคการเมืองก็จำเป็นต้อง “หาเงิน” แหล่งเงินที่พรรคการเมืองจะหาเงินมาได้นั้น มักเปิดเผยไม่ได้ และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็คือ เลขาธิการพรรค หรือไม่หัวหน้าพรรคก็เป็นผู้หาเงินเอง แต่ก่อนการหาเงินมักหาจากการให้ผลประโยชน์ โดยเฉพาะการให้สัมปทานและใบอนุญาต ต่อมาก็เป็นเงินจากโครงการที่ได้งบประมาณของรัฐ ต่อมาเมื่อมีตลาดหุ้น การหาเงินจากการปั่นราคาหุ้นก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แหล่งหาเงินที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งก็คือ รัฐวิสาหกิจที่รัฐมนตรีเข้าไปดูแลเป็นผู้กำกับ ยิ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุน และการจัดซื้อมากๆ ก็ยิ่งได้มาก รัฐวิสาหกิจอย่างการบินไทย มีการจัดซื้อเครื่องบิน และอุปกรณ์ตกแต่งภายในเครื่องบินนับเป็นหมื่นๆ ล้าน มีการจัดซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร และมีการซ่อมเครื่องบิน บางครั้งตกลงเรื่องผลประโยชน์ไม่ได้ก็ทำให้โครงการล่าช้าไป เช่น โครงการปรับปรุงเครื่องบิน 777 ใช้เวลาอยู่ถึง 7 ปี จึงจะสำเร็จ

ผมเคยได้ยินนักการเมืองพูดโทรศัพท์แนะนำกันให้ไปดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการแยะๆ เขาถามว่า “มึงอยากกินหูฉลามหรือเปล่า” หมายถึงไปคุมแหล่งที่มีเงินมากๆ

การหาผลประโยชน์ของนักการเมืองในระยะหลังๆ เป็นการสมคบกับข้าราชการทำโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีการก่อสร้าง สมัยหนึ่งมีการสร้างที่ว่าการ อบต.มีคนเป็นยี่ปั๊วรับมาทีละ 10-20 แห่ง และชักเปอร์เซ็นต์ เช่น งบประมาณก่อสร้างแห่งละ 800,000 บาท คนรับมาก็เอา 300,000 บาท พอมาถึงผู้สร้างจริง ก็เหลือเงินก่อสร้างแค่ 400,000 บาท ลองคูณดูว่า อบต.มีเป็นพันแห่ง โกงกันแห่งละ 300,000 บาท ก็เป็นเงินมหาศาล

การเปิดประมูลซื้อของไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ พรรคการเมืองก็เข้าไปเกี่ยวข้อง รถเมล์ รถดับเพลิง รถตำรวจ รถมอเตอร์ไซค์ ของเหล่านี้นักการเมืองเป็นผู้เรียกร้องทั้งนั้น มิฉะนั้นก็จะไม่อนุมัติ

จะเห็นว่า หน้าห้องรัฐมนตรีจะมีมนุษย์ประเภทหนึ่งไปนั่งสุมหัวกันอยู่ เรียกว่า “ที่ปรึกษา” มีการพิมพ์นามบัตรไว้แจก พวกนี้คือมือเท้าของนักการเมือง บางคนก็ไปหลอกชาวบ้านว่าจะจัดงานใหญ่ให้มาออกร้านขายของ แล้วขายที่ให้เช่า แบบนี้เป็นการหากินที่กระจอกที่สุด

กรมพลาธิการของตำรวจเป็นแหล่งที่นักการเมืองใช้หากิน เพราะต้องจัดซื้อเสื้อเกราะ รถสายตรวจ มอเตอร์ไซค์ แม้กระทั่งชุดตำรวจ รองเท้าบูท วิธีหากินคือทำผ่านบริษัทที่ตั้งขึ้นมาประมูล แล้วเสนอราคาแพงกว่าที่เป็นจริง ลูกศิษย์คนหนึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมๆ หนึ่ง รัฐมนตรีสั่งให้ซื้อรถดับเพลิงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมแล้วนับพันคัน รัฐมนตรีคนนี้ก็ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เป็นนักวิชาการมาก่อน ลูกศิษย์ผมไม่ยอมเซ็นตั้งเรื่องก็โดนย้าย ดังนั้นนักการเมืองทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีข้าราชการร่วมมือด้วย ข้าราชการบางคนก็ต้องการตำแหน่ง แต่สมัยนี้มีส่วนร่วมในการรับเงินด้วย

โครงการใดมูลค่านับหมื่นๆ แสนๆ ล้าน ขอให้เราตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน บางโครงการนักวิชาการและผู้ปฏิบัติเห็นว่าสิ้นเปลือง มีวิธีการอื่นที่ดีกว่า แต่นักการเมืองก็ดันทุรังทำไปเพราะได้เงินแยะจากการก่อสร้าง โดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชน

การหาเงินของพรรคการเมือง ทำให้การปราบคอร์รัปชันไม่เป็นผล เพราะผู้หาเงินเข้าพรรคไม่รู้สึกผิด และคนในพรรคก็ไม่ว่าอะไร พรรคแต่ละพรรคจึงรู้ดีว่าทีใครทีมัน บางพรรคนิยมร่วมรัฐบาลทุกครั้ง เพราะต้องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มีความฉลาดตรงที่สิ่งที่ทำนั้นประชาชนได้รับผลประโยชน์ด้วย

ตราบใดที่ยังมีการเลือกตั้งมีพรรคการเมือง ตราบนั้นก็ต้องมีคอร์รัปชันควบคู่กันไป ประชาธิปไตยจึงเป็นกรอบในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างมีความชอบธรรม คำถามก็คือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีประชาธิปไตยโดยมีการคอร์รัปชันลดลง บางประเทศอย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกงก็ทำสำเร็จ ปัจจัยสำคัญก็คือ การปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างในเกาหลีใต้ก็มีการปฏิรูประบบอัยการก่อนอื่น

สำหรับเมืองไทยเราเห็นจะต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ กระมัง?
กำลังโหลดความคิดเห็น