xs
xsm
sm
md
lg

มติเถื่อนของ “กลุ่มสมศักดิ์” บทพิสูจน์บรรทัดฐาน กกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดื้อด้านเดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งไปกับเขาด้วยสำหรับ “พรรคการเมืองใหม่” ภายใต้การนำทัพของ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” หัวหน้าพรรค ที่ไม่สนใจเสียงทัดทาน หรือปัญหาภายในพรรค ตัดสินใจส่งตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ทั้งในระบบเขต และบัญชีรายชื่อ
โดยอ้างว่าเป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า พรรคการเมือง หมายถึง คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง...โดยมุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองใหม่ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 24 คน โดยมีนายสมศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค เป็นผู้สมัครในลำดับที่ 1 พร้อมทั้งส่งผู้สมัคร ส.ส.ในระบบเขตอีก 21 จังหวัดทั่วประเทศ หวังปักธงให้มี ส.ส.นามพรรคให้ได้เป็นครั้งแรก
แต่เส้นทางของพรรคการเมืองใหม่ก็อาจไม่ราบรื่น เมื่อการส่งผู้สมัครครั้งนี้ยังคงมีปัญหาอยู่ จากการที่ สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค ได้ทำหนังสือถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ระงับการที่พรรคการเมืองใหม่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือก่อนการเปิดรับสมัครระบบบัญชีรายชื่อ 1 วัน

โดยให้เหตุผลแย้งว่า พรรคการเมืองใหม่ยังไม่เคยมีมติให้ส่งผู้สมัคร ส.ส.แต่อย่างใด การรวบรัดตัดตอนของ “สมศักดิ์”จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามกฏ...
ซึ่ง กกต.ก็ได้รับเรื่องโต้แย้งจากเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ไว้พิจารณา โดยขอใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเวลา 10 วัน ภายหลังที่มีการเข้าสมัครแล้ว ซึ่งก็คือวันที่ 19 พ.ค.

ระหว่างนี้ การสมัครรับเลือกตั้งของกลุ่มสมศักดิ์ยังไม่สมบูรณ์ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กกต.จะประกาศผลการพิจารณาในกรณีนี้อย่างเป็นทางการอีกที ว่ามติเถื่อนของกลุ่มศักดิ์จะถูกตีความไปทางไหน
ย้อนทบทวนที่มาที่ไปของปัญหาความแตกแยกภายในพรรคการเมืองใหม่ สาเหตุน่าจะมาจากการที่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดพรรคนี้ขึ้นมา ได้เสนอให้พรรคการเมืองใหม่พิจารณาเว้นวรรคไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ และร่วมในการรณรงค์ “โหวตโน” กับภาคประชาชน เพื่อจุดกระแสนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง
ส่งผลให้ความเห็นของกรรมการบริหารพรรคแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายโดยพลัน ฝ่ายหนึ่งนำโดยนายสมศักดิ์ กับกรรมการบริหารพรรคบางส่วน ที่ต้องการให้ส่งผู้สมัคร เพราะมั่นหมายปั้นมือและเตรียมการมาเป็นเวลานาน หลังจากก่อตั้งพรรคได้ครบ 2 ปีพอดิบพอดี
ส่วนอีกฝ่ายนำโดย สำราญ รอดเพชร รองหัวหน้าพรรค และ สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ พร้อมทั้งกรรมการบริหารพรรคเสียส่วนใหญ่ ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน และเสนอให้พรรคออกมติในทิศทางเดียวกับที่พันธมิตรฯเสนอมา
และได้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค “นอกรอบ” เมื่อวันที่ 22 มี.ค.54 โดยในที่ประชุมประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนสาขาพรรค และศูนย์ประสานงานพรรคจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมเพื่อสอบถามความคิดเห็น โดยที่ประชุมก็ได้มีความเห็นเพียงแค่ว่า ควรที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
แต่มีข้อแม้ว่า ต้องรับฟังความคิดเห็นสมาชิกพรรค ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย.เสียก่อน
หรือแม้แต่ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ก่อนการประชุมใหญ่ก็ยังมิได้มีการลงมติว่าจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัคร มีเพียงการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่พรรคกำลังประสบอยู่ และยืนยันว่าต้องรอฟังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมวันที่ 24 เม.ย.
และอย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ในที่ประชุมใหญ่วันนั้น เสียงของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ถึงกว่า 80 เปอร์เซนต์ ที่ไม่ต้องการให้พรรคส่งผู้สมัคร พร้อมทั้งยังมีการเสนอให้เดินหน้าตามแนวทาง “โหวตโน” ของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่นายสมศักดิ์ก็ยังพยายาม “ดึงเกม” ไม่ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่ โดยอ้างว่าจะไปหารือในกรรมการบริหารพรรคเพื่อออกมาเป็นมติพรรคอีกครั้ง
เรื่องราวความขัดแย้งทั้งหมดจึงเริ่มขึ้น ณ จุดนั้น
มาถึงวันที่ 29 เม.ย. ก็ได้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่อีกครั้ง และใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อลงมติในเรื่องนี้เป็นเวลานานแต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การโต้เถียงของสมาชิกพรรคที่เห็นต่างนอกห้องประชุม นายสมศักดิ์เห็นว่าเหตุการณ์ไม่เป็นไปในทางที่จะเป็นคุณของตนเองจึงสั่งปิดประชุม โดยไม่มีการลงมติใดๆทั้งสิ้น
หลังจากนั้นนายสมศักดิ์ก็ยังพยายามให้มีการประชุมแบบ “ไม่เปิดเผย”อีกหลายครั้ง โดยไม่มีกรรมการบริหารเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นต่างเข้าร่วมการประชุม จึงไม่สามารถลงมติให้เป็นไปตามระเบียบของพรรคได้
อย่างไรก็ดี วันที่ 19 พ.ค.นายสมศักดิ์ก็ได้นำลูกพรรคบางส่วนเข้าสมัครรับเลือกตั้งในที่สุด โดยไม่ได้เคารพต่อเสียงของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการให้ส่งผู้สมัคร
ซึ่งข้อมูลหลักฐานต่างๆเหล่านี้ได้อยู่ในมือ กกต.แล้ว การตัดสินเรื่องนี้จึงถือเป็นบทพิสูจน์ “บรรทัดฐาน” ของ กกต.ชุดนี้ ว่าจะสามารถดูแลการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายได้หรือไม่ เพราะในเมื่อข้อมูลต่างๆชัดเจนว่า
พรรคการเมืองใหม่ไม่เคยมีมติพรรคที่จะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งหนนี้ ทั้งยังมีหนังสือจาก 10 ใน 19 กรรมการบริหารพรรคยื่นคัดค้านต่อ กกต.อีกด้วย
จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองใหม่ ไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 37-38 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ทั้งการไม่มีมติพรรค และไม่ได้มีขั้นตอนพิจารณาตัวผู้สมัครโดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ประการใด
หรือหากนายสมศักดิ์อ้างว่าที่ประชุมเมื่อวันที่ 22 มี.ค.นั้นมีมติให้ส่งผู้สมัคร แล้วเหตุใดจึงต้องเปิดประชุมอีกในภายหลัง เพื่อจะลงมติว่าส่งหรือไม่ส่งผู้สมัคร
ถึงเวลานี้สถานภาพของพรรคการเมืองใหม่ในสนามเลือกตั้งก็ยังไม่ถูกต้อง แม้จะออกไปหาเสียงก็คงทำแบบห่วงหน้าพะวงหลัง และลุ้นว่าสุดท้ายแล้ว กกต.จะฟันธงออกมาอย่างไร
แต่ไม่ว่าอย่างไรภาคประชาชนก็ยังต้องเดินหน้าตามแนวทางที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ และให้เกิด “การเมืองใหม่” อย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพียงมาสวมชื่อ แล้วยังย่ำอยู่กับการเมืองแบบเก่าๆเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น