xs
xsm
sm
md
lg

นางโภควดี วรรณกรรมที่สอนให้ผู้อ่านรักในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดของสยามประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


ในระยะนี้ได้ข่าวเรื่องโรคร้อน เพราะเกิดปัญหาจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีในการผลิต การทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมนุษย์เองขึ้น การทำลายป่าไม้อย่างมโหฬาร สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีแต่เรื่องที่ชาวตะวันตกชี้ให้เห็นถึงภัยพิบัติ ไม่มีเรื่องของภูมิปัญญาไทยที่สอนให้รักและเคารพในธรรมชาติเลย จนคิดไปว่าจริงหรือที่คนไทยไม่รักทางวัฒนธรรมในเรื่องการอนุรักษ์ในสิ่งแวดล้อมเลยหรือ

เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนางโภควดีตั้งแต่เป็นเด็กเรียกได้ว่า ตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย และเคยเห็นต้นฉบับซึ่งเป็นลายมือเขียน ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่มิให้จับต้องเพราะกลัวจะฉีกขาด จึงได้ฟังแต่เรื่องที่เขาอ่านให้ฟังหรือเล่ากันเท่านั้น แต่เมื่อมาเรียนหนังสือก็ได้กลับไปหาต้นฉบับแต่ไม่พบ มาพบอีกครั้งเมื่อมาเขียนตำราเรียนเรื่องวรรณกรรมภาคใต้ และได้ไปพบเรื่องนางโภควดีที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี พัทลุง และได้พบต้นฉบับที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งระบุว่านำมาจากภาคใต้อีกหนึ่งฉบับด้วย

ได้ตรวจสอบวรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ ของกลุ่มโรงพิมพ์วัดเกาะ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าและที่หก มีปรากฏรายชื่อนางโภควดี ได้เคยจัดพิมพ์ขึ้นเช่นกัน แต่หาต้นฉบับไม่พบ จึงกล่าวในขณะนี้ได้ว่านางโภควดีเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านภาคใต้ ประพันธ์ด้วยกาพย์ยานีสิบเอ็ดและกาพย์สุรางคนางยี่สิบแปดและสำนวนภาษาเป็นของท้องถิ่น

ความน่าสนใจที่ประทับใจมาตั้งแต่เด็กๆ คือ เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความเสียสละของผู้หญิงคนหนึ่งที่ยอมอุทิศร่างกายเพื่อสร้างสรรพสิ่งในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งน่าประทับใจและมีคุณค่าคือทำให้ผู้อ่านเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ทั้งเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ล้วนเป็นของที่น่าหวงแหนทั้งสิ้น และเกิดความรักทุกสิ่งในโลก เพราะเห็นว่าทุกสิ่งในโลกนี้เกิดมาจากการเสียสละของผู้หญิง สิ่งดังกล่าวจึงสร้างความประทับใจอย่างไม่รู้ลืม จะทำลายธรรมชาติก็ให้นึกถึงการเสียสละชีวิตเพื่อนมนุษย์ในโลกมีชีวิตมีอายุยืนยาวและอุดมสมบูรณ์

เนื้อหาประพันธ์ด้วยภาษาง่ายๆ กินใจและมีความไพเราะเพราะพริ้งทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย อีกทั้งเกิดความประทับใจ เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า พระอิศวรได้คิดจะสร้างสรรพสิ่งในโลกเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์ นางโภควดีได้ทราบข่าวจึงคิดจะบำเพ็ญบารมี โดยยอมเสียสละร่างกายของตนเองบริจาคให้กับพระอิศวรเพื่อสร้างสรรพสิ่งในโลก พระอิศวรจึงได้นำร่างกายของนางมาโดยนำเนื้อมาสร้างเป็นแผ่นดิน เลือดมาเป็นน้ำเค็มและน้ำจืด ส่วนลำคอกลายเป็นพระอาทิตย์และพระจันทร์ หัวใจกลายเป็นทางน้ำไหล แผ่นหลังกลายเป็นแผ่นฟ้า กระดูกเป็นต้นไม้ ฟันและเล็บกลายเป็นภูเขา เส้นเอ็นกลายเป็นเชือกเถาวัลย์ ส่วนขนกลายเป็นต้นหญ้าและสิงสาราสัตว์นานาชนิด และสรรพสิ่งที่เป็นร่างกายส่วนต่างๆ ของพระนางโภควดีจะยืนยงคงอยู่จนเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาประกาศศาสนาทั้งห้าพระองค์ หลังจากนั้นจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์มาเผาผลาญ และฝนจะตกลงมาเจ็ดวันเจ็ดคืนน้ำจะท่วมถึงชั้นพรหม เมื่อน้ำแห้งหมดลง การสร้างโลกก็จะขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ตัวอย่างที่เข้าใจง่ายและมีอรรถรสดังนี้

บนพื้นฐานความเป็นแม่ ซึ่งเป็นผู้กำเนิดชีวิตใหม่ และต้องทนเจ็บปวดต่างๆ นานา อีกทั้งยังต้องเลี้ยงดูชีวิตและปกป้องลูกอีกเป็นเวลายาวนาน ซึ่งพอกับการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของนางโภควดี ดังนั้นเนื้อหาของเรื่องนี้เป็นการสอนให้รักและหวงแหนในธรรมชาติและสรรพสิ่งในโลก ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือประถมจินดา สอนให้เข้าใจในสิ่งแวดล้อมและรักในป่าไม้ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพราะเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันกับชีวิตของมนุษย์

วรรณกรรมทั้งสองเรื่อง คือ นางโภควดีและประถมจินดา เป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของคนไทย ที่มีแนวสอนเรื่องการบูรณาการสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่มีมานานกว่าร้อยปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีคนไทยรู้จัก เพราะไม่มีการใช้สอนในโรงเรียน พวกเราคงจะได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องกามกรีฑา เรื่องความรักอันเต็มไปด้วยกามรส จึงขอให้วรรณคดีไทยที่ใช้สอนจงรุ่งเรืองถาวรสืบไปจนชั่วกัลปาวสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น