xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้คะแนน"ผู้นำ"พุ่ง “ยิ่งลักษณ์”ขึ้นหม้อ! แถมปาร์ตี้ลิสต์พท.นำปชป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - เอแบคโพลเผยคะแนนความเป็นผู้นำ “ยิ่งลักษณ์” เพิ่มขึ้นหลังเปิดตัวแรง จากกลุ่มคนที่ไม่มีความเห็นในการสำรวจครั้งก่อน พร้อมอยากเห็น “อาจสามารถโมเดล” เหมือนสมัยทักษิณ ขณะที่ร้อยละ 59.4 อยากเห็นการดีเบตของว่าที่นายกฯ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ดุสิตโพลชี้ชัดเพื่อแม้วชนะปาร์ตี้ลิสต์ ส่วน “นิด้าโพล”ชี้เลือกตั้งห้ำหั่นถึงขั้นฆ่าแกง

วานนี้ (22 พ.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่าผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สอง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,332 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 16 - 21 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 จากการเลือกตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้ ประเด็นคัญที่ค้นพบครั้งนี้คือ

ความคิดเห็นของประชาชนที่ถูกศึกษาต่อความเป็นผู้นำด้านต่างๆ เปรียบเทียบระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ผลสำรวจไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะความแตกต่างของตัวเลขที่ค้นพบครั้งนี้ ยังอยู่ในช่วงของความคลาดเคลื่อน บวกลบร้อยละ 7 แต่หากพิจารณาเป็นค่าตัวเลขที่ค้นพบในด้านของนายอภิสิทธิ์ พบว่า ลดลงเกือบทุกตัว โดยเฉพาะด้านความเป็นคนรุ่นใหม่ จากร้อยละ 42.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.0

ในขณะที่ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกด้านอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติ เช่น ความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ จากร้อยละ 9.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.2 ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 13.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.9 การได้รับการยอมรับภายในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 17.7 ด้านประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 15.9 ด้านความโอบอ้อมอารี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ด้านความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ด้านความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 10.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.7

ด้านจริยธรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.4 ด้านการมีวิสัยทัศน์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.7 ด้านความเสียสละเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ด้านความซื่อสัตย์สุจริตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 14.7 ด้านความเป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.3 ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 22.5 ด้านความยุติธรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.6 มาอยู่ที่ ร้อยละ 16.3 ด้านความกล้าคิดกล้าตัดสินใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 25.7

ด้านการแก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้งได้ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 19.0 ด้านความรวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 21.3 และด้านมีฐานะร่ำรวย ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.3

**ส่วนใหญ่59%อยากเห็นดีเบต

และเมื่อสอบถามถึงความอยากเห็นการถกแถลง (ดีเบต) แสดงวิสัยทัศน์ต่อสาธารณชน ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.4 อยากเห็น เพราะ อยากได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ/ อยากเห็น อยากได้ยินวิสัยทัศน์จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยตรง/ อยากดูปฏิภาณไหวพริบ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 40.6 ไม่อยากเห็น

**"ยิ่งลักษณ์" เปิดตัวโพลแรงตาม

ผอ.เอแบคโพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้อาจชี้ให้เห็นได้ว่า ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์มาจากกลุ่มคนที่ไม่มีความเห็นในการสำรวจครั้งก่อน และเป็นกลุ่มคนที่เริ่มตัดสินใจ หลังจากได้รับข้อมูล ข่าวสารและมีความชัดเจน ของการเปิดตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะคู่แข่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกระแสที่ปรากฏของสื่อมวลชน ข้อสมมติฐานที่น่าศึกษาด้านปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของสาธารณชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ที่อาจเพิ่มขึ้นได้อีกคือ น่าจะทดลองใช้ “อาจสามารถโมเดล” ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้เพิ่มความนิยมในอดีตด้วยการลงพื้นที่กางเต็นท์ค้างคืนตั้งโต๊ะรับ ปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร

ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอาจจะทดลองใช้ “ทฤษฎีแก้วสามใบ” หาเสียงกับกลุ่มกระแสที่เป็นน้ำถ่ายเทได้ง่าย มากกว่ากลุ่มตะกอนที่ค่อนข้างจะไปกวาดมาได้ยากในช่วงระยะเวลาที่จำกัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยกลุ่มที่เป็นน้ำมักจะไม่ค่อยติดตามข่าวสารเพราะต้องใช้ชีวิตแบบหาเช้ากิน ค่ำ หรือหมกมุ่นกับงานจนไม่มีเวลามากพอติดตามข่าวสาร คนเหล่านี้จะได้ใจเมื่อเห็นความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏ “หน้าจอ กับ หน้าบ้านในบ้าน” มันตรงกัน หมายความว่า จะโฆษณาอย่างไรว่าเศรษฐกิจดี แต่ถ้าเงินในกระเป๋าประชาชนไม่มีก็จะไม่มีความหมาย หรือ ประชาสัมพันธ์ว่าปราบปรามยาเสพติด แต่ในบ้านหรือหน้าบ้านประชาชนมียาเสพติดเต็มไปหมด การ “เล่น” กับกระแสก็จะไม่มีความหมายเปลี่ยนใจประชาชนได้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นหญิง ร้อยละ 51.9 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.4 อายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 35.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดย ร้อยละ 71.9 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.6 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 26.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 13.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 7.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

**ดุสิตโพลชี้เผาไทยชนะปาร์ตี้ลิสต์

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศกรณี ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ จำนวนทั้งสิ้น3,584 คน ระหว่างวันที่ 19-22พฤษภาคม 2554 สรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย(พท.)มากสุด 41.22% รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) 36.88% ตามมาห่างๆ ด้วยพรรคภูมิใจไทย(ภท.) 3.88% ขณะที่มีประชาชนยังไม่ตัดสินใจเลือกใครและไม่เลือกใครมากถึง 9.27%

โดยประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ถึงการเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากหมายเลขที่พรรคการเมืองจับสลากได้ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ส่วนการตัดสินใจเลือกส่วนใหญ่จะดูว่าเป็นคนและสังกัดพรรคที่ชอบ ขณะที่หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ได้อันดับต้นๆ และอันดับท้ายๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก

**นิด้าโพลชี้ห้ำหั่นถึงขั้นฆ่าแกง

ด้าน “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความรุนแรงก่อนและหลังเลือกตั้ง” ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ค. จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,272 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ พบว่า ประชาชนสัดส่วน 39.07% เห็นว่า จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นฆ่ากันตายในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะการแข่งขันใกล้เคียง/สูสีกันสัดส่วน 32.78% ขณะที่เหตุผลมาตรการของตำรวจในการควบคุมมือปืนและการค้าอาวุธอาจไม่ได้ผลมีเพียง 6.29% แต่ประชาชนสัดส่วน 33.81% คาดว่าไม่น่าจะเกิดความรุนแรง เพราะทุกคนต้องระวังตัวเองไม่อยากมีเรื่องทำให้ต้องหมดสิทธิ์ และสัดส่วน 23.35% ไม่ทราบและไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการเกิดความรุนแรงไม่ถึงขั้นฆ่ากัน แต่อาจเกิดการทำร้าย หรือต่อต้านรุนแรง ทำให้บางพรรคหรือบางคน ไม่สามารถปราศรัยหาเสียงได้ในบางพื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น สัดส่วน 49.37% ระบุว่าน่าจะเกิด เพราะการแบ่งสี แบ่งพวกยังรุนแรงประชาชนขาดความปรองดองมีสัดส่วนถึง 29.0% และสัดส่วน 26.81% ระบุว่าไม่น่าเกิด เพราะตำรวจหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควบคุมสถานการณ์ได้ นอกจากนี้สัดส่วน 12.19% เห็นว่าก่อนยุบสภารัฐบาลได้ทำความเข้าใจดีแล้ว

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อระดับความขัดแย้งรุนแรงในบ้านเมืองหาก พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลประชาชนส่วนใหญ่สัดส่วน 31.68% เห็นว่าเท่าเดิม และมีประชาชนเพียง 19.65% ที่ตอบว่าความรุนแรงจะมากขึ้น ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์นั้นประชาชนสัดส่วน 39.94 % ตอบว่าเท่าเดิม แต่สัดส่วน 15.88% ตอบว่ามากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของพรรคอื่น ๆ (ไม่ใช่เพื่อไทย และประชาธิปัตย์) นั้น ประชาชนสัดส่วน 37.97% ตอบว่าไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าจะเกิดความรุนแรง แต่สัดส่วน 21.86% ตอบว่าเท่าเดิม และสัดส่วน 15.64% บอกว่าน้อยลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น