xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มต้นการเมืองเถื่อน-สร้างภาพ อนาคตเละตุ้มเปะ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผ่าประเด็นร้อน

แม้ว่ายังไม่มีการเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แต่ปรากฏว่ามีแนวโน้มแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงทางการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายไล่ยิงถล่ม อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดสมุทรปราการ ประชา ประสพดี เมื่อค่ำวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่ายังโชคดีที่กระสุนไม่โดนเป้าหมายสำคัญ แค่บาดเจ็บ แต่ก็ทำให้หลายคนประเมินสถานการณ์ตรงกันว่านี่สัญญาณของความปั่นป่วนวุ่นวายที่กำลังจะตามมา

แม้ว่าหากพิจารณาเฉพาะพื้นที่สมุทรปราการในระยะหลังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เริ่มกลับมามีการแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น หลังจากมี อดีต ส.ส.คนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยแยกตัวออกมาไปลงสมัครในพรรคการเมืองอื่น ซึ่งหากพูดกันตรงๆก็คือ กรุง ศรีวิไล หรือ “นที สุทินเผือก” ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทำให้บรรยากาศที่เคยผูกขาดร้อยเปอร์เซ็นต์เฉพาะพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มมีบรรยากาศมีสีสันขึ้นมาบ้าง

อย่างไรก็ดีนาทีนี้ยังไม่อาจสรุปเรื่องราวออกมาได้ เพราะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำงานติดตามหาเบาะแส ร่องรอยคนร้ายว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เป็นเพราะเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวที่อาศัยเหตุชุลมุนในช่วงนี้ลงมือเพื่อทำให้เบนเป็นเรื่องการเมือง หรือว่ามาจากเรื่องกำจัดศัตรูทางการเมืองในพื้นที่ของคู่แข่ง

ขณะเดียวกันถ้าหยิบยกเอากรณีของการลอบยิง ประชา ประสพดี มาเป็นข้อสังเกตเป็นเรื่องการเมืองแล้ว มันก็ย่อมมองเห็นอีกหลายพื้นที่ที่ต้องมีแนวโน้มเกิดความรุนแรง เพราะมีการแข่งขันสูง

เริ่มตั้งแต่ภาคเหนือลงมา แม้ภาพที่ออกมาอาจรับรู้กันว่า เป็นพื้นที่อิทธิพลหรือเป็นฐานเสียงหลักของ ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทย แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายจังหวัดเช่นเดียวกัน ที่ระยะหลังมีพรรคการเมืองอื่นเริ่มมีการขยายอิทธิพลเข้าไปแย่งชิง ทั้งลำปาง แม่ฮ่องสอน หรือแม้กระทั่งเชียงใหม่ เชียงราย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ แม้ว่าจะเป็นแค่รัฐบาลรักษาการ แต่จากการโยกย้ายข้าราชการแบบ “กระชับพื้นที่” มาหลายครั้งทั้งในส่วนของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด ไล่ลงมาจนถึงระดับล่างลงมา ทั้งนายอำเภอ สารวัตร ก็มีการเปลี่ยนแปลงผลัดเปลี่ยนเข้าไปใหม่ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้รวมไปถึงภาคเหนือตอนล่าง ที่เชื่อว่ามีการแข่งขันสูงยิ่งกว่าภาคเหนือตอนบนเสียอีก เช่น แพร่ พิจิตร กำแพงเพชร ก็เคยขึ้นชื่อกันมาแล้ว

ถัดมาก็คงหนีไม่พ้นพื้นที่ภาคอีสาน ที่พรรคเพื่อไทยเคยครองแชมป์มาก่อน แต่คราวนี้เมื่อมีการแตกตัวออกมาของ “กลุ่มเนวิน” ในนามพรรคภูมิใจไทย และต้องการแทรกตัวแย่ง ส.ส.ให้ได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อเสริมสถานะของตัวเองในการเป็นการพรรคขนาดกลางเป็นพรรค “ตัวแปร” ในการร่วมรัฐบาลให้ได้ การเลือกตั้งคราวนี้มันก็ยิ่งสนุกสุดเหวี่ยงเข้าไปอีก นี่ยังไม่นับพรรคประชาธิปัตย์ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเพิ่มที่นั่งให้มากขึ้นกว่าเดิมให้ได้

ขณะที่การเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ก็ใช่ว่าจะราบรื่นไม่มีคู่แข่ง เพราะคราวนี้พรรคเพื่อไทยต้องการ “เจาะยาง” ให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องการตัดแต้มในคะแนนพรรคแบบสัดส่วนให้มากที่สุด

แต่ที่ต้องจับตาก็คือการหาเสียงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันจะดุเดือดเลือดพล่านเพียงใด เพราะขนาดยังไม่มีเลือกตั้งโจรใต้ยังฆ่ารายวัน ซึ่งเป้าหมายก็โดนกันทั่วหน้าไม่ปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน รวมไปถึงผู้สมัคร ส.ส.เมื่อถึงเวลานั้นบรรยากาศจะเป็นอย่างไรไม่อยากจะนึกภาพ

อีกด้านหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการเมือง “น้ำเน่า” เพียงแค่สร้างภาพให้ดูดี ซึ่งในวันนี้ต้องยกให้ พรรคประชาธิปัตย์ และคนที่เป็นหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเฉพาะสังเกตได้จากเหตุการณ์ล่าสุดกรณีนำคณะไปถกกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวานนี้( 11 พฤษภาคม) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อห้าม รวมไปถึงอยากรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ทำไม่ได้

แม้ภาพที่ต้องการสื่อออกมาให้สังคมได้เห็นก็คือ “ต้องการโชว์” ให้เห็นว่าตนเอง และพรรคประชาธิปัตย์จะไม่อาศัยอำนาจรัฐเอาเปรียบคู่แข่ง รวมไปถึงป้องกันข้อครหาต่างที่อาจตามมา รวมไปถึงความต้องการชี้ให้เห็นว่าพวกเขา “เคร่งครัดกฎหมาย” ทำเป็นแบบอย่าง

อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่านี่คือรายการ “สร้างภาพขั้นเทพ” ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถนัดจัดเจนอยู่แล้ว เพราะว่ากฎหมายเลือกตั้งที่เกี่ยวกับข้อห้ามนั้นมันก็ไม่ได้ “หยุมหยิม” จุกจิกมากมายตามที่นักการเมืองพวกนี้พยายามแสดงให้เห็น เพียงแต่ว่ากฎหมายในปัจจุบันต้องการสกัดกั้นนักการเมืองเลวๆไม่ให้เข้ามา แต่ที่ผ่านมาแม้จะเข้มเพียงไหนก็เอาไม่อยู่ ยังมีเจตนาฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา คราวนี้ก็เช่นเดียวกันกฎหมายและข้อห้ามดังกล่าวมันไม่ได้ซับซ้อนมากมายอะไรนัก หากไม่มีเจตนา “เอาเปรียบ” ฝ่ายตรงข้าม

ตัวอย่างก็เคยมีมาแล้วในช่วงการเลือกตั้งซ่อม หลายครั้ง เช่น หากเป็นรัฐมนตรี ต้องหาเสียงในวันหยุดหรือนอกเวลาราชการ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ขู่เข็ญ บังคับ รวมไปถึงห้ามใช้อุปกรณ์ และทรัพย์สินของทางราชการไปใช้หาเสียง เป็นต้น ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้มีกำหนดเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าพิจารณาเหตุการณ์ บรรยากาศรวมไปถึงความเคลื่อนไหวในลักษณะสร้างภาพดังกล่าวข้างต้นมันก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของ “การเมืองสกปรก” ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะอย่างที่รู้กันว่าการเลือกตั้งคราวนี้ “เดิมพันสูง” ต่างฝ่ายต้องการเป็นรัฐบาล กุมอำนาจรัฐ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น