เชียงราย - กลุ่ม “สระบุรีถ่านหิน” เครืออิตัลไทย ยอมล้มแผนนำเข้าลิกไนต์จากเหมืองเมืองก๊ก - พม่า เข้าชายแดน “บ้านม้งเก้าหลัง” ผ่านป่า “แม่ฟ้าหลวง” แล้ว หลังถูกต่อต้านหนัก เล็งเจรจาพม่าใหม่อีกรอบ ขอขนเข้าท่าขี้เหล็ก-แม่สาย หรือส่งลงน้ำโขง ก่อนขนขายจีนแทน
วานนี้( 9 พ.ค.) นายอาณัติ วิทยานุกูล ปลัด จ.เชียงราย ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอนุมัติเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว บริเวณบ้านม้งเก้าหลัง ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารด่านศุลกากรพรมแดนสะพานไทย-พม่า แห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัท สระบุรีถ่านหิน จำกัด เครืออิตัลไทย เข้าร่วม
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับคำขอเปิดจุดชายแดนชั่วคราวของบริษัทสระบุรีถ่านหินฯ ที่ต้องการนำเข้าลิกไนต์จากเหมืองเมืองก๊ก เขตเมืองสาด ท่าขี้เหล็กประเทศพม่า ผ่านชายแดนไทย-พม่า เข้ามาที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านหมู่บ้านม้งเก้าหลัง หลังจากบริษัทได้สัมปทานจากรัฐบาลพม่า เพื่อจะได้นำข้อสรุปแจ้งให้กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และรัฐบาลได้รับทราบ
อย่างไรก็ตาม นายปกรณ์ ร่วมทอง ตัวแทนบริษัทฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า บริษัทฯ ขอยกเลิกและยุติการขออนุญาตนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ผ่านช่องทางหมู่บ้านม้งเก้าหลังแล้ว เนื่องจากถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้าน เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อมลพิษ จากการขนส่งด้วยรถบรรทุกผ่านเส้นทางม้งเก้าหลัง-ดอยแม่สลอง-ถนนพหลโยธิน-เชียงราย-สระบุรี
นายปกรณ์ กล่าวว่า บริษัทฯ เสียดายที่ไม่สามารถนำเข้าถ่านหินทางช่องทางนี้ แม้รัฐบาลพม่ากำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะช่องทางเมืองก๊ก-ม้งเก้าหลังเท่านั้น ขณะที่แหล่งพลังงานถ่านหินในประเทศไทยก็กำลังหมดลง ต้องหาแหล่งพลังงานนอกประเทศมาป้อน และถ่านหินเมืองก๊ก ก็เป็นถ่านหินคุณภาพดีที่สุดหรือประเภทซับบีทูบินิส ซึ่งให้ความร้อนได้ดีที่สุด หากใช้เทคโนโลยี ก็แทบจะไม่ก่อมลพิษไม่ใช่ลิกไนต์ธรรมดาแบบเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามทำความเข้าใจต่อชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือชาวบ้านไม่เชื่อ และตนเชื่อว่าจะมีปัญหาลักษณะนี้กับอีกหลายบริษัทที่ประกอบการในลักษณะเดียวกัน
“หลังจากนี้บริษัท ก็จะหารือกับรัฐบาลพม่าว่า จะนำเข้าช่องทางอื่นได้หรือไม่ โดยมี 2 ทางเลือกคือ ขนจากเมืองก๊ก เข้าทางท่าขี้เหล็ก นำเข้าผ่านสะพานข้ามลำน้ำสาย 2 ต.แม่สาย อ.แม่สาย ไม่ต้องผ่านป่าแม่ฟ้าหลวง หรือขนจากเมืองก๊ก-ท่าขี้เหล็ก-ท่าเรือบ้านโป่ง เหนือสามเหลี่ยมทองคำ ส่งขายจีน แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า พม่าจะอนุมัติหรือไม่”
นายปกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้สัมปทานเหมืองเมืองก๊ก จากรัฐบาลพม่าเป็นระยะเวลา 30 ปีซึ่งการแจ้งยกเลิกการนำเข้าดังกล่าวคงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัมปทานที่ได้ แต่กรณีขอเปลี่ยนสถานที่การขนส่งดังกล่าวอาจจะมีผลต่อระยะเวลาดังกล่าวเช่นกัน
จากนั้นที่ประชุม ได้แจ้งให้บริษัทสระบุรีถ่านหินทำหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวไปยัง สมช.- จังหวัด และด่านศุลกากรแม่สาย ภายใน 1 สัปดาห์ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องไปยัง สมช.ก่อนแล้ว จน สมช.ได้เห็นชอบให้ดำเนินการตามหลักการและเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดดังกล่าว
นายอาณัติ วิทยานุกูล ปลัด จ.เชียงราย กล่าวว่า ผลอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นหลังบริษัทฯ ทำหนังสือถึง 3 หน่วยงานดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในอนาคตหากบริษัทฯ จะดำเนินการใดๆ ขอให้ปรึกษากับพื้นที่ก่อน เพื่อจะได้รู้สภาพ เพราะที่ผ่านมาเป็นการขอไปยัง สมช.และกระทรวงฯโดยตรง เมื่อเรื่องมาถึงพื้นที่จึงเกิดแรงกระเพื่อมอย่างไม่คาดคิด
ทั้งนี้หลังบริษัทฯ แจ้งยุติดังกล่าวก็ให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งไปยังประชาชนและส่วนท้องถิ่นที่เคยออกมาต่อต้านให้ได้รับทราบเพื่อยุติการเคลื่อนไหวต่อไป
นายฤทธิไกร อุดมเวทย์ นายด่านศุลกากรแม่สาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปิดจุดนำเข้า ที่หมู่บ้านม้งเก้าหลัง เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนประเทศ สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อบริษัทยอมยุติการนำเข้าที่จุดดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก
เมื่อปี 2551 บริษัทสระบุรีถ่านหิน ได้สัมปทานจากรัฐบาลพม่า ให้เข้าไปขุดถ่านหินที่เหมืองเมืองก๊ก ห่างจากหมู่บ้านม้งเก้าหลัง เข้าไปในพม่าประมาณ 68 กิโลเมตร เป็นเวลานาน 30 ปี เพื่อขุดถ่านหินมูลค่ากว่า 270,000 ล้านบาทหรือปริมาณสำรองกว่า 110 ตัน โดยรัฐบาลพม่าอนุญาตให้นำออกมาผ่านช่องทางเมืองก๊ก-ม้งเก้าหลังเท่านั้น แต่ไม่ให้ขนผ่านไปทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย ซึ่งห่างออกไปประมาณ 70-80 กิโลเมตร
ตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา บริษัทสระบุรีถ่านหินฯ ได้พยายามชี้แจงว่า จะมีการขนถ่านหินลิกไนต์ผ่านเข้ามาทางถนนม้งเก้าหลัง-สามแยกอีก้อ-ต.ป่าซาง อ.แม่จัน-ถนนพหลโยธินสายเชียงราย-สระบุรี โดยรถบรรทุกจะมีขนาด 6-10 ล้อวันละ 200 คันๆ ละ 15-26 ตัน หรือวันละกว่า 5,200 ตัน หลังจากออกจากชายแดนแล้วมีแผนจะนำไปพักที่ลานเก็บชั่วคราวที่หมู่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ 14 ต.ป่าซาง อ.แม่จัน ใกล้กับถนนพหลโยธิน ห่างจากช่องแม่โจ๊ก บ้านม้งเก้าหลัง ประมาณ 77 กิโลเมตร ก่อนจะขนต่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทฯ ที่ จ.สระบุรี
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้บริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อมไทย จำกัดทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะได้มีการขออนุญาตสร้างถนน 2 สายจากหมู่บ้านม้งเก้าหลัง ไปบรรจบกับถนนสายปกติที่เชื่อมระหว่างม้งเก้าหลัง-เทอดไทย แบ่งเป็น 2 ระยะคือระยะ 4 กิโลเมตร และ 7 กิโลเมตรตามลำดับ
บริษัทฯได้พยายามชี้แจงด้วยว่า การขนส่งก็จะใช้ผ้าใบคลุมรถให้มิดชิดและการขนถ่านที่ลานเปลี่ยนถ่านที่ ต.ป่าซาง ก็จะทำให้รวดเร็ว มีการจำกัดความเร็วของรถบรรทุกไม่ให้เกิน 25 กม. /ชม. ,ตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซ่อมบำรุงผิวจราจรกรณีเกิดความเสียหาย หลีกเลี่ยงการขนส่งช่วงเวลาพักผ่อนของประชาชน จำกัดเสียง หยุดวิ่งรถในเวลาเร่งด่วนคือ 07.00-08.30 น.และ 15.30-17.00 น.ติดป้ายจราจรตามจุดสำคัญ ติดตั้งจุดประสานงาน เป็นต้น
แต่ก็เกิดการต่อต้านจากหลายภาคส่วนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมท้องถิ่นไทย ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกรณีการขนส่งผ่านถนนแคบจากดอยแม่สลองลงมาเพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการมีลานพักที่หมู่บ้านป่าซางเพราะเกรงจะมีมลภาวะ จึงเคยมีการออกมาชุมนุมต่อต้านมาแล้วหลายครั้ง แม้แต่ "ปรียานุช ปานประดับ" อดีตรองนางสาวไทยและมิสเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีบ้านพักอยู่ที่หมู่บ้านป่าซางยังเคยออกมาร่วมต่อต้านด้วย