ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นักการเมืองพวกหนึ่งเผาบ้านเผาเมือง อีกพวกหนึ่งปล่อยให้โจรเผาบ้านเผาเมืองแล้วยังสนับสนุนให้ประกันตัวคนเผาบ้านเผาเมือง
พวกหนึ่งโกงชาติโกงแผ่นดินรวบอำนาจเป็นของคนในครอบครัว อีกพวกหนึ่งก็แบ่งสัมปทานให้พวกพ้องโกงชาติโกงแผ่นดิน
พวกหนึ่งขายชาติยกแผ่นดินไทยให้เป็นของกัมพูชา อีกพวกหนึ่งก็ปล่อยให้กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยและทำร้ายคนไทย
พวกไหนมาเป็นรัฐบาลเข้ามาก็ลุแก่อำนาจจนมีประชาชนต้องออกมาชุมนุมเหมือนกัน
ทำไมคะแนนเสียงของเราต้องลงให้กับคนเหล่านี้มาทำร้ายและทำบาปให้กับประเทศชาติ !?
เพราะระบบที่ล้มเหลว ไม่มีใครเป็นคนดีจริงให้เลือก และทำให้นักการเมืองในระบบที่มีอยู่มีเพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ
1. เป็นคนเลวชั่วช้าโกงบ้านกินเมือง
2. เหมือนเป็นคนดีแต่ร่วมมือและยกมือให้คนเลวปกครองบ้านเมือง (ซึ่งก็เลวเหมือนกัน)
ตัวอย่างที่เป็นจริงและเห็นชัดที่สุด คือ โพลสำรวจออกมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใดมากที่สุด รัฐมนตรีคนนั้นกลับได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด (ทั้งจากนักการเมืองที่ชั่วและนักการเมืองที่ประชาชนคิดว่าดี)
นั่นหมายความว่านักการเมืองที่โกงชาติกินเมืองมากที่สุดก็จะเป็นคนรวยที่สุดที่จะหาเงินมาสนับสนุนพรรคการเมืองจึงควบคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ ดังนั้นคนโกงชาติกินเมืองจึงไม่เคยถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี
เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้าในสภานั้นต่างซื้อเสียงกันอย่างมโหฬารแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถจับทุจริตเลือกตั้งเพียงแค่ไม่กี่คดี ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ปปช.) มีคดีท่วมท้น จนคนที่ถูกจับทุจริตได้มีน้อยมาก นักการเมืองจึงย่ามใจและเหิมเกริมมากขึ้นทุกวัน
ส่วนวาทกรรมที่ในช่วงแรกออกมาว่าไม่เลือกเราเขามาแน่ ดูเหมือนจะเป็นกระสุนด้านในการจะต่อต้านกระแสที่ประชาชนจะไม่เลือกใคร จนในช่วงหลังๆนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ และสื่อมวลชนฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ล่าสุดว่า
“เลือกคนเลวน้อย ดีกว่าเลือกคนเลวมาก”
นี่คือวาทกรรมที่ถือว่าจนมุมแล้วในทางการเมืองว่านักการเมืองเลวทั้งหมด และเป็นวาทกรรมที่มีเจตนาข่มขืนสิทธิ์ของประชาชนให้ไปเลือกตัวเองทั้งๆที่ยอมรับว่าเป็นคนเลว
หลักการที่ถูกต้องในการเลือกตั้งก็คือ
“เลือกคนดีให้มาปกครองบ้านเมือง และป้องกันมิให้คนไม่ดีมีอำนาจ”
ไม่ใช่เลือกคนกลุ่มหนึ่งที่เลวน้อยกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่ว่าเลวมากหรือเลวน้อยก็คือเลวเหมือนกัน เพราะคนเลวต่างไปทำบาปและทำร้ายประเทศชาติเหมือนกัน ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนเหมือนกัน เพียงแต่คนที่เลวเหล่านั้นต่างก็กล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามว่าเลวกว่าพวกตัวเองกันทั้งสิ้น
อุปมาอุปมัยเหมือน มีอาหารอยู่ 2 จาน จานหนึ่งเป็น “ยาพิษ” อีกจานหนึ่งเป็น “เชื้อโรค” บอกว่าประชาธิปไตยต้องเลือกกินเชื้อโรคเพราะเลวน้อยกว่ายาพิษ ผู้ไปใช้สิทธิ์โหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน คือคนประเภทที่ขอเลือกไม่กินจานไหนเลยไม่ว่ายาพิษ หรือ เชื้อโรค แล้วเอาจานไปล้างหรือเปลี่ยนจานใหม่ แล้วไปทำอาหารจานใหม่ที่อร่อย สะอาด และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
นักการเมืองเลวทรามต่ำช้าหากไม่มีความชอบธรรม แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก
ในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ก็ไม่สามารถอยู่ได้เพราะประชาชนก็จะต้องออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่อยู่ดี ดังนั้นการที่ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและกากบาท X ไม่เลือกใครมากๆ จะเป็นแรงกกดดันในการควบคุมพฤติกรรมของนักการเมืองได้อย่างแน่นอน
ถ้ารู้ว่านักการเมืองเลว และระบบการเมืองที่เอื้อแต่นักการเมืองเลวแล้ว การหย่อนบัตรเลือกใครก็คือความพ่ายแพ้ยอมจำนนต่อระบบ ที่จะทำให้หมดโอกาสปฏิรูปการเมือง
เพราะการหย่อนบัตรเลือกใครนั้น แสดงว่าเป็น “คะแนนที่ยอมจำนนต่อระบบที่เป็นอยู่” ผลก็คือคะแนนของเราจะถูกนำไปอ้างจากรัฐบาลในการทำร้ายและทำบาปให้กับประเทศ แต่หากคะแนนของเราอยู่ในเสียงข้างน้อย นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่าเสียงที่แพ้ต้องยอมจำนนให้รัฐบาลทำร้ายประเทศไทยอย่างไรก็ได้ ทำให้เราหมดโอกาสที่จะไปปฏิรูปการเมือง
แต่ถ้าเราไปใช้สิทธิ์ โหวตโน หรือ กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน ก็คือ “การสงวนสิทธิ์คะแนนเสียงของประชาชน” ที่ไม่ยอมจำนนกับระบบ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งแล้วจะไปทำร้ายประเทศชาติก็ถือว่าคะแนนเหล่านั้นไม่ได้มาจากเรา นักการเมืองฝ่ายค้านที่แพ้ในระบบก็ไม่ได้มาจากเราเช่นกัน ดังนั้นเสียงที่ไม่หย่อนบัตรเลือกใครจึงมีคุณค่าตลอดเวลาเพราะยังไม่ให้นักการเมืองฝ่ายไหนเลย เมื่อเป็นเสียงที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบจึงเป็นเสียงที่มีสิทธิ์เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้นคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่กากบาท X ไม่เลือกใคร ได้มากกว่าที่คุณคิด คือ
1.ได้กับคนที่หย่อนบัตรแล้ว โหวตโน หรือ กากบาท ในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ว่า
คะแนนเสียงของเราไม่ถูกนำไปอ้างโดยนักการเมืองเพื่อไปทำร้ายและทำบาปประเทศชาติ
2.คะแนนโหวตโน หรือ ไม่เลือกใคร คือการส่งสัญญาณให้โอกาสนักการเมือง
ต้องยอมให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้คะแนนที่ไม่เลือกใครสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ คะแนนที่ไม่เลือกใครจึงเป็นทั้งแรงกดดันและแรงจูงใจในเวลาเดียวกันในการควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองในระบบที่ล้มเหลว คะแนนเหล่านี้หากมีการรวมตัวกันก็จะเข้าชื่อกันแก้ไขกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศได้ หรือเป็นแรงสนับสนุนให้องค์กรที่ศึกษาเรื่องการปฏิรูปการเมืองสามารถเดินหน้าเปลี่ยนแปลงระบบให้ดีขึ้นได้ และเป็นแรงกดดันให้นักการเมืองต้องปฏิรูปการเมืองได้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการ
ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ระบุไว้ว่า
มาตรา 67 การลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมายไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้ง
และการที่กฎหมายประกอบการเลือกตั้งบัญญัติสิทธิของประชาชนเอาไว้ตามมาตรา 67 ดังนั้น จึงชี้ช่องให้เห็นว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้อง “จำนน” ต่อนักการเมือง แต่ยังมีช่องทาง โหวตโน หรือการกาช่องไม่เลือกใคร เป็น “สิทธิอันชอบธรรมของประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนั้นมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ว่า บุคคล “มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิหรือไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่ไปใช้สิทธิได้ย่อมได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด
เพื่อรักษาสิทธิ์ของเราอย่ายอมจำนนกับนักการเมือง ทุกคนต้องออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง! แต่กากบาท X ลงในช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร (Vote No) แล้วใช้พลังนี้มาร่วมกันปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้างระบบที่ดีกว่านี้เพื่อเอาคนดีมาทำงานให้ชาติบ้านเมือง