xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯย้ำยุบสภาสัปดาห์นี้ศาลรธน.วินิจฉัยกม.ลูก9พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"มาร์ค" ย้ำชัดยุบสภาสัปดาห์นี้ ตามกรอบเวลาเดิม ยันไม่ก้าวล่วงกฎหมายลูก 3 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรธน. 9 พ.ค.นี้ "ชัย" ห่วงเกิดสูญญากาศทางรัฐสภา หากยุบสภาโดยที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ประธานวุฒิสภา "บรรหาร" เสนอให้เลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากในหลวงประชวร

เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงความชัดเจนในเรื่องการขึ้นทูลเกล้าฯ กำหนดวันยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยังสามารถที่จะดำเนินการได้อยู่ และหากมีการโปรดเกล้าฯ ยุบสภาลงมา ตนก็จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เอาเป็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่กระทบกับสิ่งที่ได้พูดไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง ในวันที่ 9 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ เพราะเป็นข้อกำหนดภายในของศาล ก็จะไม่ก้าวล่วงตรงนั้น เมื่อถามย้ำว่า ภายในวันที่ 6 พ.ค. จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศยุบสภาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พูดไว้อย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น

เมื่อถามต่อว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า สามารถเลื่อนระยะเวลาในการยุบสภาออกไปได้อีก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนก็พูดอย่างนี้ว่า ที่เคยพูดไว้ก็ปฏิบัติตามที่พูด เมื่อถามว่าดูบรรยากาศในตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนก็เห็นวันนั้นที่พรรคการเมืองไปร่วมประชุมกับทางกกต. ก็ค่อนข้างที่จะดี ในแง่ของการแสดงออก หลายเรื่องที่มองตรงกัน และหากพรรคการเมืองมองไปที่การเลือกตั้ง สันติและเป็นธรรม ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งสมกับเจตนารมณ์ที่เราจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น โดยไม่รอให้สภาครบวาระ

เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มขณะลงไปปฏิบัติหน้าที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็มีอยู่บ้าง ตนคิดว่าหากมีพระราชกฤษฎีกาแล้ว ก็น่าจะระมัดระวังกันมากขึ้น ส่วนความรับผิดชอบของพรรคการเมืองก็ต้องอยู่กับข้อเท็จจริง และกกต.คงมีความชัดเจนว่า หากมีการไปขัดขวางการรณรงค์อะไรต่างๆ ก็ผิดกฎหมายเลือกตั้งอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ทางกลุ่มมวลชนอาจอ้างว่า การเคลื่อนไหวแยกออกจากพรรคการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะแยกไม่แยกก็ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่การไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ไม่ได้พ้นจากความผิด เพราะการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมือง ใครทำผิดก็ได้รับโทษตามกฎหมายทั้งนั้น

เมื่อถามว่ามีการประเมินว่า สองพรรคใหญ่จะมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เอาว่าเข้มข้น แต่อย่าให้รุนแรง ซึ่งตนคิดว่าจะดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงในการเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะเป็นสังคมประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าเราอยากเป็นสังคมประชาธิปไตยก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย การแข่งขันจะมีความเข้มข้นอย่างไร ก็ต้องอยู่ในกรอบ

ส่วนที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาระบุว่า ควรที่จะเลื่อนวันยุบสภาออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์นั้น ตนยังไม่ทราบ ส่วนจะรับไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ตนก็ยังไม่ทราบ ซึ่งตนจะขอไปฟังก่อนว่าท่านแนะนำมาอย่างไร แต่ที่ตนพูดไว้นั้น สามารถปฏิบัติได้ เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับทาง กกต.ถึงปฏิทินในวันเลือกตั้งที่ได้กำหนดไว้ในวันที่ 26 มิ.ย. หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกับทางกกต.เลย เมื่อถามว่าร่างกฤษฎีกาที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้ง และหากมีการนำเสนอในสัปดาห์นี้ วันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วจะเรียนให้ทราบ

"ชัย"หวั่นเกิดสูญญากาศทางรัฐสภา

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการยุบสภา ว่า ตามหลักกฎหมาย คงทำอะไรไม่ได้ เหมือนเป็นสูญญากาศทางรัฐสภา เพราะรองประธานวุฒิสภารักษาการ ก็ไม่มีอำนาจ และไม่สามารถทำให้ที่ประชุมสภาพิจารณากฎหมายได้ จะประชุมได้เพียงตาม มาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งว่าด้วยการแต่งตั้งรัชทายาท หรือทำสงครามเท่านั้น

ส่วนจะส่งผลต่อการเลื่อนวันยุบสภาออกไปหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้ เพราะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อสถานการณ์บ้านเมือง เพราะสถานการณ์เช่นนี้คงเกิดขึ้นประมาณ 5-10 วัน เท่านั้น และมีฝ่ายบริหารรักษาการ ทำหน้าที่อยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้ความเห็นว่า การยุบสภาน่าจะเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้านั้น นายชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า ให้ไปถามนายเนวิน เอง
สำหรับการประชุมสภาฯ ที่คาดว่าจะเป็นนัดสุดท้ายในวันนี้ (4 พ.ค.) ว่า ตนอยากให้ ส.ส.มีจิตสำนึกที่ดีเพื่อเข้าร่วมประชุม และร่วมพิจารณากฎหมายที่เหลือได้ แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึก คงไม่ไปละลาบละล้วงได้ ก็ปล่อยเขาไป ทั้งนี้หากยังไม่ยุบสภา ก็อาจจะนัดให้มีการประชุม ส.ส.ต่อไปอีกให้สมกับภาษีที่ประชาชนเสียให้ ส่วน ส.ส.ที่โดดประชุมบ่อย ก็คงพูดอะไรไม่ได้ ตนเหนื่อยที่จะพูด เพราะพูดมาแล้วหลายครั้ง

"เทือก"ยังห่วงเรื่องกม.ลูก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงปัญหาระหว่างการยุบสภา ที่ต้องรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานวุฒิสภา หากยุบสภาไปแล้วไม่มีประธานสภาฯ จะมีปัญหาหรือไม่ ว่า ไม่คิดว่าจะมีปัญหา ขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานวุฒิสภา ก็คงดำเนินการไปได้ ซึ่งก็คงทำได้ไม่นานหลังจากนี้ และถ้ามีเหตุการณ์อะไร วุฒิสภาก็ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ช่องว่างตรงนี้ไม่เป็นปัญหา ทำให้การยุบสภาต้องเลื่อนออกไป ไม่เกี่ยวกัน เรื่องการโปรดเกล้าฯประธานวุฒิสภา กับการยุบสภา เป็นคนละเรื่องกัน

เมื่อถามว่า มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้การยุบสภาเลื่อนออกไป นายสุเทพ อึ้งไปเล็กน้อยก่อนตอบว่า ตอบยาก คือว่า วันนี้ก็ลุ้นกันอยู่ เรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่อยู่ระหว่างการพิจาณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีส่วนใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในส่วนของพวกตนเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดเราไม่ใช่ศาล ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สิ่งที่จะเป็นไปได้คือ เราก็ดำเนินกระบวนการในการยุบสภา แล้วคาดหวังว่าในระหว่างที่ดำเนินการตามขั้นตอนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะได้มีคำวินิจฉัยออกมาได้ทัน แล้วก็สามารถประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ทันเวลากับวันยุบสภา เพื่อที่จะได้ใช้เป็นเครื่องมือของกกต. ในการเลือกตั้งได้ มันก็มีประเด็นจังหวะเวลานิดหน่อย ที่อาจขยับเขยื้อนได้นิดหน่อย

หากต้องเลื่อนยุบสภาก็ไม่เป็นปัญหา

เมื่อถามย้ำว่า สรุปว่าไม่แน่ว่าการยุบสภาในสัปดาห์นี้ อาจจะเลื่อนออกไปสัปดาห์หน้า ถ้าต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ กล่าวว่า กระบวนการอาจจะเดินไปได้ เมื่อถามว่าการยุบสภาจะเลื่อนออกไปจากกรอบเดิมที่กำหนดไว้สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. นายสุเทพ กล่าวว่า ผมยังไม่ได้คุยกับนายกฯ แต่เชื่อว่าท่านนายกฯ คงดูประเด็นข้อกฎหมายทั้งหลาย ว่าสามารถทำอะไรก่อนหลัง หรือทำให้พร้อมกันได้อย่างไร คือน่าเสียดาย ถ้าเกิดว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ กกต.เขาต้องการประกาศใช้ ไม่ทันกับการเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในเรื่องการเลือกตั้ง กกต. ต้องไปใช้ประกาศของ กกต. ซึ่งกกต.ก็ไม่ค่อยสบายใจ ตรงนี้เป็นเรื่องที่นายกฯ จะต้องประเมินว่า วัน เวลา จะเป็นอย่างไรกัน แต่ว่าเป้าหมายของนายกฯ ยังเหมือนเดิมคือยุบสภา ซึ่งกกต.ทั้งคณะก็ยังไม่ได้เสนอแนะอะไรมา หากกฎหมายลูกออกมาไม่ทัน อาจมีความเห็นมาบ้างก็เฉพาะกกต.เพียงท่านเดียว

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าควรต้องรอความชัดเจนของกฎหมายลูกก่อนหรือไม่ นายุสเทพ กล่าวว่า "สำหรับตัวผม เวลาอาจจะต่างกันวัน สองวัน ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะขอให้ทุกอย่างมันเรียบร้อย สมบูรณ์ ก็ทนได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ที่ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนทั้ง กกต. รัฐบาล และประธานสภา กุมความลับอะไรกันไว้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้กุมอะไร อย่าไประแวง อย่าไปกังวลใจ มันเป็นเรื่องที่เขาจะต้องทำตามภาระหน้าที่ของแต่ละฝ่าย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีขั้นตอนในการพิจารณาของศาลว่าส่งเรื่องไปแล้ว ไม่ใช่ต้องพิจารณาทันที ต้องถามความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฟังดูเหมือนว่าวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เมื่อถามว่า แสดงว่าวันยุบสภาเลื่อนไปเป็นสัปดาห์ที่สองของเดือนนี้ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้พูดอย่างนั้น เมื่อคืนก็มีใครไม่รู้ เป็นคนถามนายกฯตอนที่จะเลิกประชุมครม. ตกลงเมื่อไหร่ นายกฯบอกว่ารอฟังวิทยุก็แล้วกัน ตนนั่งอยู่ข้าง ๆ ก็เลยไม่ต้องถามอะไร

เมื่อถามว่า ท่านมองว่าการยุบสภาจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าให้ตนคาดเลย มันจะถูกบ้างผิดบ้าง แล้วจะทำให้คนสับสน แต่ถ้าถามว่าเมื่อกฎหมายเลือกตั้งที่ กกต.ต้องการมาใช้เพื่อดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มันผ่านกระบวนการมาทั้งหมดแล้ว เหลือแค่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือสมมติวินิจฉัยวันที่ 9 พ.ค. นี้ ตอนเย็นก็นำขึ้นทูลเกล้าฯได้ วันที่ 10 พ.ค. ก็ประกาศได้ ซึ่งพอประกาศใช้ มีสภาพเป็นกฎหมาย ถ้ายุบสภาในช่วงนั้น มันก็เป็นได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกฯก็ดำเนินการไป และมีการยุบสภาวันนั้นทันที มันก็อาจจะเป็นไปได้เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเลื่อนวันยุบสภาออกไป จะกระทบทำให้สถานการณ์การเมืองอึมครึม ตามมาหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่าไม่มีสถานการณ์อะไรจะอึมครึมแล้ว วันนี้เขาชัดเจนกันทั้งประเทศว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน เพียงแต่ว่านายกฯจะเสนอเรื่องไปวันที่เท่าไหร่เท่านั้นเอง

"บรรหาร"อยากให้เลื่อนออกไปก่อน

ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา แพทย์ได้ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นตนคิดว่าถ้าไปเสนอเรื่องโปรดเกล้าฯยุบสภา ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ในความเห็นของตนถ้าจำเป็นต้องเลื่อน ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ไม่ใช่เรื่องของการเสียคำพูด แต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่จำเป็นต้องเลื่อน และการที่เลขาธิการสำนักพระราชวัง จะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องดูด้วยว่า พระองค์ประชวรอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าทรงประชวรอยู่ แล้วเสนอขึ้นไป ก็ไม่ดี ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะเลื่อนมากกว่า ส่วนจะเลื่อนไปเมื่อไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พรรคการเมืองก็ไม่มีปัญหา จะเลื่อนไป 7 วันก็ไม่น่ามีปัญหา

เมื่อถามว่า ควรจะรอกฎหมายเลือกตั้ง 3 ฉบับประกาศใช้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกมาบอกแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่พิจารณาจะทำอย่างไร เมื่อถามว่าทางกกต.อยากให้ใช้กฎหมายเลือกตั้งมากกว่าระเบียบกกต. นายบรรหาร กล่าวว่า ถ้าจะใช้กฎหมายเลือกตั้งก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาในวันที่ 9 พ.ค. เมื่อถามย้ำว่า ควรจะรอกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง แต่พูดเรื่องพระองค์ท่านที่แพทย์ถวายการผ่าตัดว่า อย่าไปรบกวนเบื้องยุคลบาท เท่านั้นเอง ส่วนจะเลื่อนไปกี่วันก็แล้วแต่

ศาลรธน.ยันต้องชี้กม.ลูกโดยเร็ว

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 จะใช้เวลาในการวินิจฉัยเสร็จเมื่อใดว่า เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้เร็วที่สุด และดีที่สุด อย่ารีบร้อนจนเกินไป แต่ก็ไม่ควรล่าช้าจนเกินไป ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ ที่ส่งเข้ามาวินิจฉัยนั้นมีความถูกต้อง และพิจารณาโดยเร็วที่สุดตามกรอบเวลา 30 วัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งขณะนี้ศาลก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นมายังศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 6 พ.ค.นี้ และจะนัดประชุมในครั้งต่อไป ในวันที่ 9 พ.ค. ตามเดิมที่กำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ศาลจะสามารถวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวได้เสร็จหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ไม่ควรเป็นเรื่องที่ผลีผลาม แต่ก็ควรทำให้เสร็จโดยเร็ว เมื่อถามว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ก่อนหน้านี้ อาจจะกระทบต่อการยุบสภาของรัฐบาลได้ นายจรัญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะไปพิจารณาว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน และก็ควรต้องปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของศาล ในการวินิจฉัยด้วย ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่าไม่มีใครมากดดันศาลจนทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้ก่อนหน้านี้

หลังยุบสภา ไม่เรียกรัฐบาลรักษาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้าย นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำเสนอสรุปผล และแนวทางปฎิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้กำหนดเป็นแนวทางปฎิบัติ และแจ้งให้หน่วยงานต่างๆทราบและถือปฎิบัติต่อไป โดยระบุว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 รวมทั้งระเบียบและแนวทางปฎิบัติของคณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาหลายประการ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญ ประกอบพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ประมวลสรุปผลและแนวทางปฎิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญดังนี้ คือ 1. ในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจใน คือ 1) เรื่อง เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า จะคิดถึงวันก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎร 1 วัน 2) วุฒิสภาไม่สิ้นสุด แต่ประชุมไม่ได้ (รับเงินเดือนได้) เว้นแต่ประชุมเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง-ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่ง 3) ร่างพระราชบัญญัติที่ทั้ง 2 สภา เห็นชอบแล้ว และส่งให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักราชเลขาธิการหรือพระมหากษัตริย์ไม่ตกไป ดำเนินการต่อได้

ส่วนแนวทางปฎิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในส่วนของสถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี นั้น มีประเด็นที่สำคัญ ระบุว่า 1) คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ) ได้เงินเดือน ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน 2) คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตราการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศอัยการศึก เป็นต้น 3) การลงชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง 4) รัฐมนตรีจะลาออกหรือปรับรัฐมนตรีออกก็กระทำได้ แต่ไม่ควรแต่งตั้งแทน

ในขณะที่การปฎิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ระบุว่า ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดเฉพาะระเบียบวาระที่เป็นไปตามระเบียบปฎิบัติ ส่วนเรื่องใดที่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นอกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งแล้ว คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีควรมีมติหรือมีคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

และประเด็นสำคัญ คือ การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้พ้นจากตำแหน่ง (รธน.มาตรา 181(1) และแนวปฎิบัติ กกต.) ระบุว่า (1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฎิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเลือกตั้งก่อน (2) การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฎิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฎิบัติหน้าที่แทน จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น