เลขา ครม.แจงยิบกฎเหล็กหลังยุบสภา เหตุระเบียบแนวทาง กกต.ต่างจากอดีต ระบุ หลังยุบสภาไม่เรียกรัฐบาลรักษาการ แต่ ครม.มีสิทธิได้รับเงินเดือนตามปกติ และจัดประชุมได้ตามปกติ ให้อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉิน กฎอัยการศึก หากสถานการณ์กระทบความมั่นคงชาติ แต่ไม่สามารถใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำได้ นอกจากต้องขออนุมัติ กกต.ก่อน ส่วน ส.ส.กินแห้ว
วันนี้ (4 พ.ค.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้าย นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำเสนอสรุปผลและแนวทางปฎิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ และแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ทราบและถือปฏิบัติต่อไป โดยระบุว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นว่า โดยที่ปัจจุบันมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 รวมทั้งระเบียบและแนวทางปฎิบัติของคณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดเงื่อนไขการปฎิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการยุบสภา ผู้แทนราษฎรแตกต่างไปจากอดีตทีผ่านมาหลายประการ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามมาตรา 181(3) ของรัฐธรรมนูญ ประกอบพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ ประมวลสรุปผลและแนวทางปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญดังนี้ คือ 1.ในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจใน คือ 1) เรื่อง เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า จะคิดถึงวันก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎร 1 วัน 2) วุฒิสภาไม่สิ้นสุด แต่ประชุมไม่ได้ (รับเงินเดือนได้) เว้นแต่ประชุมเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง-ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่ง 3.ร่างพระราชบัญญัติที่ทั้ง 2 สภา เห็นชอบแล้ว และส่งให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักราชเลขาธิการหรือพระมหากษัตริย์ไม่ตกไป ดำเนินการต่อได้
ส่วนแนวทางปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในส่วนของสถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี นั้น มีประเด็นที่สำคัญ ระบุว่า 1) คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ) ได้เงินเดือน ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน 2) คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตราการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศอัยการศึก เป็นต้น 3) การลงชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม
มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง 4) รัฐมนตรีจะลาออกหรือปรับรัฐมนตรีออกก็กระทำได้แต่ไม่ควรแต่งตั้งแทน
ในขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ระบุว่า ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไปได้ตามปกติ จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดเฉพาะระเบียบวาระที่เป็นไปตามระเบียบปฎิบัติ ส่วนเรื่องใดที่มีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นอกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งแล้ว คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีควรมีมติหรือมีคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
และประเด็นสำคัญ คือ การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้พ้นจากตำแหน่ง (รธน.มาตรา 181(1) และแนวปฏิบัติ กกต.) ระบุว่า (1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฎิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเลือกตั้งก่อน (2) การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฎิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน