xs
xsm
sm
md
lg

กฎเหล็กเลือกตั้ง ห้ามอิงสถาบันฯ ปชป.-พท.หนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน- 2 พรรคใหญ่ ปชป.-พท. อยากให้ กกต.กำหนดเรื่องการนำสถาบันฯ มาหาเสียง เป็นข้อห้าม ส่วนชาติไทยพัฒนา คัดค้านไม่อยากให้เป็นข้อห้าม เกรงเป็นกฎเหล็กที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ด้านภูมิใจไทย อยากให้กกต.ออกให้ชัดเจนกว่านี้ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ หลังหารือเสร็จมีการลงนามพันธะสัญญาความร่วมมือในการเลือกตั้ง "มาร์ค" ชี้เป็นอำนาจ กกต. ออกระเบียบห้ามพรรคการเมืองใช้สถาบันฯ หาเสียง ด้านกกต. ของบเลือกตั้ง 3,800 ล้าน

วานนี้ (2 พ.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต มีการประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองจำนวน 56 พรรคเข้าร่วมประชุม โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมชาติพัฒนา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐพงษ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ประธาน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ที่ปรึกษาพรรคประชาสันติ เป็นต้น

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กล่าวตอนหนึ่งว่า ในการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากว่านายกรัฐมนตรีจะมีการยุบสภาอย่างแน่นอน ดังนั้น กกต.ก็ต้องมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง จึงทำให้ กกต.ต้องจัดงานครั้งนี้เพื่อรับความความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ว่ามีความคิดเห็นกันอย่างไร เพื่อนำมาเป็นกรอบกติกา กฎเกณฑ์ในการใช้กับการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้ของความเสมอภาค

นายอภิชาต กล่าวว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่คำคัญมากของระบบรัฐสภาไทย เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐสภาและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องผ่านระบบการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกใครแล้ว ก็ขอให้ยอมรับกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งแม้ว่าทุกพรรคการเมืองจะมีความมุ่งหวังที่จะชนะเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มุ่งหวังเช่นเดียวกัน ก็ขอให้แข่งขันกันโดยปราศจากความรุนแรงใน และพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือให้พรรคการเมือง และผู้สมัครช่วยกันทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับประชาชน เรื่องของประชาธิปไตยที่ถูกต้องกับประชาชนในวิถีทางประชาธิปไตย

** อยากให้นักการเมืองสมานฉันท์

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายไม่มีความขัดแย้ง เพราะทุกคนไม่ต้องการที่จะให้มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ดังนั้น การจับมือของพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หากมีความแตกแยกหรือขัดแย้งเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจเกิดขึ้นได้ และกกต.เองก็ไม่ต้องการที่จะหมดอาชีพนี้ไปด้วย ดังนั้นทุกคนจะต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์ไม่ให้การเมืองสะดุดลง แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์บางเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะทำยาก ก็อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะต้องไม่เกิดการแตกแยก

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า เรื่องที่จะให้พรรคการเมืองลงสัตยาบัน เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสมานฉันท์นั้น จะมีการหารือกันว่า จะทำร่วมกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในระหว่างการหาเสียง และให้มีการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีมวลชนมาปิดล้อม

เมื่อถามว่า การที่นำข้อบังคับเรื่องการนำสถาบันฯ มาใช้ในการหาเสียงไปไว้ในหมวดข้อควรปฏิบัติแทนข้อห้าม นายประพันธ์ กล่าวว่า ข้อบังคับดังกล่าวได้ผ่านมติของกกต.แล้ว แต่คงต้องนำเรื่องนี้มาหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองอีกครั้ง และจะรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนพรรคการเมือง

**คาดเลือกตั้ง 26 มิ.ย.หรือ 3 ก.ค.

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า การเตรียมการเลือกตั้งของ กกต. ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้ง หากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่ 6 พ.ค. ทาง กกต. ก็จะมีห้วงเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 2 วัน คือ 26 มิ.ย. และ 3 ก.ค. แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูวันยุบสภาที่แน่นอนก่อน

** ปชป.-พท.หนุนห้ามนำสถาบันฯหาเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประชุมผู้บริหารพรรคการเมืองที่กกต.จัดขึ้นครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขอหารือถึงประเด็นเรื่องของระเบียบของกกต. กรณีการนำสถาบันฯ มาใช้ในการหาเสียงนั้น เห็นควรว่าน่าจะไปอยู่ในส่วนของข้อห้าม มากกว่าข้อควรปฏิบัติ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มติของพรรคเพื่อไทย ก็เห็นควรให้กกต.ระบุไว้ในข้อห้ามว่าไม่ควรนำสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องกับทุกประเด็น และขอให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะมีการนำกรณีดังกล่าวไปขยายความ หากมีคนเลือกพรรคที่ไม่เชิดชูสถาบันฯ

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ก็เห็นด้วยในแนวทางข้อควรปฏิบัติ แต่ได้เสนอให้กกต.ระบุให้ชัดเจนว่าสิ่งไหนทำได้เพียงใด ไม่ควรคลุมเครือ ส่วนพรรคเล็ก ก็เห็นด้วยเช่นกันที่กกต.ควรที่จะกำหนดไว้

อย่างไรก็ตามนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอความคิดเห็นในเรื่องของโทษว่า หากใครทำผิด ก็ให้เป็นความผิดของบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองจนถึงขั้นยุบพรรค เพราะไม่เช่นนั้น กรณีดังกล่าวก็เข้าข่ายมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ

**ชทพ.ค้านไม่ควรอยู่ในข้อห้าม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงที่กกต.จะให้แต่ละพรรคลงนามนั้น นายอภิชาต ก็ได้สรุปสาระสำคัญในเรื่องของสถาบันฯ ว่าในที่ประชุมวันนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยจะให้อยู่ในส่วนของข้อห้ามนั้น ทำให้นายชุมพล ได้ขอคัดค้าน และต้องขอ กกต.ว่า ทางพรรคยังไม่เห็นด้วยที่จะให้นำไปอยู่ในส่วนของข้อห้าม ถ้าอยู่ในส่วนของข้อห้ามต้องชัดเจน เพราะถ้าไม่ระบุก็จะเกิดปัญหา เนื่องจากเป็นเรื่องของโทษหากให้กกต.พิจารณาเองก็จะไม่เป็นธรรมได้ ขอให้กกต.ช่วยทบทวนว่าถ้าอยู่ในส่วนของข้อควรปฏิบัติก็ยังรับได้แต่ขอความชัดเจน

ทำให้นายประพันธ์ ระบุ ว่า เรื่องดังกล่าวนี้กกต.ยังไม่สรุป แต่จะขอนำเข้าที่ประชุมกกต.พิจารณากันอีกครั้ง ว่าจะอยู่ในส่วนใด และต้องมีการปรับปรุงอะไรอีกบ้างก่อนที่จะออกมาเป็นประกาศ

** ชทพ.นำทีมไม่ลงนามพันธะสัญญา

ภายหลังจากที่พรรคต่างได้แสดงความคิดเห็นแล้ว นางสดศรี ได้ขอให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ร่วมกันลงนามในพันธะสัญญาของพรรคการเมือง ว่าด้วยความร่วมมือในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2554 ซึ่งอยู่ 5 ข้อประกอบด้วย ข้อ 1. มิบังควรนำสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเกี่ยวของกับการหาเสียงในการเลือกตั้ง ข้อ 2.จะปฏฺบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ อันเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ข้อ 3.จะไม่ใช้กลไกของรัฐ หรือทรัพยากรของรัฐ มาเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 4 จะหาเสียงเลือกตั้งโดยสันติวิธี ไม่ข่มขู่ คุกคาม คู่แข่งขันด้วยวิธีการใดๆ และไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการหารเสียงเลือกตั้ง และข้อ 5 จะยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งอย่างจริงใจ

ซึ่งในส่วนนี้กกต.ได้ทำตราสัญญาลักษณ์ของแต่ละพรรค จำนวน 56 พรรคการเมือง พร้อมกับเว้นช่องลงชื่อ...... ( ให้ตัวแทนพรรคการเมือง ) ลงบนกระดานบอร์ดขนาดใหญ่ ซึ่งก็มีตัวแทนพรรคการเมืองมาลงนามจำนวน 42 พรรค จาก 56 พรรค

สำหรับพรรคที่ไม่ได้ลงนามพันธะสัญญาในครั้งนี้ มีจำนวน 14 พรรค อาทิ พรรคมาตุภูมิ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคขัตติยะธรรม พรรคการเมืองใหม่ พรรคสยาม พรรคเกษตรกรไทย พรรคอาริยธรรม พรรคไทยเข็มแข็ง พรรคไทยเพื่อไทย พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคประชาราช

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกระเบียบพรรคการเมือง ห้ามนำเรื่องสถาบันฯมาใช้ในการหาเสียง ว่า เป็นอำนาจของกกต. ในการที่จะไปพิจารณา แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ก็ได้ให้ความเห็นกับกกต.ไปแล้ว แต่เป็นอำนาจกกต. ที่จะออกระเบียบต่างๆ ถือว่าวันนี้เป็นเรื่องที่ดี ในการแสดงเจตนารมณ์ชัดแจ้งในการที่จะทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และเหนือเรื่องการเมือง

** กกต.ขอ3,800 ล้านจัดเลือกตั้ง

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.จะเสนอของบประมาณ ที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ต่อที่ประชุมครม. ครม.ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ โดยกกต.เสนองบให้ครม.พิจารณาจำนวน 3,817 ล้านบาท โดยมีการขอเพิ่มในส่วนของค่าพาหนะที่ปรับจาก 50 บาท เป็น 100 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งจะมีความชัดเจนในวันพุธที่ 4 พ.ค.นี้

** กกต.คาดรับสมัครวันแรก11-12 พ.ค.

รายงานข่าวจาก สำนักงานกกต. เปิดเผยว่า ขณะนี้ด้านบริหารจัดการการเลือกตั้งได้จัดทำแผนงานการเลือกตั้งแบบคร่าวๆ เสร็จสิ้นแล้ว โดยเหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติของกกต. ซึ่งทั้งนี้ต้องรอการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเสียก่อน โดยแต่เดิมนั้นการรับสมัครจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน นับจากวันยุบสภา แต่ในครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 3-4 วัน ภายหลังจากยุบสภาเท่านั้น

ทั้งนี้คาดว่าวันสมัครรับเลือกตั้งวันแรก น่าจะเป็นวันที่ 11 พ.ค. หรือ 12 พ.ค. โดยจะรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อก่อน และใช้เวลา 5 วัน จากนั้นจึงจะเป็นการรับสมัครส.ส. แบบแบ่งเขต ซึ่งใช้เวลา 5 วันเช่นกัน

ส่วนการลงคะแนนล่วงหน้านั้นจะมีขึ้นก่อนวันเลือกตั้งจริง 1 สัปดาห์ และจะปรับลดให้เหลือเพียงวันเดียว ตามที่มีการแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น