ศุกร์นี้จะเข้าสู่วันที่ 8 นับแต่เกิดการสู้รบตลอดแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ด้านจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยกองกำลังฝ่ายกัมพูชาที่นำโดย พลโทฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา ลูกชายคนโตของฮุนเซน ก่อนหน้านี้ได้ประกาศเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังพล พร้อมเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าร่วมการสู้รบอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บรรยากาศการสู้รบตลอดช่วงท้ายสัปดาห์ตั้งแต่เช้ามืดวันพุธถึงเช้าวันพฤหัสบดี คุกรุ่น เขม็งเกรียว และดุเดือดมากเป็นกรณีพิเศษ จนแนวรบถูกขยายมากระทบยังศูนย์อพยพหลายจุดที่มีพลเรือนไทยอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
ต้องยอมรับว่าสภาพที่ปรากฏ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจความหมายของ “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” แต่ไม่นึกไม่ฝันว่า สภาพเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้บนพื้นแผ่นดินไทย!!!
จนถึงเวลานี้ (ขณะที่ผู้เขียนกำลังนั่งพิมพ์ต้นฉบับ) ยังมีข่าวตลอดช่วงว่า การเจรจายุติการหยุดอาจจะเกิดขึ้นภายในวันพฤหัสบดี ซึ่งถ้าโชคดีวันศุกร์นี้ควันปืนจากการต่อสู้ก็คงเบาบางพอให้พี่น้องไทยกว่า 3 หมื่น และทหารไทยจำนวนมากตามแนวชายแดนได้พักหายใจในช่วงสุดสัปดาห์
มีผู้พยายามจะประเมินถึงแรงจูงใจที่ทำให้กัมพูชาหวนกลับเข้าสู่สนามรบในช่วงที่กำลังจะมีการประชุมมรดกโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า บ้างก็ว่าเพราะฮุนเซนไม่พอใจ ผลการประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซียที่กองทัพไทยไม่ยินยอมเข้าร่วมการประชุมวาระพิเศษด้วย
บ้างก็ว่า ไม่พอใจเรื่องที่สุดท้าย บันทึกเจบีซียังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเสียที
บ้างก็ว่าเป็นเดิมพันที่ ฮุน มาเนต ต้องการใช้เพื่อแลกกับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “พลเอก” โดยเร็ว แม้ที่ผ่านมาไม่นาน เขาจะเพิ่งได้รับการอวยยศขึ้นเป็น “พลโท” เพื่อตอบแทนการกรำศึกที่พระวิหารเมื่อต้นปี จนได้รับคำชมเชยจากผู้พ่อ
และบ้างก็ว่า สถานการณ์ที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้สร้างขึ้นครั้งนี้ ยังจะช่วยสั่งสมบารมีให้นายพลหน้าละอ่อนวัย 33 ปี ให้เดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อได้อย่างสมภาคภูมิ เป็นที่ยอมรับในช่วงจังหวะเดียวกับที่ฮุนเซน กำลังถูกจับตามองเรื่องปัญหาสุขภาพ และต้องการผู้สืบทอดอำนาจการเมือง
แต่คราวนี้ทำไมต้องสมรภูมิที่ปราสาทตาเมือน และตาควาย แน่นอนเพราะจุดนี้ถือเป็นหนึ่งในหลายจุดที่เคยถูกทักท้วงว่า จะกลายเป็นชนวนปัญหาสำคัญ ที่สองประเทศอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน หลังการลงนามข้อตกลงเจ้าปัญหา MOU 2543
กรณีของปราสาทตาเมือนนั้น เดิมกรมศิลปากรได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของไทยไว้แล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 หรือเมื่อ 76 ปีที่แล้ว พร้อมได้เข้าบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงปีพุทธศักราช 2537-2544 โดยวางแผนการบูรณะให้แล้วเสร็จในปี 2546 แต่ปรากฏว่าในปี 2544 ได้มีการชะลอการบูรณะเอาไว้ เพราะไม่ได้รับงบประมาณต่อจึงต้องทิ้งช่วง ระหว่างนั้นยังได้มีการอ้างมติคณะรัฐมนตรีให้กรมศิลปากรชะลอการบูรณะ เนื่องจากเห็นว่าปราสาทดังกล่าวอยู่ใกล้กับเขตชายแดน อาจจะมีปัญหาตามมา จึงต้องรอการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ (ก่อนปี 2543) ระหว่างการบูรณะไม่เคยมีปัญหาการขอคืนโบราณดังกล่าวจากกัมพูชา มีทหารไทยและตำรวจตระเวนชายแดนคอยดูแล ส่วนทหารกัมพูชาไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว
ทำให้มีข้อข้องใจว่า นี่อาจจะเป็นหนึ่งอิทธิฤทธิ์อันเกิดขึ้นจากการที่ข้อตกลงมีการลงนามไว้สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จนกลายเป็นบันทึกข้อตกลงอันตราย ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ในนาม MOU 2543 นั่นเอง
หลังจากนั้น ในปี 2544 ระหว่างการเจรจาของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อเดือนพฤศจิกายน กัมพูชาก็หยิบยกเรื่องปราสาทตาเมือนธมขึ้นมาหารือกับไทย โดยอ้างว่า ปราสาทดังกล่าวอยู่ในดินแดนกัมพูชา เนื่องจากในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนั้นยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเขตแดน ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างกัน หากพื้นที่ใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าอยู่ในความครอบครองของประเทศใด ทั้งสองฝ่ายต้องไม่ดำเนินการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าว
ขณะที่ในเดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช 2551 กำลังทหารกัมพูชา 50 นายพร้อมอาวุธครบมือนำโดย พลตรีโปเฮง รองผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 41 ของกัมพูชาเคยพยายามจะรุกล้ำเข้ามาในพื้นตัวปราสาทแต่ไม่ได้รับอนุญาตจาก พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีในขณะนั้น “เพราะเกรงจะเกิดกรณีซ้ำรอยกับปราสาทพระวิหารที่ฝ่ายกัมพูชาเข้ามายึดครองพื้นที่โดยไม่ยอมถอยออกไป”1
ในปี 2551 ปีเดียวกัน ยังพบความเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยชาวบ้านพบมีถังน้ำมันสีแดงขนาด 200 ลิตร คว่ำครอบหลักท่อเหล็กเทปูนซีเมนต์ข้างใน และทาด้วยสีแดงเอาไว้ พร้อมทั้งมีลวดหนามล้อมอย่างมิดชิด ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 11 ริมถนนทางหลวงชนบท บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก โดยผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีในขณะนั้นชี้แจงเพียงว่า เป็นหลักพิสูจน์เขตแดนฝ่ายกัมพูชาที่ปักรุกเข้ามาในแผ่นดินไทยลึก 2 กิโลเมตร2 โดยที่ไทยยังโต้แย้งเพราะฝ่ายไทยใช้หลักสีน้ำเงิน และยึดตามแนวสันปันน้ำ หรือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 นั่นเอง
มีผู้รู้จำนวนไม่น้อยที่มองล่วงหน้าเอาไว้ว่า กรณีปราสาทตาเมือนและตาควายไม่พ้นต้องซ้ำรอยปราสาทพระวิหาร แต่ก็ไม่รู้ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะยังคงปฏิเสธข้างๆ คูๆ ในเรื่องนี้ไปอีกนานเท่าไร
ถือเป็นต้นทุนการยึดมั่นใน MOU อันตราย ที่ไม่คุ้มค่ากันกับชีวิตของทหารและประชาชนในประเทศของเรา ...
----------------------------------------
1
ผู้จัดการออนไลน์, 3 สิงหาคม 2551
2
ผู้จัดการรายวัน, 5 สิงหาคม 2551