xs
xsm
sm
md
lg

กระจายอำนาจให้ประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ข่าวลือการปฏิวัติหนาหูมาก จนแม่ทัพนายกองต้องพร้อมใจกันออกมาประกาศว่า ทหารจะไม่มีวันปฏิวัติ ในการแถลงผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทยใช้ถ้อยคำดีมากคือ “จะไม่ลิดรอนสิทธิของประชาชน”

ที่จริงเวลานี้ก็ไม่มีสถานการณ์ใดที่เอื้อต่อการทำปฏิวัติรัฐประหาร เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้ง ฝ่ายพันธมิตรฯ ออกมาประกาศเรียกร้องให้คนไปลงคะแนนในช่วง “ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ” เป็นการปฏิเสธนักการเมือง

วันก่อน คุณอุทัย พิมพ์ใจชน พูดว่า หากไปนับตัวนักการเมืองซ่าๆ ที่ผู้คนเกลียดชังในสภาฯ ดูแล้วก็จะมีจำนวนประมาณ 30 คนเท่านั้น อีกหลายร้อยคนก็เป็นคนดี คุณอุทัยเห็นว่าเราไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมทนกับระบอบประชาธิปไตยต่อไป

ผมเคยเรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 7 แต่ก็เป็นเพราะในขณะนั้น สภาวการณ์ทางการเมืองถึงทางตัน และผมก็ไม่อยากให้มีการปฏิวัติ การใช้มาตรา 7 เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ การมีมาตรา 7 ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการวางมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาเมื่อมีความขัดแย้งอย่างไม่มีทางออก ไม่ใช่ให้ใช้พร่ำเพรื่อในสถานการณ์ปกติ

ทหารไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิวัติ เพราะเวลานี้นักการเมืองและรัฐบาลก็ยอมทหารอยู่แล้ว อยากได้อะไรก็ได้ แม้จะเวอร์ไปหน่อยก็ยังจะยอม เช่น ทหารอากาศขับเครื่องบินชนกัน ก็ได้ค่าซ่อมไปเป็นพันล้าน ทหารเรือก็อยากมีเรือดำน้ำทั้งๆ ที่อ่าวไทยเราตื้น เรือดำน้ำเข้ามามองจากฟ้าก็เห็นชัด และเรือดำน้ำก็เป็นอาวุธประเภทรุกรบ ไม่ใช่ประเภทป้องกัน ควรหาเรือพิฆาตเรือดำน้ำมาดีกว่า หากจะอ้างเหตุว่าเอามาให้นักเรียนได้ฝึก ก็ไม่จำเป็นต้องมีของจริงใช้ simulator ก็ได้ การซื้อเรือดำน้ำมาแล้วใช้ได้เพียง 10 ปีนั้น ได้ไม่คุ้มเสีย ไทยเรามีอะไรตลกๆ หลายอย่างที่ต่างชาติงง เช่น ไปซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินมา เป็นต้น แต่ก็ยังดีที่เอาไปใช้ช่วยคนออกจากเกาะเวลาติดพายุได้

เวลานี้ทหารแหยงการปฏิวัติ เพราะเมื่อทำสำเร็จแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ สู้ปล่อยให้นักการเมืองบริหารประเทศไป และได้งบประมาณซื้ออาวุธแยะๆ ไม่ได้

สำหรับนักการเมืองนั้น ก็ไม่ควรอยู่ไปเรื่อยๆ โดยอ้างแต่ความชอบธรรม ควรแสดงให้ประชาชนเห็นว่า มีความเอาใจใส่ที่จะช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานให้ประชาชนอย่างจริงจัง เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา นั่งประชุมอาทิตย์ละ 2 วันๆ ละ 3-4 ชั่วโมง ไม่เห็นมีนักการเมืองคนไหนสนใจติดตาม สอบถาม หรือมานัดคุยกัน ดังนั้นผู้คนจึงมองนักการเมืองในแง่ลบ เพราะได้ยินแต่เรื่องการแสวงหาโครงการต่างๆ และการหาผลประโยชน์

การมีการปฏิวัติไม่คุ้ม เพราะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมรรคเป็นผล หากการปฏิวัติทำให้มีการจับกุมนักการเมืองที่โกงชาติไปมากๆ แล้วยึดทรัพย์เสีย อย่าทำแบบลูบหน้าปะจมูก ผู้คนก็จะสรรเสริญ แต่ทหารที่ขึ้นมาเป็นผู้นำมักหน่อมแน้ม คนจึงไม่ศรัทธาและมีการต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าการเมืองในระดับชาติยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ อย่างน้อยเราก็มีความหวังว่า การเมืองระดับท้องถิ่นและการเมืองภาคประชาชน ควรพัฒนาไปบ้าง เวลานี้ การเมืองท้องถิ่นกำลังดำเนินไปในครรลองเดียวกับการเมืองระดับชาติ คือ มีการใช้เงินตอนเลือกตั้งมาก และมีการเข้าไปถอนทุนกัน จึงควรมุ่งแก้ไขโครงสร้างอำนาจทางการเมืองระดับท้องถิ่นก่อน การกระจายอำนาจจึงจะได้ผล เช่น จัดตั้งคณะกรรมการภาคประชาสังคมให้เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมาตรการและช่องทางที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ ยับยั้ง ตลอดจนถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นได้ การเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจึงไม่ใช่ให้อำนาจนักการเมือง แต่เป็นการให้อำนาจประชาชน

ดังนั้น ถ้าเรามองการเมืองทั้งระบบ และมีการกระจายอำนาจแล้ว ในที่สุดประชาชนในจังหวัดต่างๆ ก็จะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะมากระทบชีวิตของเขาได้ ทั้งนี้ประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะต้องเสริมด้วยประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น อำนาจทางการเมือง จึงจะกระจายตัวแทนที่จะกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ อย่างที่มีคนพูดกันว่ามีอยู่ไม่เกิน 3,000 คน คือ กลุ่มนักการเมืองนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น