xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหารุก”กำแพงดิน”เชียงใหม่ไม่จบ-นักวิชาการกระตุ้นหน่วยงานรัฐใช้กม.จริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ปัญหารุกล้ำกำแพงดินมีประเด็นใหม่ หลังนักวิชาการประวัติศาสตร์ล้านนาเสนอหน่วยงานรัฐสั่งให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณกำแพงดินถอย 1 เมตร เปิดทางให้ประชาชนเข้าไปชมสภาพได้ พร้อมกระตุ้นหน่วยงานรัฐมีอำนาจอยู่แล้วต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ชี้โบราณสถานมีมาก่อนต่อให้มีโฉนดก็ผิด

แม้ว่าปัญหาการรุกล้ำพื้นที่กำแพงดินของจังหวัดเชียงใหม่ จากเหตุการณ์ที่เอกชน 2 รายได้ก่อสร้างอาคารบนพื้นที่แนวกำแพงดินโดยไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งเรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชน และนำไปสู่การสั่งระงับและให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ออกไปจะยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการที่ผู้เสียหายได้ดำเนินการอุทธรณ์ เพื่อสู้คดีผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายหรือการรื้อถอนใดๆ เกิดขึ้น

แต่เรื่องดังกล่าวก็มีประเด็นที่น่าสนใจขึ้นอีกครั้ง เมื่อรองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ล้านนา ได้เสนอแนวความคิดในการเสวนาเรื่อง “ก้าวย่างสู่ศตวรรษ : การอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานล้านนา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานโครงการแบ่งปันความรู้ สู่ความเข้าใจ ในโอกาส 100 ปี กรมศิลปากร ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอโมรา ท่าแพ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสั่งให้ประชาชนที่อาศัยรุกล้ำพื้นที่หรืออยู่ประชิดแนวกำแพงดินอยู่ ถอยหลังออกไป 1 เมตรเพื่อเปิดทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปชมสภาพของกำแพงดินได้ และต่อจากนั้นทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

รศ.สมโชติ กล่าวถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานกำแพงดินว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2504 หรือช่วงที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ทำให้เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการอพยพโยกย้ายของคนในชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น จึงเกิดการเข้าบุกรุกยึดครองใช้พื้นที่ตลอดทั้งแนวกำแพงดินที่เป็นโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร

ขณะที่พื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ก็มีการปล่อยให้เช่าใช้ประโยชน์ ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ก็มีการอนุญาตในเรื่องของการออกทะเบียนบ้านและสิ่งสาธารณูปโภค ซึ่งทั้งหมดเท่ากับเป็นการปล่อยให้ปัญหาเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน ที่มีผู้บุกรุกอยู่ประมาณ 2,300 ราย

นักวิชาการผู้นี้ได้เสนอว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการนำข้อกฎหมายมาบังคับใช้ในการจัดการแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของกรมศิลปากร จะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายในการสั่งการดำเนินการให้ผู้ที่บุกรุกกำแพงดินอยู่ขยับออกไป ขณะที่กรมธนารักษ์ที่ให้เช่าพื้นที่ราชพัสดุที่ติดกับกำแพงดินก็ต้องให้ผู้ที่เช่าขยับออกไป ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่ต้องไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างใดๆ ที่รุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีกฎหมายต่างๆ ให้อำนาจรองรับไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าจะมีการดำเนินการหรือไม่ เมื่อใด และอย่างไรเท่านั้น

“ตามกฎหมายแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ไม่มีผู้ที่จะผลักดันหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ยกตัวอย่างในส่วนของกรมศิลปากร กรณีการย้ายน้ำพุช้างเผือก ที่อธิบดีมีอำนาจสั่งการให้ดำเนินการได้ ในกรณีนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2478 ขณะที่การบุกรุกเพิ่งเริ่มประมาณ พ.ศ.2500 แสดงว่ากฎหมายมีอยู่แล้ว แต่จะมีการดำเนินการหรือไม่เท่านั้นเอง ทั้งนี้แม้แต่การประนีประนอมกับผู้ที่บุกรุก โดยหลักการแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นอำนาจของอธิบดีที่จะต้องดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย” รศ.สมโชติ กล่าว

ส่วนกรณี มีที่ดินหลายแปลงบริเวณกำแพงดินเป็นที่ดินที่มีการออกโฉนดไปแล้ว รองศาสตราจารย์สมโชติ แสดงความเห็นว่า ในเมื่อพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตโบราณสถาน ดังนั้น ไม่ว่าการถือครองที่ดินหรือการออกโฉนดที่ดินจะได้มาอย่างไรก็ตามย่อมผิดกฎหมายโบราณสถานอยู่แล้ว และผิดมาตั้งแต่แรกที่มีการออกโฉนดแล้ว ซึ่งก็สมควรจะต้องมีการจัดการเรื่องนี้ให้เกิดความถูกต้องด้วย

ขณะที่ดร.โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงปัญหาการบุกรุกกำแพงดินว่า เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรที่จะต้องพูดคุยหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกร่วมกันในการอนุรักษ์และเก็บรักษากำแพงดินที่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์เอาไว้ โดยในกรณีเอกชน 2 ราย ก่อสร้างอาคารบุกรุกกำแพงดิน เบื้องต้นคงจะต้องให้มีการดำเนินการไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรก็พร้อมที่จะพูดคุยทำความเข้าใจและยืดหยุ่นเพื่อหาทางออกร่วมกันได้ แต่หากไม่เป็นผลก็คงจะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

สำหรับแนวทางเกี่ยวกับการโยกย้ายบ้านเรือนและผู้คนที่บุกรุกกำแพงดินอยู่ออกไป อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า เบื้องต้นเห็นว่าอาจจะต้องมีการทำเป็นข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยระยะสั้นอาจจะยอมให้ผู้ที่บุกรุกอาศัยอยู่ไปก่อน แต่ทำข้อตกลงพร้อมทำความเข้าใจกันไว้ว่าจะอยู่ได้อีกกี่ปี หลังจากนั้นจะต้องย้ายออกไปโดยมีการจัดพื้นที่รองรับการโยกย้ายไว้ให้ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาหารือถึงความเป็นไปได้และรายละเอียดกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของแผนการฟื้นฟูกำแพงดินเมืองเชียงใหม่ ดร.โสมสุดา ยอมรับว่า สภาพปัจจุบันของกำแพงดินในหลายจุดเกิดความชำรุดทรุดโทรมอย่างมากจนแทบจะไม่เหลือสภาพแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรมีแผนที่จะฟื้นฟูให้กำแพงดินในจุดที่ยังคงเหลือสภาพอยู่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของกำแพงดิน ในลักษณะของการจัดนิทรรศการหรือเวทีเสวนา เป็นต้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน
กำลังโหลดความคิดเห็น