xs
xsm
sm
md
lg

แง้มเบื้องลึกสาเหตุใต้วิปโยค รัฐไร้ยุทธศาสตร์รับภัยพิบัติ-ประชาชนคือเหยื่อตลอดกาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วมหนักในภาคใต้รอบนี้ มาจากสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญคือ ภาครัฐขาดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา และการลอบตัดไม้ทำลายป่า หันมาปลูกพืชที่สร้างรายได้ให้มากกว่า
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

 ปัญหาอุทกภัยภาคใต้ “รัฐ” และ “หน่วยงานรัฐ” ที่เกี่ยวข้องต้องมี “ยุทธศาสตร์” การแก้ปัญหาที่ชัดเจน อย่าให้ทุกอย่างจบลงที่ “ค่าทำศพ” หรือ “ค่าชดเชย” แล้วจัดงบประมาณก้อนโตฟื้นฟูเพื่อเป็น “อาหารจานเด็ด” ของ “นักการเมือง” และ “ข้าราชการ” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆ มา

โศกนาฏกรรมจากอุทกภัยและวาตภัยใน 10 จังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ มีนักวิชาการและผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายที่ระบุสาเหตุของน้ำป่าและดินถล่มอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ว่า นอกจากเป็นเพราะฝนตกติดต่อกันหลายวันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจาก “การตัดไม้” “ทำลายป่า” และ “การปลูกพืชเชิงเดี่ยว”

พืชเชิงเดี่ยวที่ทุกฝ่ายออกมากล่าวถึงคือ “ยางพารา” และ “ปาล์มน้ำมัน” รวมถึงสวนผลไม้อื่นๆ ซึ่งถูกระบุว่า เป็นพืชเชิงเดี่ยวเช่นกัน เพราะมีลักษณะการปลูกที่เว้นระยะเป็นแถวยาว โดยมีช่องว่างระหว่างแถวที่กลายเป็น “ช่องว่าง” เป็นทางน้ำไหล แถมพืชเชิงเดี่ยวไม่มี “ราก” ในการประสานหน้าดินที่จะสามารถยึดโยงช่องว่างเหล่านั้น เมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ก็จะกัดเซาะเอาหน้าดินที่ไม่มีรากไม้ยึดเหนี่ยวให้พังทลาย จากยอดเขาลงสู่ที่ราบลุ่ม อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคใต้ที่ปรากฏให้เห็นถึงความโหดร้ายของธรรมชาติและความเสียหายที่ได้รับ

นอกเหนือจากเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้คือ การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งต่างกับในอดีตที่ตัดไม้เพื่อ “แปรรูป” แต่ในปัจจุบันเป็นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะสวนยางและสวนปาล์ม ซึ่งกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาที่ราคายางทะยานขึ้นเกิน 100 บาท/กิโลกรัม(กก.) ยิ่งทำให้การบุกรุกป่าในภาคใต้รุนแรงยิ่งขึ้น มีตัวเลขประมาณว่ามีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในภาคใต้ถึงปีละกว่า 200,000 ไร่

ในการบุกรุกเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางและปาล์ม ต้นไม้จำนวนมากถูกโค่นทิ้ง และส่วนหนึ่งไม่มีการแปรรูปเพื่อขาย หรือนำไปใช้ประโยชน์ เพราะเกรงถูกจับกุม ไม้ใหญ่เหล่านั้นจึงถูกทิ้งอยู่บนควนหรือบนเขาสูง และมีการกลบฝังเอาไว้จำนวนมาก ดังนั้น เมื่อเกิดฝนตกหนัก ดินถล่ม ท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้และยังไม่ผุจำนวนมาก จึงไหลหลากลงจากเทือกเขา กลายเป็น “ท่อนซุงมฤตยู” ที่พุ่งเข้าใส่บ้านเรือน สะพาน และผู้คนที่หนีไม่ทัน จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ หลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงคือ ท่อนไม้ หรือกองซุงมากมายที่ไหลทะลักมารวมกัน ล้วนเป็นท่อนไม้เก่าๆ มากกว่าต้นไม้ใหม่ๆ ที่ถูกน้ำป่าถอนรากถอนโคนลงมาสมทบ

ปัญหา ณ วันนี้นอกจากยางและปาล์มจะเป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว มันยังคือ “เส้นโลหิต” คือ “ชีวิต” และ “จิตวิญญาณ” ของเกษตรกรชาวภาคใต้ ซึ่งไม่สามารถห้าม หรือหยุดยั้งการปลูก การทำสวนยางและสวนปาล์มได้อย่างแน่นอน รวมทั้งเมื่อราคายางและราคาปาล์มมีแต่ทะยานสูงขึ้นในเวลานี้ เพราะมีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่พื้นที่ปลูกไม่เพิ่มขึ้น ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิดจึงยังจะรุนแรงมากขึ้น เพราะระหว่าง “ความกลัวภัยพิบัติ” กับ “ความต้องการทรัพย์สินเงินทอง” ความต้องการอย่างหลังมีมากกว่าอย่างแน่นอน

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องเร่งเข้ามาดำเนินการคือ การให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวต่อเกษตรกร และต้องหาวิธีการสร้าง “สมดุล” ของการใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง เช่น การป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ด้วยการปลูกต้นไม้อื่นๆ หรือพืชอื่นๆ เพื่อช่วยยึดหน้าดิน หรือเจ้าของสวนจะต้องไม่ทำลายวัชพืชในพื้นที่ปลูกจนหมดสิ้น อย่างที่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีฐานะดีชอบทำกัน ด้วยการใช้สารเคมีฉีดฆ่าวัชพืช จนสวนยางและสวนปาล์มเตียนโล่ง ปราศจากหญ้า เพื่อความสวยงาม

แต่เมื่อมีฝนตก น้ำฝนจึงชะหน้าดินอย่างรวดเร็ว จนสวนแต่ละแห่งมีสภาพเป็น “ร่องน้ำ” เหมือนกับรอยแมวข่วนเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการทำการเกษตรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำป่าจะไหลบ่าอย่างรวดเร็ว ดินและหินจากเนินเขาหรือยอดควนก็ถล่มตามมาอย่างรวดเร็ว

รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบการบุกรุกป่าในพื้นที่ป่าภาคใต้จะต้องดำเนินการป้องกัน “ป่าสงวนแห่งชาติ” และ “อุทยานแห่งชาติ” ทุกแห่ง เพื่อป้องกันการบุกรุกแล้วนำพื้นที่ไปปลูกยางและปาล์ม โดยในส่วนที่บุกรุกไปแล้วนั้นต้องดำเนินการนำกลับคืนมาเป็นของรัฐ ด้วยการปลูกป่าให้มีสภาพป่าดังเดิม เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าทดแทนในส่วนที่ถูกทำลาย

สิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ได้กลายเป็น “ตัวการ” ในการทำลายป่า ซึ่งเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่การที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างลดต้นทุนการผลิตด้วยการรับซื้อไม้ป่าจำพวกไม้เบญจพรรณ ซึ่งเป็นไม้จากป่าสงวนแห่งชาติ และไม้เสม็ดแดง เสม็ดขาว ซึ่งเป็นไม้ในป่าพรุและป่าชุมชน อันเป็นป่าที่ใช้ชะลอการไหลบ่าของน้ำก่อนจะเข้าถล่มหมู่บ้าน

จนขณะนี้ไม้เสม็ดกำลังจะหมดสิ้นจากป่าชุมชน เนื่องจากไม้เหล่านี้ถูกกว่าไม้ยางหลายเท่า ยิ่งทำให้ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นจากฝีมือของ “นายทุน” และ “ชาวบ้าน” ที่หันมายึดอาชีพตัดไม้ขายให้แก่โรงงาน จนขณะนี้กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นคึกคักในพื้นที่ภาคใต้

ถ้ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแผนอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในอนาคตความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นภัยพิบัติร้ายแรงจะเพิ่มมากขึ้น และจะครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดของภาคใต้ เนื่องจากกายภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ต่างเป็นเช่นเดียวกัน และประชาชนต่างมีเป็นเกษตรกรที่ “ปลูกพืชเชิงเดี่ยว” เช่นเดียวกัน

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องกำหนด “ยุทธศาสตร์” ของการแก้ปัญหาให้ชัดเจน อย่าให้ปัญหาอุทกภัยและวาตภัยของภาคใต้ในครั้งนี้จบลงแค่การจ่ายค่าทำศพ ค่าชดเชยความสูญเสียเหมือนทุกครั้ง และรัฐบาลก็อนุมัติงบประมาณก้อนโตที่อ้างเพื่อ “ฟื้นฟู” ความเสียหาย

เนื่องเพราะงบประมาณก้อนมหึมาที่มาจากภาษีของประชาชนก็จะกลายเป็น “อาหารจานเด็ด” อันโอชะของนักการเมือง และข้าราชการประจำ โดยมีประเทศชาติและประชาชนผู้ประสบความเดือดร้อน หรือเป็น “เหยื่อ” อยู่วันยังค่ำอย่างทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติขึ้นบนผืนแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น