ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทั้งๆ ที่มีเสียงนักวิชาการออกมาส่งเสียงเตือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาส่งสัญญาณให้รับรู้ก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านั้นยังมีสถานการณ์ภัยพิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 ให้เห็นเป็นตัวอย่างแบบแทบจะเรียกได้ว่ายังยากที่จะเจือจางไปจากความรู้สึกของผู้คน
ทว่า การเตรียมรับมือภัยพิบัติระลอกใหม่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองผู้กุมอำนาจ หรือข้าราชการที่เป็นกลไกหลัก กลับเป็นไปแบบเหมือนไม่ได้ตระเตรียมอะไรไว้ก่อนเลย เหตุการณ์พายุโหม ฝนกระหน่ำ น้ำท่วม เขาถล่ม แผ่นดินทลาย คลื่นคลั่ง จึงยังสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่คนบนแผ่นดินแดนใต้ได้อย่างโหดร้ายซ้ำซาก
ภาพน้ำอันแดงฉานไปด้วยส่วนผสมของดินโคลนทะลักเข้าถล่มเมืองหาดใหญ่ ภาพน้ำป่าไหลหลากท่วมขังในหลายจังหวัดของภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงท่วมแล้วท่วมอีก บางหมู่บ้านนับได้เกือบ 10 หน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปลายตุลาคมต่อเนื่องถึงธันวาคมปีที่แล้ว ภาพเหล่านี้ที่ฝั่งอยู่ในใจผู้คนยังไม่ทันจางหาย ปลายมีนาคมต่อเนื่องถึงเมษายนปี 2554 นี้สถานการณ์กลับสุดวิปโยคยิ่งเสียกว่า
นับจากวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักสลับกับลมกรรโชกแรงกระจายไปทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ จากนั้นไม่นานก็เกิดน้ำป่าหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างนครศรีธรรมราช พุนพิน สุราษฎร์ธานีและตรัง ตามด้วยมีแผ่นดินสไลด์ ภูเขาถล่มถมทับบ้านเรือนชาวบ้านในหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่ต้องตระหนกที่อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งสถานการณ์ภัยพิบัติยังคงเกิดต่อเนื่องไปตลอดกว่า 2 สัปดาห์
สำหรับภัยพิบัติที่เกิดกับภาคใต้หนล่าสุดนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ไว้ว่า มีอุทกภัยเกิดขึ้นใน 10 จังหวัด 100 อำเภอ 650 ตำบล 5,318 หมู่บ้าน ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร สงขลา กระบี่ พังงา สตูล และนราธิวาส ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 601,085 ครัวเรือน 2,009,134 คน มีการอพยพประชาชน 41,271 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 34 หลัง บางส่วน 2,721 หลัง ถนนเสียหาย 3,789 สาย ท่อระบายน้ำ 368 แห่ง ฝาย 68 แห่ง สะพาน คอสะพาน 307 แห่ง วัด โรงเรียน 385 แห่ง สถานที่ราชการ 89 แห่ง
มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,049,634 ไร่ สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 4,360,518 ตัว ทางหลวงแผ่นดินน้ำท่วม 20 สายทาง รวม 22 แห่ง ระหว่างเกิดเหตุสัญจรผ่านไม่ได้ 20 แห่ง สนามบินนครศรีธรรมราชปิดให้บริการยาวนาน รถไฟสายใต้ให้บริการถึงสถานีไชยาได้ 2 ขบวน และเส้นทางนครศรีธรรมราชถึงสุไหงโกลก บริษัทขนส่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุด้วยว่า มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 47 ศพ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 20 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ราย กระบี่ 10 ราย พัทลุง 2 ราย ชุมพร 2 ราย ตรัง 2 ราย และพังงา 1 ราย
แต่ตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขกลับระบุในวันเดียวกันกลับเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตเป็น 53 ศพ ส่วนใหญ่จมน้ำ ได้แก่ นครศรีธรรมราช 22 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ราย กระบี่ 10 ราย พัทลุง 6 ราย ตรัง 2 ราย ชุมพร 2 ราย และพังงา 1 ราย และยังสูญหาย 1 คนที่จังหวัดกระบี่
ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มากมายเหล่านี้ ยังนับเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะถึงเวลานี้ภัยพิบัติแม้จะคลี่คลายไปมากแล้ว แต่ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบในด้านจิตใจของผู้ที่ต้องผจญเหตุกาณณ์อันเลวร้ายในชีวิต ผู้ที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องอันเป็นที่รัก ผู้คนที่ต้องไร้บ้านพักอาศัย เทือกสวน ไร่นา อุปกรณ์และช่องทางที่จะทำมาหากินต่อไป รวมถึงสภาพบาดเจ็บและโรคภัยที่ยังจะตามมา
เชื่อกันว่าถ้าภาครัฐมีการเตรียมรับมือภัยพิบัติไว้ก่อน หายนะที่จะเกิดกับประชาชนคนไทยคงจะไม่มากมายมหาศาลขนาดนี้
สิ่งนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วจากข้อมูลข่าวสารที่สังคมได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง โดยเฉพาะรัฐบาล ต่างไม่เคยแสดงออกถึงการตระเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ พลันที่เกิดเหตุขึ้นก็แทบไม่มีการขยับตัวทำการสิ่งใด และกว่าจะขับเคลื่อนออกมาได้ก็ทิ้งเวลาให้ผ่านไปนานแสนนานในความรู้สึกของผู้คนเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความช่วยเหลือของภาคเอกชนและประชาชน
นอกจากนี้แล้ว ภายหลังที่เหตุการณ์บีบรัดทั้งนักการเมืองและข้าราชการต่างพยายามปัดสวะให้พ้นตัวด้วยการกล่าวอ้างต่างๆ นานา เช่น โบ้ยให้เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่ยากจะคาดเดา แม้จะรับทราบถึงสัญญาณและคำเตือนมาก่อน แต่ก็ไม่คิดว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงนี้ หรือคำแก้ตัวทื้อๆ อย่างทุกฝ่ายทำดีที่สุดแล้ว เป็นต้น
ยิ่งเมื่อผู้คนในสังคมได้เห็นภาพของผู้นำประเทศที่กุมบังเหียนอำนาจรัฐไว้ในมืออย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มากล้นบารมีในคณะรัฐบาล แถมยังเป็นหัวหน้าก๊วนใหญ่ ส.ส.สะตอเจ้าของพื้นที่ที่แทบไม่ขยับอะไรเท่าไหร่ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้ประสบภัยในช่วงแรกๆ ดีแต่รอรับรายงานผ่านข้าราชการและ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ภาพเหล่านี้ยิ่งเป็นการยืนยันได้กระจ่างชัด
หากนับเอาวันที่พายุฝนที่กระหน่ำทั่วภาคใต้ตั้งแต่ 23 มีนาคม ล่วงเข้าวันที่ 27 มีนาคมสังคมไทยถึงได้เห็นความพยายามสร้างภาพให้ดูจะแข็งขันขึ้นบ้างของผู้นำรัฐบาล แต่ก็เป็นไปแบบไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับการแก้ปัญหาอันเนื่องจากภัยพิบัติให้กับประชาชน เพราะนายอภิสิทธิ์ยังคงใช้วิธิแก้ปัญหาผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ทางทีวีทางช่อง 11 ซี่งก็มีกระแสเสียงวิจารณ์ตามมาหนาหูว่า ไม่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะช่วยประชาชนให้พ้นวิกฤตได้เลย
ไม่เพียงเท่านั้น กว่าที่นายอภิสิทธิ์จะตัดสินใจลงพื้นที่ไปดูใจคนใต้ก็หลังจากที่เกิดอุทกภัยไปแล้วนับสัปดาห์ เพราะมันแต่ห่วงเรื่องการผลักดันให้รัฐสภาผ่านร่างจีบีซีไทย-กัมพูชา 3 ฉบับในวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งผลสุดท้ายก็ล้มเหลว วันที่ลงไปเยี่ยมคนใต้นั้นก็ปาไปวันที่ 30 มีนาคมเข้าไปแล้ว หนำซ้ำมีการวิพากษ์กันขรมตามหลังว่า เป้นการลงตรวจพื้นที่ประสบภัยแบบ “เหยียบขี้ไก้ไม่ฝ่อ” แถมยัง “บ่อท่า” แก้ปัญหาภัยพิบัติให้กับคนใต้
หลังจากนั้นจึงเกิดภาพที่คึกคักของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่ชักแถวกันลงไปเยี่ยมผู้ประสบภัยชาวใต้ ไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็มากมายคำครหาตามมาเช่นกัน โดยเฉพาะในประเด็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เป็นอันทำงาน เพราะต้องให้ข้าราชการระดับสูงไปคอยเสนอหน้าต้อนรับ
และก็มีที่รัฐมนตรีนำคณะลงพื้นที่ภาคใต้ในระหว่างประสบภัยพิบัติ แทนที่ภาพที่ประชาชนได้รับรู้จะออกมาว่าเป็นการไปสร้างขวัญกำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นการนำคณะลงไปเพื่อสร้างฐานคะแนน และเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังงวดเข้ามาทุกขณะไปเสียฉิบ
ตัวอย่างที่กระจ่างที่สุดเห็นจะเป็นเสียงชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมเมืองหมูย่าง อันเป็นเสมือนเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดไม่พอใจการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นที่ไม่เอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือประชาชน มีการเบิกงบฉุกเฉินมาหลายครั้ง แต่ความช่วยเหลือไม่เคยทั่วถึง แถมสุดช้ำเมื่อทราบว่ามีการหนีบเรือท้องแบนไว้ให้นายสาทิตย์ที่นำคณะไปสร้างภาพเรียกคะแนนเสียง แทนที่จะนำมาช่วยชาวบ้านที่เป็นปัญหาเร่งด่วนให้กับผุ้ประสบภัย
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ นายบุญเที่ยง กิ้มเฉี้ยง ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง ที่เล่าว่า บ้านถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทรัพย์สินถูกกระแสน้ำพัดไปจนหมดเนื้อหมดตัว หาเลี้ยงครอบครัวก็ไม่ได้ และคงหวังอะไรไม่ได้กับนักการเมือง เพราะล่าสุดได้ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเป็นอย่างมากคือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่อนุญาตให้นำเรือท้องแบนทุกลำออกไปช่วยชาวบ้านที่จำเป็นเร่งด่วนกว่า เนื่องจากได้เตรียมไว้ให้นายสาทิตย์ในฐานะประธาน คชอ.และคณะใช้ตรวจพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม
นอกจากนี้แล้ว นักการเมืองบางคนหรือบางก๊วนจะฉกฉวยด้วยการ “แปรภัยพิบัติ” อันสาหัสสากรรจ์ของชาวใต้ให้เป็น “โอกาสในสนามเลือกตั้ง” ที่กำลังจะมาถึงแล้ว ยังมีที่ร่วมมือกับข้าราชการชั่วบางคนมองเห็น “ซากปรักหักพัง” ที่เกิดจากภัยพิบัติซ้ำซากสามารถที่สามารถแปรไปสู่ผลประโยนช์เข้าพกเข้าห่อ หรืออาจจะจัดสรรไปใช้เป็นกระสุนรองรับการเลือกตั้งได้ด้วย ทั้งในรูปของงบเยี่ยวยา งบก่อสร้างซ่อมแวม รวมถึงงบที่จะคิดโครงการขึ้นมาใหม่โดยอ้างเพื่อการป้องกันด้วย
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่อนุมัติส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอุทกภัยในภาคใต้ เช่น อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้กรอบวงเงินที่มีเหลืออยู่ 1,605.48 ล้านบาท ไปช่วยเหลือเกษตรกร อนุมัติงบรายการเงินสำรองจ่ายเพิ่มเติม 1,632.40 ล้านบาท และอนุมัติหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท รวม 10 จังหวัด กำหนดไม่เกิน 579,062 ครัวเรือน รวม 2,895,310,000 บาท
อีกทั้งนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้เปิดเผยว่า ได้ประเมินความเสียหายจากอุทกภัยภาคใต้หนนี้แล้วพบว่า ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สนามบินนครศรีธรรมราชของกรมการบินพลเรือน (บพ.) และสภาพชายฝั่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า คาดว่าต้องใช้งบในการซ่อมแซมและฟื้นฟูประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ไม่รวมความเสียหายของรางรถไฟอีกประมาณ 500 ล้านบาท โดยจะรวบรวมตัวเลขสรุปเสนอสำนักงบประมาณในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณต่อไป
นอกจากนี้แล้ว ภัยพิบัติอันเกิดจากปัญหาคลื่นคลั่งในทะเลได้กัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวของภาคใต้ ซึ่งในหลายพื้นที่ปัญหาลุกลามถึงขั้นวิกฤตแล้ว นับเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้เดินเรื่องจัดสร้าง “เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง” และ “การทำปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูชายฝั่ง” ประกอบด้วย การสร้างเขื่อน 8 ชุด ประกอบด้วย จ.ชุมพร 2 ชุด ที่บ้านปากตะโก และที่ร่องน้ำหลังสวน อ.หลังสวน, จ.นครศรีธรรมราช 2 ชุด ที่บ้านหน้าโกฏิ อ.ปากพนัง และที่บ้านหน้าสตน อ.หัวไทร, จ.สงขลา 4 ชุด ที่บ้านปากแตระ ที่บ้านบ่อตรุ อ.ระโนด ที่หาดแก้ว อ.สิงหนคร และที่บ้านเขารูปช้าง อ.เมือง ส่วนการทำปะการังเทียมอยู่ที่ จ.สงขลา
ว่ากันว่า เฉพาะโครงการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแต่ละจุดต้องใช้งบ 200-500 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าออกแบบที่ประมาณ 8-10 ล้านบาท/จุด เมื่อนำไปรวมกับโครงการวางปะการังเทียมแล้ว ประมาณว่ากรมเจ้าท่าจะต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมเขื่อนกันคลื่นสำหรับจอดเรือและเพื่อการท่องเที่ยวใน จ.สุราษฎร์ธานี และในอนาคตจะต้องมีการสร้างเขื่อนในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะนั่นคือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติจนขาดความสมดุลไปแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่พอประมวลได้ในเวลานี้เท่านั้น
ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเพียงการฉายภาพให้เห็นว่าพิบัติภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน ถือเป็นโอกาสให้นักการเมืองบางกลุ่มได้ฉกฉวยไปใช้ประโยชน์สำหรับการเลือกตั้ง และก็สามารถร่วมกับข้าราชการบางคนเอาความวิปโยคของผู้คนในบ้านเมืองไปสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้ด้วย เยี่ยงนี้แล้วจะหวังอะไรกับการที่จะให้ภาครัฐได้ตระเตรียมการรับมือกับภับพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
มีเรื่องที่น่าตื่นตระหนกว่า จากปรากฏการณ์ “ลานินญา” ที่กระทบไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้สร้างบาดแผลลึกจากอุทกภัยและวาตภัยซ้ำซากให้เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงต่อเนื่องช่วงคาบเกี่ยว 2 ปีมานี้ไปแล้วนั้น ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังระบุด้วยว่า เวลานี้มีจังหวัดที่ถูกประกาศเตือนภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไปแล้วถึง 49 จังหวัด 382 อำเภอ 2,640 ตำบล 25,438 หมู่บ้าน
แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน พะเยา อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน นครสวรรค์ แพร่ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพิจิตร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี เลย หนองคาย อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา, ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สระบุรี สมุทรปราการ และกาญจนบุรี, ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ตราด จันทบุรี สระแก้ว ระยอง ชลบุรี นครนายก และปราจีนบุรี และภาคใต้ 3 จังหวัด ได่แก่ สตูล ชุมพร และตรัง
ณ ห้วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสเหมาะแล้วหรือยังที่ควรจะต้องนำ “เสียงเตือนวิกฤตภัยแล้ง” ที่กำลังจะกร่ำกรายมาสู่ประเทศไทยในไม่ช้านานไปขบคิดกัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมเรา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่