xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยลบรุนแรงฉุดอสังหาฯวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการราย- ศูนย์ข้อมูลฯ เตือนผู้ประกอบการเฝ้าระวังเหตุปัจจัยลบหลายตัวผันผวนรุนแรง คาดอสังหาฯปี 54 ชะลอตัว จับตาเงินเฟ้อ น้ำมัน ราคาวัสดุ ค่าแรงปรับขึ้นฉุดมาร์จินผู้ประกอบการลด แถมกำลังซื้อลดตาม ขณะที่การเมือง ภัยธรรมชาติยังต้องลุ้นระทึก เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการไตรมาสแรกและอีก 6 เดือนข้างหน้าลดวูบ

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาแรก 54 พบว่า มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเหลือ 51.2 ในไตรมาส 4/53 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 55.0 โดยผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ระดับ 52.1 ขณะที่ผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์มีค่าดัชนีความเชื่อมั่น 50.2 ซึ่ง ขณะที่ค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าปรับลดมาอยู่ที่ 65.8 จากที่ไตรมาส 4/53 อยู่ที่ระดับ 68.7 โดยผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีดัชนีความคาดหวังฯ 70.2 ผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ 61.4

ทั้งนี้ สาเหตที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงนั้น เนื่องมาจาก ในปี 2554 ถือเป็นปีที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบกับปัจจัยลบหลายประการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและภัยธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพวมของตลาดอสังหาฯในปีนี้ชะลอตัว ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการเปิดใหม่ กำลังซื้อ และสินเชื่อภาคอสังหาฯ

โดยปัยจัยลบสำคัญที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 2 หลังจากที่สินค้าควบคุมหลายรายการ ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้างบางประเภทได้ปรับขึ้นราคา และราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนขนส่งของสินค้าทุกประเภท นอกจากนี้ยังมีปัยหาแรงงาน ขาดแคลน ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเมืองใกล้เลือกตั้ง ทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคต่างจับตาดูว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง จะมาจากรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือชุดใหม่ เพราะมีผลต่อนโยบายการบริหารประเทศ โครงการต่างๆ ทั้งที่จะออกมาใหม่และอยู่ระหว่างรอพิจารณา นอกจากนี้ยังกังวลอีกว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบขึ้นหรือไม่

นายสัมมากล่าวต่อว่า จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการและการขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านของผู้บริโภคได้อยากขึ้น ส่วนการกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์ หรือ LTV ประกอบการแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น จะส่งให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และทำให้การปล่อยสินของสถาบันการเงินลดลง

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปีสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาฯ จะลดลงเหลือประมาณ 320,000 ล้านบาทหรือเท่ากับช่วงปี 52 จากจำนวน 377,000 ล้านบาทในปี 53 ส่งผลให้การซื้อขายอสังหาฯในปีนี้ลดลงประมาณ 5-10%

สำหรับจำนวนสินค้าหรือซัปพลายในช่วงไตรมาสแรกปี 54 พบว่า โครงการเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับตัวลดลง โดยโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ลดเหลือ 13,500 ยูนิต จาก 35 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 53 ที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ 37 โครงการ 15,800 ยูนิต ขณะที่โครงการบ้านจัดสรร ไตรมาสแรกปี 54 เปิดโครงการใหม่ 76 โครงการ จำนวน 14,900 ยูนิต ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 53 ที่มีโครงการเปิดใหม่ 69 โครงการ 13,700 ยูนิต
กำลังโหลดความคิดเห็น