xs
xsm
sm
md
lg

ชงประกันพืชผลเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการโครงการประกันพืชผลทางการเกษตรเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันกับการปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตนี้ โดยหลักการรัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้เบี้ยประกันในราคาเดียวกันทั่วประเทศ เพราะเป็นการประกันทั้งหมด บริษัทประกันวินาศภัยสามารถใช้เฉลี่ยต้นทุนได้ โดยเบื้องต้นจะเป็นการดำเนินการกับเกษตรกรลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ทั้งหมด และส่วนที่เหลือ รัฐบาลจะเป็นผู้เข้าซื้อประกันแทน เพื่อให้โครงการประกันภัยพืชผลเกษตรสารถเดินหน้าไปได้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินงานในขณะนี้กระทรวงการคลังร่วมกับร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ลงพื้นที่ดูการประเมินความเสียหายนาข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรีและสิงห์บุรีที่มีปัญหาโรคระบาดเพื่อนำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยงในการจัดเก็บค่าเบี้ยประกันและการจ่ายชดเชยให้เกษตรกรก่อนสรุปให้คณะกรรมการชุดของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 12 เมษายนนี้ เพื่อให้ทันใช้ในฤดูกาลผลิตนี้หรือเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ เบื้องต้นทางสมาคมประกันภัยเห็นด้วยในหลักการการเข้ามารับทำประกันภัยพืชผลแต่ติดที่การจ่ายเบี้ยกระกันอาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับพืชผลทางการการเกษตรหรือนาข้าวทั่วประเทศหากมีเกษตรกรเข้าโครงการไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 57 ล้านไร่ หากจะคิดค่าเบี้ยประกันในอัตราเดียวกันทางกระทรวงการคลังเห็นว่าส่วนนี้ลูกค้าของธ.ก.ส.ที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 37 ล้านไร่ น่าจะเข้าโครงการโดยที่ธ.ก.ส.มีมาตรการจูงใจทั้งการลดดอกเบี้ยหรือจ่ายค่าเบี้ยประกันให้
โดยส่วนที่เหลือนั้นรัฐบาลจะรับภาระการจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมด แต่หากเกิดความเสียหายขึ้นทางบริษัทประกันก็จ่ายคืนให้รัฐแทนที่จะจ่ายให้เกษตรกร ซึ่งส่วนนี้อาจจะใช้เงินปีละประมาณ 4-5 พันล้านบาทถือว่าคุ้มค่าการดำเนินงาน เพราะการจ่ายชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรแต่ละปีก็เป็นเงินประมาณ 4.8 พันล้านบาท ขณะที่ปีล่าสุดจ่ายถึง 2 หมื่นล้านบาทเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติมีปัญหาน้ำท่วมใหญ่
สำหรับการคำนวณค่าเบี้ยประกัน 140 บาทต่อไร่นั้นอาจจะปรับเพิ่มขึ้นหากเอกชนมองว่าต้องครอบคลุมทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมและโรคระบาด โดยเฉพาะน้ำท่วมนั้นมีปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และส่วนนี้หากเกษตรกรไม่อยากจ่ายเพิ่มก็จะได้รับการจ่ายชดเชยเพียง ไร่ละ 606 บาท แต่หากยอมจ่ายค่าเบี้ยเพิ่มส่วนหนึ่งและรัฐออกให้ส่วนหนึ่งก็จะได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีกไร่ละ 1,400 บาทรวมเป็นเงินประมาณไร่ละ 2 พันบาทเพื่อให้เพียงพอในการชำระหนี้คืน ส่วนการจ่ายค่าเบี้ยประกันมองว่าเกษตรกรน่าจะรับภาระได้เองเพราะโดยหลักแล้วจะมีกำไรจากการปลูกข้าวไร่ละ 600 บาทอยู่แล้วถือว่าคุ้มค่า
ส่วนวิธีการประเมินความเสียหายนั้นเบื้องต้นจะใช้การประเมินความเสียหายแบบปัจจุบัน คือ ให้ภาครัฐโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นลงไปตรวจสอบความเสียหาย หากพบว่าเสียหายหมดก็จ่ายหมดทันที ซึ่งแนวทางดังกล่าว บริษัทประกันภัยยอมรับได้ โดยเป็นการร่วมกันจ่าย ระว่างรัฐบาลกับบริษัทประกัน ซึ่งจะมีคณะกรรมการเข้าไปประเมินความเสียหายทั้งระดับจังหวัดและธ.ก.ส.จะเข้าร่วมด้วย ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่าย ส่วนในอนาคตหากมีข้อมูลความเสียหายรายพื้นที่ที่ลงลึกระดับตำบลก็อาจจะมีการประกาศใช้วิธีการดังกล่าวแต่กระทรวงเกษตรฯ อาจใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าจะสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น