xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นซันโตรี่ฮั้วกลุ่มเป๊ปซี่ ร้องTSDชะลอรับหุ้นSSC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - “ศิริวัฒน์ แซนวิช”อ้างสิทธิในการถือหุ้นบมจ.เสริมสุข (SSC) ยื่นหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝาก NVDR และก.ล.ต.ตรวจสอบการได้มาในหุ้น SSC ของ “เอสบีเค เบฟเวอเรจ”ที่รับโอนมาจาก Suntory จำนวน 9.13% ชี้เป็นNVDRที่กำลังจะแปลงกายเป็นหุ้นปกติ แถมพบข้อสงสัยสองยักษ์ต่างชาติ Suntory และ เป๊ปซี่ อาจร่วมมือกันครอบงำกิจการด้วยสัดส่วนถือหุ้นรวมกันกว่า50% กลายเป็นผู้มีเสียงโหวตมากสุดและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของSSC วอนขอศูนย์รับฝากฯชะลอรับจดทะเบียนหุ้น ด้านก.ล.ต.ยอมรับกำลังตรวจสอบการเกี่ยวโยง ส่วนSSC แจงข้อพิพาทศาลนัดสืบพยานกันยายนนี้
นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อ้างสิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC โดยถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น กล่าวว่าวานนี้ (30มี.ค.) ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงการกระทำและพฤติกรรมที่น่าจะผิดกฏหมาย และขอให้ดำเนินการทางกฏหมายโดยเร่งด่วนแก่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรรมการและผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย ) จำกัด (TSD) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอ็นดีวีอาร์ จำกัด
เพื่อพิจารณาตรวจสอบพฤติกรรมการโอนหุ้นของบริษัท Suntory Beverage & Food Limited ที่โอนให้กับ บริษัท เอส บีเค เบฟเวอเรจ จำกัด (บริษัทย่อยของตนเองที่มีสิทธิในเสียงกว่า90%) ในการพยายามร่วมกันครอบงำกิจการของ SSC ซึ่งเชื่อว่ามีพฤติกรรมและการกระทำที่ผิดกฏหมาย เพราะพบว่าปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีการโอนหุ้นที่เดิมอยู่ในรูปแบบNVDR (ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบเงินปันผล แต่ไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียง) จาก Suntory มาให้บริษัทเอสบีเคฯ ในราคา 55 บาท รวม 9.13% คิดเป็นเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งหากนำมารวมกับหุ้นของกลุ่มเป๊ปซี่ จะทำให้กลุ่มนี้มีสัดส่วนถือหุ้นใน SSC เกิน 50% และถือเป็นเสียงข้างมากในการประชุมซึ่งจะผลต่อการดำเนินธุรกิจของSSC อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการประชุมสามัญประจำปีของSSC ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนเม.ย.นี้ ที่จะพิจารณาวาระต่างๆตามกฏหมาย รวมทั้งวาระพิจารณากรรมการที่ครบวาระและที่ลาออก รวม 6 ราย
“การกระทำครั้งนี้หากเป็นร่วมมือกันของกลุ่มSuntory และกลุ่มเป๊ปซี่ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ยึดบอร์ดหรือยึดบริษัทเสริมสุขได้เช่นกัน เพราะการที่เปลี่ยนจากNVDR มาเป็นหุ้นก็เพื่อต้องการจะได้มีสิทธิในการออกเสียง จึงอยากให้ TSD ชะลอรับจัดทะเบียนในหุ้น 9.13%ของบริษัทเอสบีเคฯ ออกไปก่อน”
ทั้งนี้ นายศิริวัฒน์ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเหตุที่ทำให้เชื่อว่าทั้งกลุ่มSuntory และกลุ่มเป๊ปซี่จะร่วมมือกัน เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีความใกล้ชิดทั้งในฐานะของผู้ร่วมลงทุน และเป็นผู้ให้/ผู้รับอนุญาตระหว่างกลุ่มของธุรกิจต่างๆในหลายประเทศ ดังนั้นการที่Suntory ผ่านบริษัทเอสบีเคฯ เข้ามาถือหุ้นSSC จึงมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่าร่วมมือกันกับกลุ่มเป๊ปซี่ เพื่อครอบงำกิจการเพื่อใช้SSC ดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยไม่สนใจว่าประโยชน์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนรวมของบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหมด
จึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่ตนยื่นหนังสือร้องเรียนตรวจสอบพฤติกรรมและการกระทำที่น่าจะผิดกฎหมายการ Acting In Concert หรือการได้มาซึ่งหุ้นที่ไม่ถูกกฏหมายตั้งแต่ต้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ในการถือหุ้นและถูกจำหน่ายออกไป และนายทะเบียนต้องไม่รับจดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการขัดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของการทำธุรกิจด้วย และหากไม่มีการตรวจสอบตนจะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการก.ล.ต.ตต่อไป

**ก.ล.ต.ชี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบ
ด้าน นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนาย ศิริวัฒน์ผู้ถือหุ้นรายย่อยของSSCแล้วแล้วซึ่งทางก.ล.ต.จะมีการดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยยอมรับว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบในเรื่องความสัมพันธ์ของโครงสร้างผู้ถือหุ้นของSSC จากที่มีผู้ถือหุ้นหลายรายเกี่ยวข้องกัน ตามข้อเท็จจริงเดียวกันกับที่นักลงทุนรายย่อยยื่นหนังสือร้องเรียน

**SSCยื่นค้านคำร้องกลุ่มเป๊ปซี่ฯ
ด้าน บมจ.เสริมสุข ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯในเรื่องดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.SSCได้รับคำร้องลงวันที่ 14 มี.ค. ของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ยื่นต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 862/2554ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2554และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 30 พ.ค.54 พฤษภาคม 2554
ทั้งนี้ ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ ในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2554 ถือหุ้นจำนวนประมาณร้อยละ 24.94 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (ปัจจุบันถือหุ้นประมาณร้อยละ 25.20) เป็นบริษัทย่อยของบริษัท เป๊ปซี่-โค อิงค์ (Pepsi Co Inc.)
และเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลม (หัวน้ำเชื้อ หรือ Concentrates)ภายใต้สัญญา Exclusive Bottling Appointment Agreement (EBA) ระหว่างบริษัทฯ กับกลุ่มเป๊ปซี่ให้กับบริษัทฯ และเป็นคู่สัญญาความร่วมมือด้านโฆษณาและการตลาด (Agreement for Cooperative Advertisingand Marketing Agreement หรือ "Co-Op") กับบริษัทฯ
โดยในคำร้องระบุว่าในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 วาระที่ 3 บริษัทฯ ได้นำเรื่องสองเรื่อง กล่าวคือ
การอนุมัติผลการเจรจาแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับเป๊ปซี่ หรือการอนุมัติให้บริษัทฯดำเนินการตามแผนธุรกิจในอนาคต มารวมพิจารณาเป็นวาระเดียว ทั้งๆที่ทั้งสองเรื่องไม่มีความเกี่ยวข้องกันในการจะพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละเรื่อง
หรือไม่ โดยผู้ร้องถูกตัดสิทธิจากบริษัทฯ มิให้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า วาระที่ 3 ของการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2554 นั้น เป็นวาระให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติประการใดประการหนึ่งดังนี้(1) อนุมัติให้บริษัทฯ ทำการแก้ไขสัญญาระหว่างบริษัทฯ กับ เป๊ปซี่ โดยใช้ราคาและเงื่อนไขอันเป็นผลมาจากการเจรจา หรือ(2) อนุมัติให้บริษัทฯ ดำเนินการตามแผนแผนธุรกิจในอนาคต และบริษัทฯ ได้รายงานมติที่ประชุมดังกล่าวต่อตลท.เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ตามสิ่งที่อ้างถึง 1. ซึ่งผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯดำเนินการตามแผนธุรกิจในอนาคต ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 99.9823 โดยไม่นับรวมหุ้นของผู้ร้อง และ Seven-UpNederland B.V. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท เป๊ปซี่-โค อิงค์ (Pepsi Co Inc.)เนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ตามความในพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด
พ.ศ. 2535 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 102
ทั้งนี้ ผู้ร้องกล่าวอ้างในคำร้องว่า การที่ผู้ร้องถูกตัดสิทธิในการลงมติในวาระดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายที่อ้างถึงในวรรคก่อนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นจึงเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวาระที่ 3 ทั้งสิ้น
บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า สาระสำคัญของคำร้องของผู้ร้องนั้นเป็นประเด็นเดียวกับที่ผู้ร้องได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งก่อนหน้านี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2553และมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2553 ซึ่งบริษัทฯ ได้รายงานต่อตลท.และ บริษัทฯได้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา
โดยศาลเห็นว่าเมื่อคดีนี้มีการคัดค้านคำร้องของฝ่ายผู้ร้องศาลจึงได้กำหนดให้มีการนัดสืบพยานอย่างต่อเนื่อง จำนวน 4 วัน คือ วันที่ 6-8 และ13 กันยายน 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น