ศึกน้ำดำปะทุรอบใหม่ “เป๊ปซี่โคฯ” ฟ้องศาลล้มมติผู้ถือหุ้น “เสริมสุข” เมื่อวันที่ 29 เม.ย.54 ที่ยกเลิกสัญญาหัวเชื้อ และแตกไลน์ทำธุรกิจใหม่ “เอสบีเค” ยอมรับได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ยกเลิกมติดังกล่าว พร้อมทั้งกรรมการที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 6 คน ต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่สามัญถือหุ้น เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ทั้งหมด
บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 (วานนี้) โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับคำร้องลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้ยื่นต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1821/2554 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 และศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 15 สิงหาคม 2554
บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท เสริมสุข และวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2554 ถือหุ้นจำนวนประมาณ 25.21% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เป๊ปซี่-โค อิงค์ และเป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตน้ำอัดลม (หัวน้ำเชื้อ หรือ Concentrates) ภายใต้สัญญา Exclusive Bottling Appointment วันที่ 1 มกราคม 2541 (EBA) ระหว่างบริษัท เสริมสุข กับกลุ่มเป๊ปซี่
นอกจากนี้ ยังเป็นคู่สัญญาความร่วมมือด้านโฆษณาและการตลาด (Agreement For Cooperative Advertising And Marketing Agreement หรือ “CO-OP” กับบริษัท เสริมสุข พร้อมระบุว่า บริษัท เสริมสุข ได้บอกเลิกสัญญา EBA เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 และสัญญาจะมีผลเป็นการยกเลิกเมื่อสิ้นวันทำการวันที่ 1 เมษายน 2555 เมื่อปี 2552 บริษัทเสริมสุขจ่ายค่าหัวน้ำเชื้อตามสัญญาดังกล่าวประมาณ 3.45 พันล้านบาท
บริษัท เสริมสุข ระบุเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญในคำร้องของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ระบุว่า ในหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 ในส่วนของวาระที่ 2 นั้น บริษัทไม่ได้แจ้งข้อมูลรายละเอียดตามสมควรว่า สัญญา EBA ฉบับที่ลงนามโดยเป๊ปซี่ไม่ตรงกับมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแต่ละข้ออย่างไร ซึ่งบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวอ้างว่าถือเป็นการนัดประชุมและลงมติไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 108
พร้อมกันนี้ ยังกล่าวอ้างว่า ในวาระที่ 11 ซึ่งเป็นวาระพิจารณาเรื่องอื่นๆ และมีผู้ถือหุ้นเสนอให้พิจารณาบรรจุวาระแก้ไขเพิ่มเติมแผนธุรกิจในอนาคต (Future Business Plan) ในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจการขยายตลาดเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำอัดลม ซึ่งบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด และ Seven-Up Nederland B.V. ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท เป๊ปซี่-โค อิงค์ ถูกตัดสิทธิจากบริษัทไม่ให้มิให้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในวาระดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษนั้นไม่ชอบ
ทั้งนี้ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง กล่าวอ้างในคำร้องว่า การจัดประชุมและลงมติในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 เป็นโมฆะ มิชอบด้วยกฎหมาย และได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2554 ทั้งสิ้น โดยพบว่า มติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 บริษัทเสริมสุข เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ในส่วนที่ เป๊ปซี่ และ มิรินด้า ถูกตัดสิทธิ์ ได้แก่ อนุมัติการขยายตลาดเครื่องดื่มที่มิใช่น้ำอัดลม และรับทราบและให้ความเห็นชอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสัญญาระหว่างบริษัทเสริมสุขและเป๊ปซี่
ส่วนมติตั้งกรรมการนั้น เป๊ปซี่ และ เซเว่นอัพ ได้ใช้สิทธิ แต่คะแนนเสียงแพ้ ทำให้กรรมการ 6 ท่าน ที่ได้รับการเสนอชื่อจากผู้ถือหุ้นฝ่ายคนไทยที่มีบริษัท เอสเอส เนชั่นแนล โลจิสติกส์ เป็นแกนนำ ได้เป็นกรรมการ ประกอบด้วย นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัติ ฉ่ำเฉลิม นายวิษณุ เครืองาม นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย และ นายรังสรรค์ ธรรมมณีวงศ์
บริษัท เสริมสุข ยังระบุอีกว่า การไม่นับรวมหุ้นของบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง และ และ Seven-Up Nederland B.V.ในวาระที่ 2 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ ทั้งนี้ตามความในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 33 วรรคสอง และมาตรา 102 เช่นเดียวกับกับวาระที่ 11 ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ
ด้าน บริษัท เอสบีเค เบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ถือหุ้น 9.13% ในบริษัทเสริมสุข ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พฤภาคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นฟ้องบริษัท เสริมสุข พร้อมทั้งกรรมการที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สามัญถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา จำนวน 6 คน เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่สามัญถือหุ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ทั้งหมด เนื่องจากเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และห้ามไม่ให้กรรมการทั้ง 6 รายดังกล่าว กระทำการหรือรับประโยชน์ใดๆ ในฐานะกรรมการของบริษัท เสริมสุข รวมทั้งขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้นายทะเบียนบริษัทมหาชน กระทรวงพาณิชย์ รับจดทะเบียนให้บุคคลดังกล่าวเข้าเป็นกรรมการของบริษัทเสริมสุข โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ประทับรับฟ้องแล้ว
นอกจากนี้ เอสบีเค ยังระบุว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ เป็นการปกป้องสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้รับความ เป็นธรรม เนื่องจากที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาลงวันที่ 5 เมษายน 2554 ซึ่งระงับ ไม่ให้บริษัทใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2554
เมื่อศาลแพ่งได้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุผลว่าบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เสริมสุข ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 แล้ว จึงเท่ากับว่าสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายของบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท เสริมสุข รวมทั้งสิทธิในการเข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมดังกล่าวย่อมมีอยู่โดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่บริษัทซื้อหุ้นเสริมสุข ดังนั้นการที่บริษัทถูกกีดกันไม่ให้เข้าประชุมผู้ถือหุ้น จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้บริษัทได้รับความเสียหาย